หนี้ครัวเรือน: ปัญหาเรื้อรังที่แก้ได้...แต่ต้องรีบทำ

หนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราทุกคน และอาจดูเป็นเรื่องปกติในระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ที่กิจการต่างๆ มุ่งเน้นตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด แต่การมีหนี้มากจนเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสังคมได้

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้อ่านข้อมูลหนี้ครัวเรือนในช่วง 2-3 ปีหลัง ต้องยอมรับว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่ากังวลไม่น้อย จากข้อมูลดังกล่าว อัตราหนี้ครัวเรือนของคนไทยเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 90 ต่อ GDP ในชั่วระยะเวลาหนึ่ง จากระดับร้อยละ 60 ในปี 2553

นับเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดภายในเวลาเพียง 10 ปี หนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเร่งขึ้นเร็วในช่วงโควิด-19 จากรายได้ที่ลดลงเป็นหลัก หากปล่อยไว้โดยไม่มีการแก้ไข คาดว่าหนี้ครัวเรือนไทยจะสูงกว่าร้อยละ 80 ต่อ GDP อย่างถาวร ซึ่งเป็นระดับสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังเพราะจะส่งผลเชิงลบต่อ GDP

ผลกระทบสำคัญที่เห็นได้ชัดประการหนึ่งของหนี้ครัวเรือนต่อการพัฒนาสังคมนั่นคือ มาตรฐานความเป็นอยู่ของคนในสังคมที่ลดลง การที่ครัวเรือนใดๆ มีหนี้เป็นจำนวนมากเกินกว่าจะสามารถจัดการได้ จะทำให้พวกเขาไม่สามารถใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น อีกทั้งยังทำให้การลงทุนเพื่ออนาคตของตนนั้นทำได้ยากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะคนวัยเริ่มทำงานที่อายุระหว่าง 25–29 ปี ซึ่งมากกว่าร้อยละ 58 เป็นหนี้ และมากกว่าร้อยละ 25 เป็นหนี้เสีย (Non-Performing Loan: NPL) ส่วนใหญ่เป็นหนี้บัตรเครดิตหรือหนี้ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่ช่วยสร้างรายได้ รวมถึงคนจำนวนไม่น้อยก็มีหนี้นอกระบบที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานานด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ถ้าลูกหนี้ไม่ได้รับสินเชื่อหรือเข้าถึงสินเชื่อที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของตนเอง ก็อาจมีปัญหาในการใช้จ่ายด้านการศึกษา เริ่มต้นธุรกิจ หรือซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัย ซึ่งเป็นการจำกัดโอกาสและกีดขวางลูกหนี้ทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามศักยภาพของตน และเมื่อมีคนในสังคมจำนวนมากขึ้นประสบปัญหาหนี้สินในระดับที่สูงเกินไป ประเทศก็จะไม่สามารถดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจอื่นๆ ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนก่อน

ยิ่งไปกว่านั้น บาดแผลจากการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ได้ส่งผลให้ครัวเรือนจำนวนมากต้องประสบกับปัญหาการเงินจากรายได้ที่ลดลงและหนี้สินที่สูงขึ้น เนื่องจากหลายคนถูกให้ออกจากงานหลังจากธุรกิจต่างๆ ต้องปิดตัวลง รวมถึงถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องนำเงินออมออกมาใช้ เพื่อให้เพียงพอกับการดำรงชีพในชีวิตประจำวัน ทำให้อัตราการออมเงินลดลงตามไปด้วย

แม้ปัญหาหนี้ครัวเรือนดูจะเป็นเรื่องเรื้อรังและยากที่จะแก้ไข แต่เราเริ่มจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์บ้างแล้ว จากสัญญานการฟื้นตัวของภาคบริการจากการจ้างงานเนื่องจากความต้องการแรงงานในภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น เมื่อไม่นานมานี้ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ได้ประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกว่า 30 ล้านคน เดินทางเข้าประเทศไทยในปี 2566 นี้

ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ให้ประเทศเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 3 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์นี้ซึ่งเป็นหนึ่งในเทศกาลของไทยที่โด่งดังไปทั่วโลกและสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้มาเยี่ยมเยียนได้ทุกปี รายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นนี้น่าจะช่วยเยียวยาปัญหาหนี้ครัวเรือนได้บ้างในระยะสั้น

ทั้งนี้ ขณะที่โควิด-19 ได้ทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนทวีความรุนแรงมากขึ้นจนเกือบจะถึงระดับที่เรียกได้ว่า “กู่ไม่กลับ” แล้ว เราจะเห็นความพยายามของภาครัฐในการสู้กับปัญหานี้ผ่านหลายมิติ ตั้งแต่การให้ความช่วยเหลือเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้และพักชำระหนี้ การออกกฎเกณฑ์กำกับดูแลสถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงการส่งเสริมความรู้และวินัยทางการเงิน

นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลยังเร่งสร้างมาตรการการแก้หนี้อย่างยั่งยืนโดยมุ่งเน้นให้สถาบันการเงินปล่อยหนี้ใหม่ให้มีคุณภาพผ่านเกณฑ์การให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Lending) กำหนดเกณฑ์การให้สินเชื่อเท่าที่ลูกหนี้สามารถจ่ายคืนได้และมีเงินเหลือพอดำรงชีพ สร้างแรงจูงใจให้เจ้าหนี้สินเชื่อรายย่อยมีกลไกกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ และผลักดันให้มีการรายงานข้อมูลเครดิตของลูกหนี้ให้กับเจ้าหนี้ทุกราย เป็นต้น

ผลกระทบของหนี้ครัวเรือนต่อการพัฒนาสังคมนั้นเป็นประเด็นที่ซับซ้อนและมีหลายแง่มุม แม้การเป็นหนี้ในระดับที่สามารถจัดการได้จะเป็นผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุน แต่การมีหนี้มากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อทั้งระดับบุคคล ครอบครัว และประเทศชาติ

สิ่งสำคัญที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องให้ความสำคัญคือต้องเร่งส่งเสริมความรู้ด้านการเงินกับประชาชน (Financial Literacy) และสนับสนุนมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับช่วยให้ลูกหนี้สร้างรายได้ หากเราสามารถทำเช่นนี้ได้ ระบบเศรษฐกิจที่เท่าเทียมและยั่งยืนจะเกิดขึ้นในไม่ช้าอย่างแน่นอนครับ