ต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้มกับเงินบาทที่แข็งค่า

ต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้มกับเงินบาทที่แข็งค่า

นับตั้งแต่ค่าเงินบาททำจุดอ่อนค่าที่สุดในรอบกว่า 16 ปี ที่ 38.46 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2565 จนถึงปัจจุบัน ภายในระยะเวลาราว 3 เดือน ค่าเงินบาทกลับทิศทางปรับแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ 32.63 (23 ม.ค. 65) คิดเป็น 17.6%

และเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในภูมิภาค มากกว่าเงินวอนเกาหลีใต้ (16.6%) และเยนญี่ปุ่น (14.1%) และกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงต้นปีที่แล้วก่อนที่จะมีเรื่องของการเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ในขณะที่ค่าเงินที่แข็งค่าน้อยที่สุดในช่วงเวลาเดียวกัน ได้แก่ เงินรูปีอินเดีย (2.1%) และ รูเปียอินโดนีเซีย (3.7%) เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในรอบนี้จะพบว่าค่าเงินที่กลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็วนั้น ส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินที่อ่อนค่าลงมากในปีที่แล้วจากเรื่องของปัจจัยเศรษฐกิจมหภาคต่างๆ ได้แก่ นโยบายการเงินของสหรัฐฯ แนวโน้มเงินเฟ้อ ราคาพลังงาน และมาตรการต่างๆ ของจีน เป็นหลัก

แม้จะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ และส่วนใหญ่เป็นเรื่องของปัจจัยจากภายนอกเป็นหลัก การกลับทิศของเงินบาทในรอบนี้ เป็นอีกครั้งที่ย้ำเตือนให้เห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนนั้นมีความผันผวนมาก และสามารถเปลี่ยนทิศทางได้ตลอดเวลาเมื่อปัจจัยพื้นฐานมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป

โดยสิ่งที่ส่งผลต่อแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนมีทั้งเรื่องของเศรษฐกิจ ดอกเบี้ย เงินเฟ้อ ตลาดการเงิน เงินทุนไหลเข้าออก หรือแม้แต่เรื่องของภาคเศรษฐกิจจริงจากการนำเข้า ส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ซึ่งในแต่ละช่วงก็จะมีปัจจัยสำคัญที่แตกต่างกันไป ทำให้ทั้งผู้ประกอบการและนักลงทุนจำเป็นจะต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ

ในส่วนของวิธีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับนักลงทุนและผู้ประกอบการนั้นมีหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward) หรือทำประกันค่าเงิน (FX Options) กับธนาคารสำหรับส่วนของผู้ประกอบการ

รวมถึงการใช้บัญชีเงินฝากต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit) หรือ การทำการค้าด้วยสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ที่ทำให้ลดความจำเป็นที่จะต้องแลกเงินไปมาเป็นต้น ในส่วนของนักลงทุนก็สามารถเลือกกองทุนที่มีนโยบายการป้องกันความเสี่ยงที่เหมาะสมกับมุมมองที่มี ซึ่งจำเป็นจะต้องพิจารณาความผันผวนและความสัมพันธ์ของค่าเงินร่วมกับความผันผวนของสินทรัพย์ที่ไปลงทุนด้วย

การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับทั้งผู้ประกอบการและนักลงทุน แต่สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปในรอบนี้ คือเรื่องของต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงที่ปรับขึ้นมามาก โดยในปัจจุบันต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในช่วงราว 3.4-3.9% ต่อปี ต่างจากช่วงก่อนหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยต้นทุนอยู่ต่ำกว่า 0.3-0.5% ต่อปี โดยเฉลี่ย โดยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนั้นเกิดจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นระหว่างสองประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป และต้นทุนในปัจจุบันนับว่าเป็นต้นทุนที่มีนัยสำคัญต่อทั้งเรื่องของต้นทุนในการทำธุรกิจและผลตอบแทนจากการลงทุนด้วย

ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้การตัดสินใจต่างๆ ส่งผลกระทบมากขึ้นทั้งในเรื่องของผลกำไรสำหรับภาคธุรกิจและผลตอบแทนจากการลงทุน โดยรวมในปี 2023 นักวิเคราะห์คาดว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากหลากหลายปัจจัย ได้แก่ เรื่องของดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น จากมูลค่าของการนำเข้าน้ำมันที่น่าจะลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลง

รวมถึงต้นทุนการขนส่งต่างๆ นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการผ่อนคลายนโยบายที่เกี่ยวกับการควบคุมการแพร่ระบาดของจีนที่ทำให้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินมาประเทศไทยเยอะขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดอุปสงค์คงค้าง (Pent-up Demand) อยู่ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่กดดันดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2022 ที่กดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว

นอกจากนั้นส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยของสองประเทศก็มีแนวโน้มแคบลง เนื่องจากเงินเฟ้อที่ดูท่าที่จะชะลอลงในสหรัฐฯ และเรื่องของนโยบายการเงินที่วัฏจักรของการขึ้นดอกเบี้ยมาถึงช่วงท้ายแล้ว ในทางตรงกันข้าม ความเสี่ยงด้านกดดันบาทอ่อนค่า คือ เรื่องของความคาดหวังที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวจีน เช่น หากจีนหันกลับมาเพิ่มมาตรการบางอย่างเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดและส่งผลให้การเดินทางออกนอกประเทศมีต้นทุนมากขึ้น ทำได้ลำบากมากขึ้น

ก็อาจทำให้นักท่องเที่ยวลดลง เรื่องของราคาน้ำมันที่หากกลับมาสูงขึ้นก็จะส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่อดุลบัญชีเดินสะพัดได้ และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง อาจทำให้การส่งออกไม่เติบโตเท่าที่คาดไว้ เป็นต้นทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ต้องจับตาดูควบคุมไปกับการตัดสินใจด้านการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย

สุดท้ายนี้บทเรียนสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา คือ เรื่องของค่าเงินที่มีความผันผวนสูงขึ้นค่อนข้างมากจากปัจจัยพื้นฐานที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วอันเกิดจากปัจจัยที่สามารถคาดการณ์ได้ เช่น เรื่องของนโยบายการเงิน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และปัจจัยที่ในบางครั้งอาจจะคาดเดาได้ยาก เช่น การประกาศผ่อนคลายของจีน และแนวโน้มการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจ ทำให้ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนหรือผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาทิศทางและทางเลือกที่มีเกี่ยวกับเรื่องของความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างรอบคอบเหมาะสม

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด