ส่องทิศทางเงินฝากในภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว ท่ามกลางดอกเบี้ยขาขึ้น

ช่วง 2 ปีผ่านมาของวิกฤตโควิด-19 ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายในระบบการเงินการธนาคาร ที่เห็นชัดเจน คือ ปริมาณเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นของอย่างมีนัยสำคัญจาก 11.7 ล้านล้านบาทในปี 2562 เป็น 13.5 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 หรือเพิ่มขึ้นถึง 14%

สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ปริมาณเงินฝากเริ่มเติบโตในอัตราที่แผ่วลง และในระยะต่อไปคงต้องติดตามทิศทางเงินฝากจะมีการปรับตัวอย่างไรเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับสู่ระดับปกติและสภาพแวดล้อมทางการเงินเป็นไปในทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น

ย้อนดูยอดเงินฝากออมทรัพย์ของบัญชีรายย่อยพุ่งแตะกว่า 6 ล้านล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 ล้านล้านบาทในช่วงสองปีของวิกฤตโควิด-19 ในภาพรวมปริมาณเงินฝากเพิ่มขึ้นทั้งบัญชีเงินฝากบุคคลธรรมดาและเงินฝากภาคธุรกิจ ซึ่งในที่นี้จะพิจารณาเฉพาะเงินฝากของบุคคลธรรมดาหรือรายย่อยซึ่งมีสัดส่วนราว 64% ของยอดเงินฝากทั้งหมด

ในรายละเอียดของบัญชีเงินฝากรายย่อยที่เพิ่มขึ้นมาก พบว่าเป็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในขณะที่ปริมาณเงินฝากในบัญชีเงินฝากประจำลดลง  โดยในปี 2564 ปริมาณเงินฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์อยู่ที่ 6.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 42% จากปี 2562

ในขณะที่ยอดเงินฝากในบัญชีเงินฝากประจำมีการหดตัวลง 7 แสนล้านบาทหรือลดลง 23% ทำให้โครงสร้างเงินฝากประกอบด้วยเงินฝากออมทรัพย์ที่มีสัดส่วนถึง 74% จากปกติอยู่ที่ระดับ 60% การเพิ่มขึ้นของเงินฝากในภาพรวมน่าจะมีสาเหตุจากการสำรองเงินสดเพื่อรองรับความเสี่ยงจากการที่เผชิญกับความไม่แน่นอนของรายได้

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคโดยชะลอหรือลดการบริโภคสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น ที่อยู่อาศัยหรือรถยนต์ หรือลดการใช้จ่ายในต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อการบริโภคลดลง ภาคครัวเรือนจึงมีเงินเก็บในรูปแบบของเงินฝากที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนสินทรัพย์มาอยู่ในรูปเงินสดที่มีสภาพคล่องสูงหรือมาพักไว้ในเงินฝากธนาคาร  

ปริมาณเงินฝากมีแนวโน้มลดลงในไตรมาส 3 ปี 2565 เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับสู่ระดับปกติได้เร็ว โดยเริ่มเห็นทิศทางเงินฝากเปลี่ยนไปในเดือนสิงหาคม 2565 ยอดรวมเงินฝากรายย่อยอยู่ที่ 8.4 ล้านล้านบาทลดลง 5.9 หมื่นล้านบาท จาก ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2565 และเป็นการลดลงทั้งบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำ

โดยเฉพาะบัญชีออมทรัพย์ที่ลดลง 5.2 หมื่นล้านบาท สอดคล้องกับการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและการเริ่มปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย สะท้อนความจำเป็นในการสำรองเงินไว้ใช้จ่ายฉุกเฉินลดลงและมีแนวโน้มกระจายการลงทุนไปสู่ทางเลือกอื่นที่มีผลตอบแทนสูง

อีกทั้งถ้าดูเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนจะสะท้อนภาพที่สอดคล้องกัน คือปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและเริ่มเห็นการกลับมาของการบริโภคสินค้าที่มูลค่าสูง โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์เดือนกันยายน ปี 2565 อยู่ที่ 7.4 หมื่นคัน เพิ่มสูงสุดในรอบ 6 เดือน และยอดขายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 อยู่ที่ 6.3 แสนคัน เพิ่มขึ้น 19% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564

ดอกเบี้ยขาขึ้นเพิ่มโอกาสรายย่อยในการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น นับตั้งแต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนสิงหาคมและกันยายนที่ผ่านมา และมีแนวโน้มปรับขึ้นอีกครั้ง ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ระดับ 1.25% สิ่งที่ตามมาคือการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากบัญชีออมทรัพย์เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ  0.25-0.50% และอัตราดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากประจำ 1 ปีเฉลี่ยที่ระดับ 0.75-1.00 % ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ฝากรายย่อยในการได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น

จึงมีโอกาสที่จะเห็นโครงสร้างเงินฝากเริ่มปรับสู่ระดับปกติ โดยสัดส่วนเงินฝากบัญชีออมทรัพย์จะทยอยปรับลดลง จากปัจจุบัน ณ เดือนสิงหาคม พบว่า สัดส่วนบัญชีออมทรัพย์อยู่ที่ 74% และบัญชีเงินฝากประจำ 26% อย่างไรก็ดี ในทางเลือกการลงทุนอื่น โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ พบว่า ในช่วงไตรมาส 3 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Bond Yield) และอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนขยับขึ้นเช่นกัน ท่ามกลางการเร่งระดมทุนของผู้ออกหุ้นกู้ภาคเอกชนเพื่อล็อกต้นทุนการกู้ยืม

โดยมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565 ขยายตัว 4.5% จากสิ้นปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 15.7 ล้านล้านบาท โดยเป็นส่วนการออกหุ้นกู้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 มีมูลค่าที่ 9.97 แสนล้านบาท คิดเป็น 96% ของมูลค่าการออกทั้งปี 2564 และ เพิ่มขึ้น 22% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว และมีแนวโน้มที่การออกหุ้นกู้ระยาวจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องและดอกเบี้ยยังคงขยับขึ้นต่อเนื่องในปี 2566  จึงมีโอกาสที่จะเห็นการเคลื่อนย้ายเงินฝากไปสู่การลงทุนในตราสารหนี้ได้เช่นกัน    

 

ระยะต่อไปทิศทางเงินฝากจะทยอยกลับสู่ระดับปกติดังเช่นในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 และสอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเงินฝากบัญชีออมทรัพย์มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยจากปี 2564 ตามความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและสถานการณ์การจ้างงานที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่แนวโน้มดอกเบี้ยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปถึงปี 2566  จึงเป็นปัจจัยหนุนให้ผู้ฝากรายย่อยปรับเปลี่ยนสภาพคล่องจากสำรองเพื่อใช้จ่ายไปสู่การบริหารเงินลงทุนมากขึ้นทั้งที่เป็นบัญชีเงินฝากประจำหรือตราสารหนี้ เป็นผลดีต่อผู้ฝากรายย่อยในแง่ที่ได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น จากเดิมในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ผู้ฝากรายย่อยเน้นพักเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์  ขณะเดียวกันในมุมของธนาคารพาณิชย์การที่ปริมาณเงินฝากกลับสู่ระดับปกติ จะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความยืดหยุ่นในการบริหารต้นทุน และสามารถรองรับการเติบโตของสินเชื่อได้อย่างเหมาะสม

* * * * * * * * * * *