หรือเมตาเวิร์สจะเป็นศิลปะแขนงที่ 8 ?

มนุษย์พันธุ์โฮโมเซเปียนอย่างเราสร้างงานศิลปะขึ้นมาไม่ใช่เพราะเหตุผลด้านความงามเพียงอย่างเดียว และไม่ได้เป็นอย่างแรกที่ทำให้เราสร้างอะไรต่อมิอะไรที่เดี๋ยวนี้เราเรียกว่า “ศิลปะ” เสียด้วยซ้ำ 

แต่หลักฐานทางด้านโบราณคดีและด้านมานุษยวิทยามักบอกเรากลาย ๆ ว่าเราสร้างสิ่งที่เดี๋ยวนี้เราเรียกกันว่าศิลปะนั้น มักเป็นสิ่งที่มาพร้อมกับวิถีชีวิตด้านอื่น ๆ ของเรา ศิลปะ มักเกิดเพราะถิ่นฐานที่เราอยู่อาศัย ตัวอย่างเช่น ศิลปะในถ้ำหรือศิลปะตามเพิงผาที่เราพบโดยทั่วไป ตามแหล่งอยู่อาศัยโบราณของมนุษย์

ภาพจิตรกรรม (painting) เป็นศิลปะอย่างแรก ๆ ที่เราสร้างสรรค์ขึ้นในฐานะเผ่าพันธุ์ทรงภูมิปัญญา (intellect Species) ทำให้เรามีความแตกต่างจากสัตว์พันธุ์อื่น ๆ เราไม่เพียงแค่ใช้งานสร้างสรรค์ของเราเพื่อเป็นบ้าน เป็นกับดัก เป็นยุทธวิธีสำหรับการอยู่รอด ดังที่พบในสัตว์ประเภทอื่น ทั้งนก โลมา หรือปลวก 

 

 แต่เราใช้งานศิลปะเพื่อการบอกเล่าเรื่องราว ที่สามารถแสดงออกถึงจินตนาการและความรู้สึกนึกคิดอื่น ๆ ของเราได้ เมื่อภาพแบน ๆ ไม่สามารถเติมเต็มความรู้สึกของเราได้พอ เราก็ทำให้ภาพนั้น ๆ ดูเหมือนจริงขึ้นไปอีกโดยทำเป็น ประติมากรรม (Sculpture)

 เมื่อต้องขยายความรู้สึก เราก็พัฒนา “ภาษา” ซึ่งเป็นเครื่องมือสื่อสารให้เลยพ้นไปจากการบอกเล่า เป็นการเล่าเรื่อง เป็นกวี เป็นวรรณกรรม (literature)

การดำรงอยู่ของเราทุกคนเคยเป็นคนถ้ำ เราก็ปรับแปลงถ้ำนั้นให้เหมาะกับเราในช่วงแรก จากนั้นผ่านจากรุ่นสู่รุ่นก็เปลี่ยนถ้ำนั้น ให้กลายเป็นบ้านมากยิ่งขึ้น บางครั้งอาจหาถ้ำไม่ได้ เราก็ทำเพิงพักเป็นบ้านง่าย ๆ สิ่งนี้เอง ที่สุดแล้วเราก็สร้างเป็นสถาปัตยกรรม (Architecture) อันยิ่งใหญ่งดงาม ทั้งนี้เพื่อสร้างดินแดนในอุดมคติของเราให้เกิดขึ้นในชีวิตนี้

ดินแดนในอุดมคติจะไม่สามารถเกิดขึ้น เพราะศิลปะทั้ง 4 นี้ได้เลย อาจเป็นเพราะขาดส่วนสำคัญที่สุดไป ส่วนสำคัญนั้นก็คือเรา” ที่จะมาสร้างชีวิตให้กับการเล่าเรื่องเหล่านี้ 

บทกวีจะมีพลังมีชีวิตได้อย่างไร ถ้าเราไม่อ่านมันออกมา ยิ่งคนในยุคโบราณซึ่งมีอัตราการอ่านออกเขียนได้ต่ำกว่าในสมัยนี้มากแล้ว ยิ่งไม่ต้องนึกถึงเลยทีเดียว พระอภัยมณี จะไม่มีทางเป็นบทกวีอันยิ่งใหญ่ได้เลยถ้าสุนทรภู่มิได้ไปอ่านให้กับคนในบางกอกฟังในสมัยเมื่อราวเกือบสองร้อยปีที่แล้ว ภาพวาดที่ดูแห้งแล้ง นิ่งแข็งอาจมีชีวิตชีวามากขึ้นถ้าเรา แสดงเลียนแบบคนในภาพนั้น

ด้วยความคิดเช่นนี้ เราจึงมีการละคร (Drama) เป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่ง ระหว่างที่เราทำพิธีกรรม หรือแสดงละครเพื่อสร้างชีวิตให้กับเรื่องราวต่าง ๆ ของเรา เราใช้ดนตรี (Music)  เป็นดังมนต์วิเศษ เพื่อชำแรกเข้าในจิตใจและวิญญาณของผู้ที่กำลังอยู่ในพิธีกรรม ผู้ที่กำลังฟังเรื่องเล่า หรือผู้เสพละครนั่นเอง และละคร ซึ่งเป็น ศิลปะแขนงที่ 6 นี้มักจะรวมเอาศิลปะทั้ง 5 แขนงที่กล่าวไปเข้าไว้ด้วยกัน

 ศิลปะทั้ง 6 แขนงนี้อยู่คู่กับอารยธรรมของโฮโมเซเปียนมานานเหลือแสน อาจนานพอ ๆ กับที่มีเผ่าพันธุ์เราอยู่เลยด้วยซ้ำ แต่เมื่อเอดิสัน (Thomas Alva Edison) และพี่น้องลูมิแยร์ (Auguste and Louis Lumière) พัฒนาภาพเคลื่อนไหวขึ้นจากการใช้ภาพหลายๆภาพเคลื่อนที่ต่อกันภาพยนตร์ (Motion Picture)  ก็เกิดขึ้น 

ภาพยนตร์มีมนต์วิเศษอันทรงพลังยิ่ง มนต์วิเศษที่ว่านี้คือการ “แช่แข็งประวัติศาสตร์” เพราะเป็นครั้งแรกที่เผ่าพันธุ์ของเราสามารถนำเรื่องราวที่ผ่านไปแสนนานกลับมาเล่าใหม่ได้อย่างไม่ผิดเพี้ยนจากของเดิม ไม่ผิดเพี้ยนกระทั่งตัวผู้เล่าเอง แม้ว่าจะเสียชีวิตไปนานเท่าไรแล้วก็ตาม

ยิ่งไปกว่านั้น ภาพยนตร์ยังให้กำเนิดการ์ตูนหรืออนิเมชัน ซึ่งสามารถสร้างโลกที่เราได้แต่เคยจินตนาการถึงออกมาโลดแล่นเคลื่อนไหวมีชีวิตเหมือนฝัน ว้าว.... นี่มันยอดมากเลย และภาพยนตร์ถูกยกย่องให้เป็นศิลปะแขนงที่ 7 เลยทีเดียว  เพราะมันส์

แต่เดี๋ยวก่อน... มันขาดอะไรไปสักอย่าง สิ่ิ่งที่ขาดไปอยู่อย่างหนึ่งของภาพยนตร์ก็คือ ความรู้สึกมีส่วนร่วมแบบสมบูรณ์ ที่บางครั้งเราต้องการที่จะเข้าใจตัวละครจนบางครั้งอยากเป็นตัวละครเสียเอง บางครั้งเราดูภาพยนตร์ที่มีฉากอันงดงาม เราก็อยากไปอยู่ในฉากนั้น ๆ เสียเอง บางครั้งเราก็อยากผจญภัยแบบที่ตัวละครในเรื่องทำบ้าง 

ผลพวงของเรื่องนี้ทำให้เกิดอะไรต่อมิอะไรมากมาย การท่องเที่ยวประเภทตามรอยก็เป็นอย่างหนึ่งล่ะที่ผมนึกออก เฟสติวัลประเภทคอสเพลย์ การขายตัวการ์ตูน เสื้อผ้าเลียนแบบ และอื่น ๆ อีกมากมาย

สมัยนี้เรียกกันเป็นคำประจำยุคเลยว่าพลังอ่อนหรือ Soft Power แต่นั่นก็เป็นการตอบกลับความต้องส่วนลึก แต่มันช้าไป มันต้องรอให้ดูภาพยนตร์จบ เล่นเกมส์จบแล้วรอ รอให้เจ้าของผลิตภัณฑ์ออกสินค้า รอให้มีเวลาพอไปเที่ยวในที่นั้น ๆ (อย่างไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์ หรือไปตามรอยภาพยนตร์เกาหลี หรือไปแต่งชุดไทยตามออเจ้า) จนกระทั่งเกิด "เมตาเวิร์ส" (metaverse)

“เมตาเวิร์ส” คือ ที่ ที่เราจะได้ใช้ชีวิตแบบจินตนาการได้ ทันที ถ้าเราจะพิจารณาโดยย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นบทความนี้ เราอาจพบว่า วิถีชีวิตเราต้องการแบบนี้มาแต่บรรพกาล วิถีชีวิตเราต้องการเล่าเรื่อง ต้องการศิลปะ 

ในเมตาเวิร์ส อาจเป็นได้ว่าศิลปะกลับมาเป็นวิถีชีวิตของ ผมอยากเริ่มประเด็นนี้ไว้ก่อน  โดยอยากเสนอว่า "เมตาเวิร์ส" นี้เอง อาจเป็นศิลปะแขนงที่ 8 ของเผ่าพันธุ์เรา โฮโมเซเปียน ขอบคุณครับ