จะลามหรือไม่ เศรษฐกิจก็จะแย่ลง

ณ เวลาปัจจุบันที่เขียนบทความนี้ (จันทร์ที่ 20 มี.ค.) ปัญหาสภาพคล่องภาคการเงินที่ลุกลามจากการที่ธนาคาร Silicon Valley Bank และธนาคาร Signature Bank ต้องปิดตัวลงนั้น 

ดูว่าจะยังไม่สามารถควบคุมได้ 100% คำถามสำคัญคือ ปัญหาสภาพคล่องของธนาคารเหล่านี้จะลามเข้าสู่ภาคการเงินและกระจายสู่เศรษฐกิจเป็นวงกว้างหรือไม่ จะตอบคำถามได้ ต้องวิเคราะห์จาก Timeline ของสถานการณ์

สถานการณ์เริ่มต้นจาก ธนาคาร Silicon Valley Bank และ Signature Bank ถูกสำนักงานประกันเงินฝาก (FDIC) สั่งปิด ขณะที่ผู้ฝากเงินจะได้รับเงินฝากคืนเท่ากับ 2.5 แสนดอลลาร์ต่อบัญชี แต่ความเสี่ยงที่วิกฤติจะลุกลามทำให้ทางการสหรัฐที่ประกอบด้วย ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed), กระทรวงการคลัง (Treasury)และ FDIC ประกาศเข้าคุ้มครองเงินฝาก SVB และ Signature Bank เต็ม 100% 

นอกจากนั้น ภาครัฐยังจัดตั้ง Bank Term Funding Program (BTFP) โดยเป็นเครื่องมือให้ยืมเงินไม่จำกัดจำนวน แก่ธนาคารเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยใช้พันธบัตรเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน โดยใช้วงเงินจำนวน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ จากกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ตาม แม้มีการประกาศแล้ว หุ้นกลุ่มธนาคารโดยเฉพาะ Regional Bank ก็ยังปรับตัวลดลงรุนแรง แม้ว่าธนาคารขนาดใหญ่ เช่น JPMorgan Chase, Citigroup, Bank of America และ Wells Fargo จะระดมเงินฝากมูลค่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อเสริมสภาพคล่อง ก็ไม่สามารถทำให้นักลงทุนเบาใจได้

ด้านยุโรป ธนาคาร Credit Suisse ยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือต่อธนาคารกลางสวิส (SNB) จากปัญหาการขาดสภาพคล่องหลังลูกค้าถอนเงินกว่า 1.1 แสนล้านสวิสฟรังก์ ขณะที่ ปี 2022 ขาดทุนสุทธิกว่า 7.3พันล้านสวิสฟรังก์ นอกจากนี้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ได้แก่ Saudi National Bank ประกาศไม่สามารถถือหุ้นเพิ่มได้ เพราะผิดกฎธนาคาร ส่งผลราคาหุ้นปรับลดลง 14% ภายในวันเดียว และทำให้ SNB ต้องสนับสนุนเงินกว่า 5 หมื่นล้านสวิสฟรังก์ เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง 

แต่สถานการณ์ก็ยังลุกลาม จนล่าสุดรัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์ เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดการให้ UBS ธนาคารพาณิชย์อันดับ 1 ของสวิสเซอร์แลนด์ เข้าซื้อเครดิต สวิส ด้วยราคาที่ถูกกว่าราคาตลาดเกินครึ่ง นอกจากนั้น ผู้ถือหุ้นกู้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Additional Tier 1) มูลค่า 1.6 หมื่นล้านสวิสฟรังก์ จะถูกตัดเป็นหนี้สูญ ซึ่งทาง UBS วางแผนว่าหลังจากรวมกิจการจะลดต้นทุนของเครดิต สวิส กว่าครึ่งหนึ่งของรายจ่ายประจำปีของเครดิตสวิส และอาจปลดพนักงานเครดิต สวิสกว่า 9,000 ตำแหน่งเป็นอย่างต่ำ

 ภาพเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าวิกฤติศรัทธาของระบบการเงินในปัจจุบันกำลังเริ่มต้นขึ้น โดยการแก้ปัญหาของหน่วยงานทางการจะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เห็นได้จากกองทุน BTFP ที่ทางการสหรัฐตั้งขึ้นเพื่อหยุด bank run ในกรณีของ SVB นั้น ไม่สามารถหยุดความไม่เชื่อมั่นในระบบการเงินได้ สถานการณ์ Silence Bank Run จึงยังเกิดขึ้นในธนาคาร Regional bank เช่น ธนาคาร First Republic อย่างต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับการเทขายหุ้นกลุ่มธนาคารในยุโรปหลังจาก Credit Suisse มีปัญหา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นปัญหาเฉพาะตัว แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างร่วมกันของธนาคารในสหรัฐและยุโรปคือ Inverted Yield Curve จากการขึ้นดอกเบี้ยที่รุนแรงเกินไปของ Fed และ ECB เพื่อคุมเงินเฟ้อ

โดยการที่ดอกเบี้ยระยะสั้นเพิ่มสูงขึ้นกว่าดอกเบี้ยระยะยาว ทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายของธนาคารสูงขึ้น (จากเงินฝากที่ครบกำหนดและนำมา Roll over ใหม่) แต่ดอกเบี้ยรับเพิ่มขึ้นต่ำกว่า โดยเฉพาะในกรณีของ SVB ที่เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเป็นจำนวนมาก และต้องขาดทุนจากดอกเบี้ยขาขึ้น (ดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น แปลว่าราคาพันธบัตรลดลง)

ในขณะที่ธนาคาร Regional Bank อื่น ๆ อย่าง First Republic ก็เสี่ยงต่อสถานการณ์ Bank Run เนื่องจากเป็นธนาคารที่มีสัดส่วนสินเชื่ออสังหาฯ อยู่เป็นจำนวนสูงถึง 65% ของสินทรัพย์รวม และเนื่องจากดอกเบี้ยเงินกู้อสังหาฯ ในสหรัฐส่วนใหญ่เป็นดอกเบี้ยคงที่ (กว่า 85%) ทำให้ First Republic ไม่สามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยกู้ได้มากนัก แต่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยจ่ายที่ปรับสูงขึ้นมากตามดอกเบี้ย Fed Funds ด้วยความเสี่ยงเชิงโครงสร้างนี้ ทำให้ธนาคารที่มีสินเชื่ออสังหาฯ เป็นจำนวนมากมีความเสี่ยงต่อ Interest rate risk มากขึ้น

เรากังวลว่าในระยะต่อไป ความเสี่ยงดอกเบี้ยที่ลามสู่ปัญหาสภาพคล่อง จะเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ฉุดความเชื่อมั่นลงและทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐในเดือน มี.ค. ของ U. of Michigan เบื้องต้นลดลงแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2022 ขณะที่ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Indicator: LEI) ของ Conference Board หดตัวติดต่อกัน 12 เดือน บ่งชี้ถึงความเสี่ยงของภาวะถดถอยในเศรษฐกิจสหรัฐที่มากขึ้น

เรามองว่า ความปั่นป่วนภาคธนาคารทำให้โอกาสที่เศรษฐกิจหดตัวจะมากขึ้น เห็นได้จากวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐในอดีต ในปี 1990, 2001, 2008 and 2020 มาพร้อมกับสถานการณ์ที่กระทบความเชื่อมั่น อันได้แก่ การรุกรานคูเวตของอิรัก การโจมตีของผู้ก่อการร้าย การล่มสลายของ Lehman Brothers และ Covid-19 สำหรับภาวะเศรษฐกิจถดถอย 3 ครั้งแรก เศรษฐกิจอ่อนแออยู่แล้ว และสถานการณ์ต่าง ๆ ที่กระทบความเชื่อมั่นเป็นดั่งฟางเส้นสุดท้าย

 ขณะที่ในปัจจุบัน ปัญหาสภาพคล่องสถาบันการเงินเป็นความเสี่ยงใหม่ ซึ่งอาจกดดันการปล่อยสินเชื่อของธนาคารและความเต็มใจของธุรกิจที่จะจ้าง และครัวเรือนในการใช้จ่าย ทั้งนี้ การเติบโตของสินเชื่อธนาคารชะลอตัวตั้งแต่เดือน พ.ย. แม้ว่าจะยังคงค่อนข้างแข็งแกร่งก่อนที่ SVB จะถูกปิด   โดยเพิ่มขึ้น 10.8% จากปีก่อนหน้าในเดือน มี.ค. 

แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวลง ท่ามกลางเงินฝากธนาคารหดตัวมาหลายเดือนแล้ว ทำให้เป็นไปได้ที่สินเชื่อจะเข้าสู่ภาวะหดตัวในไม่ช้า ทั้งนี้ เรามองว่า ความเสี่ยงความตึงตัวของสถาบันการเงินที่มากขึ้น อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระยะต่อไป 

ล่าสุดดัชนี Financial Condition Index ของ Bloomberg บ่งขี้ถึงความตึงตัวทางการเงินที่มีมากขึ้นทันที หลังสถานการณ์สภาพคล่อง โดยธนาคารต่าง ๆ เริ่มเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อแก่กันเอง (Interbank) รวมถึงมาตรฐานสินเชื่อให้กับผู้ขอกู้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงสภาพคล่องตึงตัวมีมากขึ้น และลามเข้าสู่เศรษฐกิจจริงในที่สุด

วิกฤติสภาพคล่องธนาคารในปัจจุบันจะลามเป็นวิกฤติเศรษฐกิจหรือไม่นั้น ไม่เท่ากับจุดเปลี่ยนภาพเศรษฐกิจ และการลงทุนมาถึงแล้ว นักธุรกิจ นักลงทุน และผู้กำหนดนโยบาย เตรียมพร้อมรับฉากใหม่ของเศรษฐกิจการลงทุนโลกแล้วหรือยัง