ตลาดคริปโท ต่างกับตลาดหุ้นอย่างไร?

ตลาดคริปโท ต่างกับตลาดหุ้นอย่างไร?

หากใครได้ติดตามเหตุการณ์ของโลกคริปโตในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ คงจะต้องได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับตลาดคริปโตอันดับต้น ๆ ของโลกที่ชื่อว่า FTX อย่างแน่นอน ซึ่ง FTX ได้ประกาศเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ Chapter 11 ตามกฎหมายล้มละลายของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 หลังจากที่มีข้อมูลสินทรัพย์ของ FTX กับ Alameda Research รั่วไหลออกมา

จนทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลแห่กันถอนเงิน จนกระทั่งบริษัทขาดสภาพคล่อง และต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ต่อมาภายหลัง ก็มีข้อมูลว่า Sam Bankman-Fried อาจจะมีการโยกย้ายเงินของลูกค้าบางส่วนไปยัง Alameda Research

บางท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมไม่เคยเห็นตลาดหลักทรัพย์ที่ใดล้มในลักษณะนี้บ้าง เดี๋ยววันนี้เรามาเรียนรู้กันว่า ตลาดคริปโต และตลาดหลักทรัพย์มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง และทำไมมันถึงทำให้ตลาดหลักทรัพย์โดยทั่วไปมีความปลอดภัยที่สูงกว่า และดีต่อนักลงทุนมากกว่า

การแบ่งแยกหน้าที่การทำงาน (Segregation of Duty) และการลดความเสี่ยง

โดยทั่วไป ตลาดหลักทรัพย์ จะมีหน้าที่เป็นเพียงผู้ทำหน้าที่จับคู่การซื้อขาย และควบคุมให้การซื้อขายเป็นไปตามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ ไม่มีส่วนได้เสียกับธุรกรรมต่าง ๆ โดยตรง รวมถึงไม่ได้เป็นผู้ทำหน้าที่ถือครองทรัพย์สินของลูกค้าโดยตรง จึงทำให้ตัวตลาดหลักทรัพย์เองไม่ได้มีความเสี่ยงที่จะทำให้ลูกค้าเกิดความเสียหาย

เงิน และหลักทรัพย์ต่าง ๆ ของลูกค้าจะถูกฝากไว้กับบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิก เพื่อความคล่องตัวในการซื้อขาย และเมื่อเกิดการซื้อขายขึ้น บริษัทหลักทรัพย์เหล่านี้ก็จะมีหน้าที่ชำระราคา และส่งมอบหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นคู่สัญญาผ่านสำนักหักบัญชี

และเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการชำระราคา และส่งมอบหลักทรัพย์ของสำนักหักบัญชี สำนักหักบัญชีจะมีการจัดตั้งกองทุนทดแทนความเสียหายในระบบการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ไว้เผื่อกรณีที่คู่สัญญาใดไม่สามารถดำเนินการตามที่ภาระที่มีอยู่ได้ และมีการวางหลักประกันการซื้อขาย รวมถึงการควบคุมผ่านการดำรงฐานะทางการเงินหรือดำรงเงินกองทุน (Net Capital และ Net Capital Ratio)

ยิ่งไปกว่านั้น ตลาดหลักทรัพย์ก็มักจะมีการจัดตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุนในหลักทรัพย์ เพื่อชดเชยความเสียหายให้กับนักลงทุนในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์ล้มละลาย

การคุ้มครองตามกฎหมาย

ตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ ดำเนินการอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ของประเทศนั้น ๆ ซึ่งมีการตรวจสอบการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ มีการเลือกกรรมการที่มีคุณภาพเข้ามาดูแลการดำเนินงาน และมีขั้นตอนในการดำเนินงานที่รัดกุม รวมไปถึงการบังคับ และลงโทษตามกฎหมาย จึงมีปัญหาค่อนข้างน้อย นอกจากนั้น กฎหมายยังช่วยควบคุมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นบริษัทหลักทรัพย์ ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ สำนักหักบัญชี รวมถึงนักลงทุนกระทำการอยู่ในกรอบ ทำให้ความเสี่ยงลดลงมาก

ส่วนในตลาดคริปโต เรามักจะเห็นว่าตลาดคริปโตมักจะรวมศูนย์การดำเนินงานทั้งหมดไว้เอง ไม่ว่าจะทำหน้าที่เป็นตลาด ผู้ทำตลาด (market maker) นายหน้า (broker) ผู้รับฝากหลักทรัพย์ (custodian) นักลงทุน (investor) ผู้ดูแลสภาพคล่อง (liquidity provider) ผู้ยืมและผู้กู้ (borrower and lender) รวมไปถึงการเป็นคู่สัญญาในตลาดตราสารอนุพันธ์ (derivative counterparty) และความเสี่ยงของการทำหน้าที่เหล่านี้ไม่ได้มีการถูกแบ่งแยกให้ชัดเจน หากเกิดปัญหาในจุดใดจุดหนึ่ง ก็มักจะทำให้เกิดความรับผิดชอบที่ไม่จำกัด จนอาจจะเกิดปัญหากับสถานะของตลาดได้

ยิ่งไปกว่านั้น การที่รวมหน้าที่ทุกอย่างไว้เอง ทำให้เกิดแรงจูงใจในการนำทรัพย์สินของลูกค้าไปหาผลประโยชน์ เช่น การปล่อยกู้ หรือให้ยืมสินทรัพย์ของลูกค้า จนทำให้ในกรณีที่ลูกค้าต้องการที่จะถอนเงิน หรือคริปโต ก็อาจจะไม่มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะคืนทรัพย์สินให้กับลูกค้า

Disclaimer: บทความนี้จัดทำขึ้นโดยผู้เขียน บนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่เชื่อว่า มีความน่าเชื่อถือ และ/หรือ มีความถูกต้อง และถือเป็นลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาของผู้เขียน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทในกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่ปรากฏในข้อมูลบทความแต่อย่างใด