เศรษฐกิจโลก: สู่ดุลยภาพใหม่

ในมุมมองของเรา ภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่4 ปีนี้สำคัญมาก เพราะเราเชื่อว่าไตรมาสที่จะมาถึงจะนำการเปลี่ยนแปลงของภาพเศรษฐกิจโลกไปสู่ดุลยภาพ (Equilibrium) ใหม่

ในดุลยภาพเดิม ภาพที่ผู้คนรับรู้กันคืออัตราเงินเฟ้อยังคงเพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจยังคงขยายตัวดี แต่ดุลยภาพใหม่ซึ่งตลาดจะรับรู้ คืออัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงสุด อัตราดอกเบี้ยสหรัฐจะสูงสุดที่ระดับที่สูงกว่า 4% และเศรษฐกิจจะชะลอตัวแรงขึ้น

แม้ว่าเงินเฟ้อสหรัฐในเดือนส.ค. ออกมาสูงกว่าคาด และทำให้ตลาดการเงินตื่นตระหนกในช่วงที่ผ่านมา แต่ภาพต่าง ๆ เริ่มชัดเจนขึ้นว่า อัตราเงินเฟ้อเริ่มทรงตัวทั้งในสหรัฐและทั่วโลก ขณะที่ตลาดกำลังซึมซับกับตัวเลขการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยสูงสุด ซึ่งตัวเลขดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอีก โดยเฉพาะในยุโรป ซึ่งกำลังเผชิญกับ 3 วิกฤติพร้อมกัน (พลังงาน เงินเฟ้อ และการคลัง) ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐ เราคาดว่าจะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนเศรษฐกิจจีนน่าจะทรงตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปี

ในภาพใหญ่ เงินเฟ้อสหรัฐ ทั้งเงินเฟ้อจริง และเงินเฟ้อคาดการณ์ในอนาคตเริ่มปรับลดลง โดยเงินเฟ้อทั่วไปสหรัฐเดือน ส.ค. อยู่ที่ 8.3% ต่อปี สูงกว่าตลาดคาดที่ 8.1% แต่หากพิจารณาองค์ประกอบสำคัญ จะเห็นว่าเงินเฟ้อจากฝั่งพลังงานลดลง โดยราคาน้ำมันสำเร็จรูปลดลง 10.6% เทียบกับเดือนก่อน โดยล่าสุดอยู่ที่ 3.71 ดอลลาร์ต่อแกลลอน ลดลงจาก 4.67 ดอลลาร์ ในเดือน มิ.ย. รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น เช่น รถมือสอง และตั๋วเครื่องบิน อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารและค่าใช้จ่ายบ้านที่เพิ่มขึ้น 0.8% และ 0.7% ต่อเดือน มีส่วนทำให้เงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ระดับสูง

อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าทิศทางเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว โดยเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอลงรวมถึงนโยบายการเงินที่ตึงตัวจะทำให้เงินเฟ้อและความคาดหวังเงินเฟ้อชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ล่าสุดความคาดหวังเงินเฟ้อที่วัดโดย New York Fed ในเดือน ส.ค. ปรับลงจาก 6.2% เป็น 5.7% ขณะที่ความคาดหวังเงินเฟ้อที่วัดโดย U of Michigan ก็ลดลงจาก 5.4% เป็น 4.8% ในเดือนเดียวกัน

ในส่วนของภาพเศรษฐกิจ เราเริ่มเห็นตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มชะลอลงมากขึ้น ไม่ว่าจะพิจารณาจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ล่าสุดส่งสัญญาณชะลอลง โดยเฉพาะการจ้างงานนอกภาคเกษตรและตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนที่วัดจากบริษัทที่ทำการจ่ายเงินเดือนให้พนักงานเอกชนในสหรัฐ (ADP Payroll)

ขณะที่ยอดค้าปลีกสหรัฐเริ่มไม่ขยายตัว ด้านเศรษฐกิจยุโรป เราเห็นดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ยุโรปเข้าโซนหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวแรงและเงินเฟ้อสูงจากวิกฤตพลังงาน ส่วนเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวขึ้นมาบ้างในเดือนส.ค. จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม การนำเข้าจีนที่ลดลง จะเริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกทั่วโลกในระยะต่อไป

โดยสรุป เรามองว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มมี Momentum ชะลอลงแล้ว และจะรุนแรงขึ้นในระยะต่อไปจาก (1) นโยบายการเงินที่ตึงตัว (2) ความเสี่ยง 3 วิกฤตเศรษฐกิจยุโรป และ (3) ความต้องการภายในประเทศจีนที่ชะลอลงตามทิศทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การเริ่มกลับมาเปิดเมืองเฉิงตูอีกครั้งและการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องจะทำให้เศรษฐกิจจีนยังขยายตัวได้ต่อเนื่องในปีนี้

ในส่วนของนโยบายการเงิน เรามองว่าสัญญาณนโยบายการเงินที่ตึงตัวรุนแรง ผลจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของสหรัฐนั้น จะกระทบกับเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกรุนแรงขึ้นในระยะต่อไป โดยแม้ FOMC จะมีมติขึ้นดอกเบี้ย 75 bps ตามคาดแต่ก็ปรับประมาณการการขึ้นดอกเบี้ย (Dot plot) ขึ้นรุนแรง จาก 3.4% และ 3.8% ณ สิ้นปี 2022-2023 ขึ้นเป็น 4.4% และ 4.6% ซึ่งการขึ้นระดับดังกล่าวบ่งชี้ว่า ดอกเบี้ยจะถูกปรับขึ้นอีก +75bps ในการประชุมเดือน พ.ย. (ซึ่งเป็นการขึ้น +75bps เป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน) และ +50bps ในการประชุมเดือน ธ.ค.

นอกจากนั้น ในการคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐ FOMC ยังปรับประมาณการเศรษฐกิจลงอย่างมีนัยสำคัญ จาก 1.7% ในปี 2022-2023 เป็น 0.2% และ 1.2% ขณะที่ในช่วงแถลงข่าว ประธาน Fed กล่าวว่า “โอกาสที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปน่าจะหมดลงแล้ว” (Chance of a soft landing are likely to diminish) ซึ่งหลังการประกาศดังกล่าว ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรปรับขึ้นรุนแรง

เรามีมุมมองต่อทิศทางนโยบายการเงินสหรัฐ 3 ประเด็น คือ

(1) การขึ้นดอกเบี้ยและส่งสัญญาณเช่นนี้ เป็นการขึ้นแบบ Front load กล่าวคือ เร่งขึ้นรุนแรงที่ 75 bps และ 50 bps ในการประชุม 2 ครั้งสุดท้ายของปี และทรงตัวหรือปรับขึ้นอีก 25 bps ในการประชุมต้นปีหน้า และลดดอกเบี้ยในปี 2024 ซึ่งเป็นการขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงมาก

(2) การปรับประมาณการเศรษฐกิจลงรุนแรง บ่งชี้ว่ามีโอกาสสูงขึ้นที่จะเห็นเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยในปีนี้-ปีหน้า (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเพียง 0.2% ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลังต้องหดตัว 2.8% จากครึ่งปีแรกที่ขยายตัว 3.2%)

(3) ผลตอบแทนพันธบัตร 2 ปี ที่ขึ้นมาแรงที่ 4.2% ขณะที่ 10 ปี ปรับขึ้นเช่นกันแต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ 3.7% ทำให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยระยะสั้นและระยะยาว (หรือ Inverted Yield Curve) รุนแรงขึ้น และจะเป็นตัวฉุดรั้งความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจลงในระยะต่อไป

ดุลยภาพที่เปลี่ยนไป นำไปสู่ความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มากขึ้น นักธุรกิจและนักลงทุน โปรดระมัดระวัง