ลงทุนหุ้นกู้อนุพันธ์ต้องดูอะไรบ้าง ตอนที่ 1

หุ้นกู้อนุพันธ์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “Structured Note” เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการลงทุนที่เริ่มกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งในช่วงหลัง หลังจากดอกเบี้ยในตลาดการเงินเริ่มปรับตัวสูงขึ้น

โดยหุ้นกู้อนุพันธ์ คือ ตราสารทางการเงินที่มีส่วนผสมของตราสารหนี้และตราสารอนุพันธ์ ซึ่งมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบทั้งในแบบที่คุ้มครองเงินต้น และไม่คุ้มครอง แบบที่ผลตอบแทนเชื่อมโยงกับตราสารทางการเงินอื่นๆ เช่น ราคาทองคำ หรือ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ แบบที่สร้างผลตอบแทนในตลาดขาขึ้น ตลาดขาลง หรือตลาดที่แกว่งตัวในกรอบ 

รวมถึงลักษณะการนำเสนอไม่ว่าจะอยู่ในรูปของกองทุนปิด (Closed-end Fund) ที่นำเสนอโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) หรือจะมาในรูปของการลงทุนโดยตรงในตราสารผ่านธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ต่างๆ ซึ่งรูปแบบของหู้นกู้อนุพันธ์นั้นก็มีตั้งแต่แบบง่าย เช่น คุ้มครองเงินต้นและจ่ายผลตอบแทนส่วนเพิ่มหากดัชนีที่เลือกไว้ปรับสูงขึ้น หรือ แบบที่ซับซ้อนเช่นนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนคงที่เหมือนดอกเบี้ย แต่หากราคาสินทรัพย์ที่เลือกไว้ปรับตัวลดลง  นักลงทุนก็จะไม่ได้เงินต้นคืน แต่จะได้รับเป็นสินทรัพย์ดังกล่าวมาแทน 

ซึ่งทั้งหมดนี้แล้วแต่สามารถออกแบบได้ขึ้นอยู่กับผู้ออก ทำให้การลงทุนหุ้นกู้อนุพันธ์จำเป็นจะต้องเข้าใจโครงสร้างและที่มาที่ไปให้ดี เนื่องจากในโลกของการลงทุนทุกๆ ส่วนเพิ่มของผลตอบแทนล้วนแล้วแต่มาพร้อมกับความเสี่ยง ขึ้นอยู่กับว่าความเสี่ยงนั้นจะมาในรูปแบบใด วันนี้เราจะลองมาทบทวนพื้นฐานของการลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์กับครับว่าเราจะต้องระมัดระวังในจุดใดได้บ้างในฐานะนักลงทุนทั่วๆ ไปกันครับ

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจพื้นฐานของหุ้นกู้อนุพันธ์ว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง โดยทั่วๆ ไปหุ้นกู้อนุพันธ์จะประกอบไปด้วยสองส่วนหลักๆ ได้แก่  1.ส่วนของการลงทุนในตราสารหนี้ ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้เอกชน และ 2.ส่วนของการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ โดยเฉพาะออปชั่น (Option)

 

 โดยความซับซ้อนต่างๆ ล้วนแล้วแต่เกิดมาจากการใช้ตราสารอนุพันธ์ทั้งสิ้น เช่น การใช้ออปชั่นเป็นองค์ประกอบนั้น มีทั้งที่ใช้ Call Option ที่ให้สิทธิในการซื้อสินทรัพย์อย่างอิง หรือ Put Option ที่ให้สิทธิในการขายสินทรัพย์อ้างอิง รวมถึงเรื่องของระดับราคาใช้สิทธิต่างๆ นอกจากนั้นบ่อยครั้งที่จะมีการผสมออปชั่นหลายๆ กลยุทธ์เข้าไปในหุ้นกู้อนุพันธ์

อย่างไรก็ตามในฐานะนักลงทุนทั่วๆ ไป เราอาจจะไม่ต้องเข้าใจโครงสร้างของหุ้นกู้อนุพันธ์ที่ซับซ้อนโดยละเอียด เพียงแต่เราต้องเข้าใจในแง่มุมของผลตอบแทน (Expected Return) และความเสี่ยง (Risk) เป็นหลักเสียมากกว่า โดยจุดสำคัญๆ ที่เราต้องศึกษาจนเข้าใจก่อนลงทุนนั้นมีจุดสำคัญๆ ดังนี้ครับ

เงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทน: ส่วนสำคัญส่วนแรก คือเรื่องของการจ่ายผลตอบแทน โดยหุ้นกู้อนุพันธ์ส่วนใหญ่จะอิงกับตราสารอื่นๆ ซึ่งมีขอบเขตที่กว้างและหลากหลาย ได้แก่ ดัชนีหุ้น เช่น SET50 หุ้นรายตัว หรือกลุ่มของหุ้น ทองคำ ค่าเงินบาท และอัตราดอกเบี้ย โดยแนวทางในการจ่ายผลตอบแทนมีทั้งแบบที่ไปในทิศทางเดียวกัน เช่น หุ้นขึ้น ผลตอบแทนสูงขึ้น หรือคนละทิศทาง เช่น ดอกเบี้ยลดลง จ่ายผลตอบแทนมากขึ้น ทำให้นักลงทุนจำเป็นจะต้องเข้าใจเงื่อนไขดังกล่าวเพื่อเข้าใจว่าสอดคล้องกับสิงที่คาดการณ์เอาไว้หรือไม่ 

นอกจากนั้นยังต้องทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า อัตราส่วนร่วม หรือ Participation Rate เช่น 50% กล่าวคือหากสินทรัพย์อ้างอิงปรับตัวขึ้น 10% นักลงทุนก็จะได้รับผลตอบแทน 5% หรือ 120% กล่าวคือหากสินทรัพย์อ้างอิงปรับตัวขึ้น 10% นักลงทุนก็จะได้รับผลตอบแทน 12% เป็นต้น และในบางกรณียังมี Cap คือ อัตราผลตอบแทนสูงสุดที่ทำได้ และ Floor หรืออัตราผลตอบแทนต่ำสุดที่จะได้รับด้วย สุดท้ายก็จะเป็นเรื่องของรูปแบบของผลตอบแทนซึ่งอาจมาในรูปของเงินสด หรือ สินทรัพย์ที่จะส่งมอบให้ในอนาคต เช่น หุ้น เป็นต้น

ความเสี่ยง: โดยความเสี่ยงหลักๆ ก็ยังคงประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบหลักได้แก่ 1. ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) กล่าวคือ หุ้นกู้อนุพันธ์เหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีตลาดรองเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนมือ และผู้ลงทุนจำเป็นจะต้องถือจนครบกำหนดของตราสารที่มีแต่ตั้งระยะสั้นเพียงไม่กี่เดือนไล่ไปจนถึงหลายปี ดังนั้นการลงทุนในส่วนนี้จำเป็นจะต้องแน่ใจว่าจะไม่มีความต้องการใช้เงินระหว่างทาง โดยหากต้องการขายกลับให้กับผู้ออกนั้นจะทำได้ยากมาก เนื่องจากมีเพียงไม่กี่กรณีที่ผู้ออกจะรับซื้อคืน หรือหากเกิดขึ้นก็จะมาพร้อมกับการหักเงินลงทุนบางส่วนออกไป 

2.ความเสี่ยงด้านตลาด (Market Risk) โดยหุ้นกู้อนุพันธ์ก็จะมีทั้งแบบคุ้มครองเงินต้น (Principal Protected) และไม่คุ้มครองเงินต้น ซึ่งแน่นอนว่าระดับของการจ่ายผลตอบแทนก็จะแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ รูปแบบไม่คุ้มครองเงินต้นในหลายๆ ครั้งก็จะมาพร้อมกับจุดเด่นด้านการจำกัดผลขาดทุน เช่น ขาดทุนสูงสุดไม่เกิน 10% หรือ 20% เป็นต้น และ 3.ความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ (Default Risk) ซึ่งขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของหุ้นก็อนุพันธ์นั้นๆ และลักษณะการนำเสนอด้วย

โดยรายละเอียดในด้านความเสี่ยงนั้นเป็นส่วนสำคัญ และบ่อยครั้งที่สร้างความเข้าใจผิดให้กับนักลงุทน แต่เราจะมาว่ากันต่อในสัปดาห์หน้าครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด