ทางเลือกของนักลงทุนกับการบริหารจัดการสภาพคล่องระยะสั้น - ตอนที่ 1

ทางเลือกของนักลงทุนกับการบริหารจัดการสภาพคล่องระยะสั้น - ตอนที่ 1

ประเด็นเรื่องของการล้มละลายของธนาคารบางแห่งในสหรัฐฯ และยุโรป รวมถึงความเสี่ยงในเรื่องของ Bank Run ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ที่ช่วยย้ำเตือนให้เราเห็นถึงความเสี่ยงที่ไม่คาดคิด ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการสภาพคล่องได้เป็นอย่างดี

แม้เหตุการณ์ในลักษณะเดียวอาจจะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยในประเทศไทย เนื่องจากความเข้มแข็งของภาคธนาคารในบ้านเรา แต่ก็เป็นโอกาสอันดีในการย้ำเตือนให้เราทบทวนความเสี่ยงของการบริหารจัดการสภาพคล่องได้ โดยทั่วไปการบริหารจัดการสภาพคล่องและการลงทุนในระยะสั้นนั้นมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการฝากธนาคาร

การลงทุนโดยตรงในพันธบัตรระยะสั้น การลงทุนในตั๋วแลกเงิน การลงทุนในกองทุนรวมทั้งกองทุนรวมตลาดเงินและกองทุนรวมตราสารหนี้ และการลงทุนในกลุ่มหุ้นกู้อนุพันธ์บางชนิด หรือแม้แต่การถือเงินสดไว้เฉยๆ วันนี้เราลองมาพิจารณาทางเลือกและความเสี่ยงต่างๆ ในการบริหารจัดการสภาพคล่องกันครับ

ฝากธนาคาร การฝากธนาคารแม้จะดูปลอดภัยและสะดวกต่อการไถ่ถอน รวมถึงยังได้ดอกเบี้ยในระดับหนึ่งตามอายุของเงินฝาก แต่สิ่งที่มาพร้อมกันก็คือความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้(Credit Risk) ในกรณีที่ธนาคารประสบปัญหา ไม่ว่าปัญหาดังกล่าวจะเกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาด เช่น การนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงเกินความจำเป็น

การขาดทุนจากการทำธุรกิจในส่วนอื่นๆ หรือแม้แต่การขาดสภาพคล่องอันเกิดจากถอนเงินของผู้ฝากเงินดัง เช่นกรณีที่เห็นอยู่ในปัจจุบันในสหรัฐฯ แม้ในภาพรวมความเสี่ยงจะมีไม่มาก แต่องค์ประกอบส่วนนี้ก็ไม่สามารถละเลยได้เช่นกัน โดยในประเทศไทยวงเงินคุ้มครองเงินฝากอยู่ที่ 1 ล้านบาท  คุ้มครองในลักษณะ 1 รายผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน (ไม่ใช่ต่อ 1 บัญชี ในกรณีที่ผู้ฝากมีบัญชีเงินฝากหลายบัญชีที่เปิดอยู่กับสถาบันการเงิน 1 แห่ง จะต้องนำเงินฝากทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ในทุกสาขาและทุกบัญชีของสถาบันการเงินแห่งนั้นมารวมคำนวณ ข้อมูลจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก Deposit Protection Agency: DPA)

ลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) การลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินมีหลากหลายลักษณะขึ้นอยู่กับตราสารที่ลงทุน หลักๆ แบ่งออกเป็น พันธบัตรรัฐบาล หรือ ตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) ที่ออกโดยภาคเอกชน การลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินเป็นการลงทุนในระยะสั้น เช่น 1 เดือน 3 เดือน ทำให้ความผันผวนด้านราคา (Market Risk) นั้นน้อย

แต่ก็ยังมีความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ขึ้นอยู่กับตราสารที่ลงทุน ซึ่งในส่วนนี้ต้องต้องพิจารณานโยบายการลงทุนของกองทุนเป็นหลัก แต่เนื่องจากเป็นการลงทุนในระยะสั้นๆ ทำให้ความเสี่ยงในด้านนี้ลดลง อย่างไรก็ตาม การลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินก็แลกมาด้วยค่าธรรมเนียมของกองทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าบริหารจัดการ หรือ ค่านายทะเบียนต่างๆ โดยกองทุนที่จัดตั้งจะนับเป็นนิติบุคคลและเป็นอิสระจากสินทรัพย์หรือหนี้สินกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ที่เป็นผู้ออกตราสารทำให้ความเสี่ยงไม่ได้เกี่ยวข้องกับฐานะการเงินของ บลจ. ที่บริหาร

ลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed Income Fund) มีลักษณะคล้ายกับการลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินที่ความเสี่ยงด้านการชำระหนี้จะขึ้นอยู่กับตราสารที่กองทุนลงทุน เริ่มจากพันธบัตรรัฐบาลไปจนถึงหุ้นกู้เอกชน รวมถึงนโยบายการลงทุนว่าจะลงทุนในตราสารหนี้กี่รุ่นโดยประมาณ ซึ่งหากกระจายไปในหลายๆ รุ่นก็จะลดความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ลง กองทุนรวมตราสารหนี้โดยทั่วไปจะให้ผลตอบแทนสูงกว่ากองทุนรวมตลาดเงิน แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือในเรื่องของความเสี่ยงด้านราคา (Market Risk) ซึ่งจะมากหรือน้อย เป็นผลตอบแทนที่เพิ่มเติมหรือลดลง ขึ้นอยู่กับอายุของตราสารและทิศทางของดอกเบี้ยในตลาดการเงิน ซึ่งในกรณีที่ดอกเบี้ยขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้นกองทุนรวมตราสารหนี้ก็สามารถให้ผลตอบแทนติดลบได้เช่นกันดังเช่นในปี 2022 เป็นต้น และค่าบริหารจัดการโดยเฉลี่ยก็จะสูงกว่ากองทุนรวมตลาดเงิน

ลงทุนในตั๋วเงินคลังหรือตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) ระยะสั้นโดยตรง โดยการลงทุนในตั๋วแลกเงินระยะสั้นนั้น ทำให้ความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ ความเสี่ยงด้านราคา ความเสี่ยงด้านการนำเงินไปลงทุนต่อ (Reinvestment Risk)ลดลง เนื่องจากเป็นการลงทุนในระยะสั้นๆ และเมื่อครบกำหนดก็ทำการลงทุนต่อไปเรื่อยๆ เพื่อบริหารสภาพคล่อง อย่างไรก็ตามก็ยังคงต้องระมัดระวังและกระจายการลงทุนให้ดี โดยเฉพาะเมื่อมีการลงทุนในตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ หรือไม่มีอันดับความน่าเชื่อถือ (Non-rated) และอีกจุดที่ต้องระมัดระวังก็คือเรื่องของการประเมินที่ผิดพลาดว่าการลงทุนในระยะสั้นนั้น แม้ผู้ออกจะมีสถานะการเงินที่ไม่เข้มแข็ง แต่ก็ยังน่าจะสามารถชำระหนี้คืนได้ ซึ่งบ่อยครั้งมุมมองดังกล่าวจะนำมาซึ่งการลงทุนในตั๋วเงินที่มีความเสี่ยงมากจนเกินไป ในขณะที่การผิดนัดชำระหนี้ก้ยังเกิดขึ้นได้จากเรื่องของการขาดสภาพคล่องของผู้ออกในระยะสั้นได้

เรายังมีทางเลือกของการลงทุนที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมอีก .. แต่อาจจะต้องขอยกยอดไปไว้ในสัปดาห์หน้าต่อไปครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด