SVB กับผลกระทบกับตลาดการเงิน

ณ เวลานี้ไม่พูดถึงคงไม่ได้สำหรับกรณีของ Silicon Valley Bank (SVB) ที่ประสบกับปัญหาสภาพคล่องจนต้องถูกทางการสหรัฐสั่งปิดกิจการไปเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว

หลังจากลูกค้าแห่ถอนเงินกว่า 42,000 ล้านดอลลาร์ ภายในวันเดียว ซึ่งเงินดังกล่าวคิดเป็นราวๆ 25% ของขนาดสินทรัพย์ของธนาคาร ประกอบกับการปิดสถาบันการเงินทั้ง Silvergate และ Signature Bank ที่ได้รับผลกระทบจากตลาดคริปโทฯโดยตรง ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้เกิดความเสี่ยงและส่งผลต่อตลาดการเงินอย่างเลี่ยงไม่ได้

ในส่วนของสาเหตุของ SVB น่าจะทราบกันดีจากการวิเคราะห์ของนักลงทุนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เกิดจากนโยบายการบริหารที่ผิดพลาดในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย (Duration Mismatch) เนื่องจากภาระหนี้สิน เช่น เงินฝากของลูกค้าของธนาคารนั้น มีอายุสั้นกว่า การลงทุนที่มีการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้คุณภาพสูงอื่นๆ เช่น Mortgaged-Backed Securities (MBS) เป็นจำนวนมาก ทำให้เมื่อดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น งบดุลของธนาคารก็จะแย่ลง และเมื่อมีการถอนเงินเป็นจำนวนมากจากลูกค้า ทำให้ต้องมีการขายสินทรัพย์ที่ราคาขาดทุนจนทำให้เกิดปัญหาที่ตามมาดังเช่นที่เห็นกันไป

นอกจากนั้นยังบวกกับนโยบายด้านอื่นๆ ที่ผิดพลาดควบคู่กันไปด้วย เช่น เรื่องของการลงบัญชีตราสารหนี้ในลักษณะ Hold-to-Maturity (HTM) เป็นจำนวนมาก (เพิ่มจาก 14,000 ล้านดอลลาร์  ณ สิ้นปี 2019 เป็น 99,000 ล้านดอลลาร์ , ข้อมูลจาก JP Morgan) ซึ่งในภาวะปกติจะไม่มีการปรับราคาตามราคาตลาด (Mark-to-market) ของการลงบัญชีในลักษณะนี้ แต่หากมีการขายหรือการเปลี่ยนวิธีการลงบัญชีก็จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนครั้งเดียวเป็นจำนวนมาก 

แตกต่างจากการลงบัญชีในลักษณะ Available-for-Sales (AFS) ที่มีการปรับราคาตามราคาตลาดตามงวดบัญชี นอกจากนี้ยังมีลักษณะของฐานเงินฝากที่เป็นนักลงทุนรายย่อย (Retail Deposit) เพียงไม่ถึงร้อยละ 10% (ข้อมูล สิ้นไตรมาส 3 ปี 2022) แตกต่างจากธนาคารกลางอื่นๆ ที่มีสัดส่วนในช่วง 30-70% เป็นลูกค้ารายย่อย ซึ่งลดความเสี่ยงในเรื่องของการไถ่ถอนเป็นจำนวนมากในคราวเดียว ที่มักจะเป็นสาเหตุเริ่มต้นของปัญหา Bank Run นั่นเอง

โดยแม้ SVB จะมี Common Equity Tier 1 (CET1) หรือ อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วน ของเจ้าของ ณ สิ้นปี 2022 ที่ 12% สูงกว่าที่ต้องดำรงตามเกณฑ์ไว้ที่ 4.5% แต่หากปรับด้วยการขาดทุนจากการลงทุนในสินทรัพย์ก็จะทำให้อัตราส่วนดังกล่าวแทบจะหมดไปในทันทีนั้นก็คือ ส่วนของเจ้าของนั้นแทบจะไม่เหลือแล้วหากปรับราคาการลงทุนให้สอดคล้องกับราคาปัจจุบัน

สำหรับ SVB ยังคงมีสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดี ได้แก่ เงินสด และตราสารหนี้คุณภาพสูง เช่น พันธบัตรรัฐบาล และในกลุ่มรัฐบาล (Government-Sponsored) ที่มีสัดส่วน 62% ของสินทรัพย์ทั้งหมด (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2022) และส่วนของเงินให้กู้ (Loan) ที่แม้ราวๆ 25% ของเงินกู้ทั้งหมด จะอยู่ในกลุ่ม Start-up ในกลุ่มเทคโนโลยี (Technology) วิทยาการด้านสุขภาพ (Life Science) และบริการด้านสุขภาพ (Healthcare) แต่ก็มีเพียง 3% เท่านั้นที่เป็นการปล่อยกู้ให้กับบริษัทขนาดเล็กที่มีรายได้น้อยไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำให้ฝั่งเจ้าหนี้นั้นอาจจะขาดทุนไม่มาก

ในขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับการลุกลามไปยังสถาบันอื่นๆ ก็ลดลงอย่างมาก หลังจากทางการของสหรัฐ ทั้งกระทรวงการคลัง (Treasury) ธนาคารกลาง (Fed) และสถาบันประกันเงินฝาก (FDIC) มีการออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ได้แก่ การใช้มาตรการพิเศษ Bank Term Funding Program (BTFP) เพื่อให้ธนาคารที่ประสบปัญหาสามารถกู้ยืมแบบมีหลักประกันเพื่อลดผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องได้ รวมถึงการประกาศใช้มาตรการ Systemic Risk Exception (SRE) เพื่อคุ้มครองส่วนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้วงเงินประกันเงินฝาก ซึ่งส่วนเพิ่มจะนำมาจาก FDIC’s Deposit Insurance Fund (DIF) ซึ่งมีขนาด 125,000 ล้านดอลลาร์ 

นอกจากนั้นยังมีการเริ่มดำเนินการหาผู้ที่อาจจะเข้ามาซื้อธนาคารที่ถูกสั่งปิดไปภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ทำให้คาดว่าความไม่แน่นอนน่าจะลดลงในเวลาอันใกล้ และทำให้ภาพรวมน่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหา Bank Run ได้

ในส่วนของผลกระทบต่อตลาดการเงินนั้นมีทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยทางตรงคือ การลงทุนในหุ้น SVB Financial Group (SIVB) และรวมถึงกลุ่มสถาบันการเงินที่มีลักษณะใกล้เคียงกันที่ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงเริ่มต้นจากวันพุธที่แล้ว ในขณะที่หุ้นกู้ก็ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลง โดยเมื่อวันที่ 10 มี.ค. Moody’s ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเป็น Caa2 (จาก A1) สำหรับบริษัทแม่ และ C หรือ Default (จาก Baa1) สำหรับตัวธนาคารเอง

โดยหุ้น SIVB อาจจะมีการลงทุนผ่านกองทุน Thematic Fund บางกอง โดยเฉพาะในกลุ่มธีม Fintech หรือการกองทุนที่มีการลงทุนในหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ก็จะมีการจำกัดฐานะการลงทุน ทำให้ผลกระทบโดยตรงนั้นอาจจะมีจำกัด แต่ผลกระทบทางอ้อมคือ การขาดความเชื่อมั่นและความไม่แน่นอนของการลงทุนในกลุ่มนี้ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพักก่อนจะมีความชัดเจนมากขึ้น แม้ล่าสุดความกังวลเกี่ยวกับ Bank Run นั้นจะลดลงไปมากแล้วก็ตาม

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์