3 บทเรียนสำคัญจากตลาดการเงินในช่วงนี้

เหตุการณ์ที่เกิดขี้นในแวดวงการลงทุนในช่วงเดือนที่ผ่านมาจากทั้งตลาดคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) และความวุ่นวายในหุ้นบางตัวในตลาดหุ้นในบ้านเรา นับเป็นเหตุการณ์ที่ย้ำเตือนนักลงทุนถึงความเสี่ยงจากการลงทุนที่เกิดขึ้นได้เสมอ

โดยเฉพาะจากเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่างๆ โดยไม่ว่าจะเกิดกับเราโดยตรงหรือไม่ แต่เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ก็นับเป็นบทเรียนที่ดีในการเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนและการบริหารจัดการพอร์ตฟอลิโอในอนาคต

ประการแรก ในการลงทุนนั้นความเสี่ยงไม่ได้เกิดจากด้านราคาเพียงอย่างเดียว ส่วนใหญ่ราคาและความผันผวนจะเป็นสิ่งที่นักลงทุนพิจารณาก่อนการลงทุนเสมอ ทำให้ความผันผวนหรือความเสี่ยงด้านราคา (Market Risk) เป็นปัจจัยสำคัญลำดับต้นๆ ในการลงทุน แต่ยังมีความเสี่ยงอีกหลายส่วนที่ก่อนจะลงทุนหรือลงทุนไปแล้วก็ตามต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนรอบคอบ เช่น เรื่องของความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) และความเสี่ยงที่เกิดจากคู่ค้า (Counterparty Risk)

โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่มีตัวกลางในการรักษาสินทรัพย์หรือชำระเงิน การที่คนอื่นถือเงินของเราไว้นั้นมีความเสี่ยงอยู่เสมอไม่ว่าอีกฝั่งจะเป็นใครก็ตาม โดยในหลายๆ ครั้งที่การลงทุนบางอย่างอาจจจะให้ผลตอบแทนสูงจนน่าดึงดูดใจอย่างมาก แต่ก็จะมีความเสี่ยงในด้านนี้เพิ่มเติมขึ้นมาอย่างมาก โดยหากเราไม่พิจารณาให้รอบคอบก็จะทำให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากได้

 

นอกจากนั้นยังความเสี่ยงอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาอยู่เสมอ เช่น เรื่องของความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (Liquidity Risk) ความเสี่ยงด้านกฏเกณฑ์ต่างๆ (Regulation Risk) แม้ความเสี่ยงที่พูดถึงเหล่านี้อาจจะไม่มีการแปลงหรือคำนวณออกมาเป็นตัวเลขออกมาชัดเจน แต่ก็เป็นส่วนที่ไม่สามารถมองข้ามได้ เนื่องจากการลงทุนคือการรับความเสี่ยงเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ต้องการ โดยหากไม่พิจารณาในส่วนนี้ก็อาจจะทำให้เกิดการลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่เหมาะสมหรือลงทุนเป็นสัดส่วนที่มากหรือน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่รับได้เป็นต้น

ประการที่สอง ความเสี่ยง Tail Risk นั้นต้องถูกบริหารจัดการให้ดี ความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย แต่สร้างความเสียหายสูงหากเกิดขึ้น หรือ ที่เรียกกันสั้นๆ ว่า Tail Risk นั้นมีอยู่เสมอ และบ่อยครั้งจะเกิดจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อน ทำให้การบริหารจัดการความเสี่ยงในส่วนนี้ทำได้ยาก โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนทั่วๆ ไปที่ใช้เครื่องมือทางการเงินที่ซับซ้อนในกลุ่มตราสารอนุพันธ์ได้ยากกว่านักลงทุนสถาบันหรือมีทางเลือกที่จำกัดกว่า ตราสารอนุพันธ์ เช่น ฟิวเจอร์ส (Futures) หรือ ออปชั่น (Options) นั้นสามารถช่วยลดความเสี่ยงในด้านนี้ได้ แต่ก็มาพร้อมกับต้นทุนในการทำธุรกรรมบางส่วน

ในส่วนนี้หากซับซ้อนเกินไปสำหรับนักลงทุนบุคคล การกระจายการลงทุนหรือการปรับสัดส่วนพอร์ตฟอลิโอให้เหมาะสม รวมถึงการรีบาลานซ์ (Rebalance) พอร์ตการลงทุนอย่างสม่ำเสมอก็สามารถชวยลดทอนความเสี่ยงในส่วนนี้ไปได้บ้าง นอกจากนั้นก่อนการลงทุนอาจจะต้องพิจารณาความเสี่ยงในส่วนนี้เพิ่มเติมควบคู่ไปกับความเสี่ยงในด้านอื่นๆ เพื่อเทียบกับผลตอบแทนคาดหวัง เพื่อที่จะได้กำหนดน้ำหนักการลงทุนที่เหมาะสมต่อไป โดยหากเราพิจารณาความเสี่ยงในด้านนี้ไม่รอบด้าน อาจทำให้ผลตอบแทนคาดหวังนั้นต่ำเกินไปสำหรับระดับความเสี่ยงในภาพรวมของการลงทุน และทำให้เราลงทุนในส่วนนี้มากจนเกินไปจนอาจนำมาซึ่งความเสี่ยงในภายหลังได้

ประการสุดท้าย เรื่องของธรรมมาภิบาล (Governance) เป็นสิ่งสำคัญเสมอในการลงทุน ธุรกิจที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนเหมาะสมกับการลงทุนในระยะยาวนั้น รูปแบบธุรกิจและการบริหารจัดการด้านการเงินอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ แต่จำเป็นจะต้องพิจารณาเรื่องของประเด็นด้าน สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ควบคู่ไปด้วย

โดยในเรื่องของธรรมภิบาลที่ไม่ดีนั้นมักจะมีประเด็นให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ไม่เฉพาะในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตกแต่งงบการเงิน การไม่ตรวจสอบบัญชี การใช้ข้อมูลภายในในการซื้อขายเพื่อประโยชน์ส่วนตน (Inside Trading) การใช้นอมินีในการทำธุรกรรม ความไม่โปร่งใสต่างๆ หรือ เรื่องของการยักยอกผ่องถ่ายสินทรัพย์ของบริษัท เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรามองข้ามไม่ได้

โดยเครื่องมือในตลาดการเงินก็มีตัวช่วยเหลือนักลงทุนอยู่บ้างไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรายชื่อหุ้นยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์ หรือ การสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน (Corporate Governance Report) ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ไทย แม้อาจจะไม่สามารถการันตีได้ แต่ก็เป็นตัวช่วยกรองที่มีมาตรฐานสูง นอกจากนั้นนักลงทุนยังสามารถติดตามภาพรวมจากเรื่องของรายงานด้านความยั่งยืนรวมถึงธรรมมาภิบาลและข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทั้งบริษัทและผู้บริหารประกอบไปด้วยได้อีกทางหนึ่ง

สุดท้ายนี้ บทเรียนจากตลาดการเงินต่างๆ จะเป็นข้อย้ำเตือนให้เราระลึกอยู่เสมอว่าการลงทุนไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องการการบริหารจัดการที่ดี รวมถึงความรู้ความเข้าใจทั้งในส่วนของภาวะตลาดการเงิน สินทรัพย์ทางการเงิน รวมถึงสถานะการเงินส่วนบุคคลของตนเองในการที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุนตามจุดประสงค์ที่ต้องการครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด