มองเจ้าของ "คลองมะเดื่อ" นครนายก เห็นอะไร?

มองเจ้าของ "คลองมะเดื่อ" นครนายก เห็นอะไร?

การแสดงความหวงแหนท้องถิ่นอย่างแรงกล้าของ “ชาวคลองมะเดื่อ” ก่อให้เกิดข้อคิดและคำถามตามมามากมายในหลายมิติ

ในเบื้องแรก คลองมะเดื่อเป็น 1 ใน 7 พื้นที่รอบอุทยานเขาใหญ่ ซึ่งกำลังถูกภาครัฐเสนอให้สร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ เขื่อนและอ่างเก็บน้ำจะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศในท้องถิ่น รวมทั้งบางส่วนของเขตอุทยานและความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

แต่เป็นที่ประจักษ์ว่า ชาวคลองมะเดื่อเท่านั้นที่รวมตัวกันออกต่อต้านการสร้างดังกล่าว จึงเกิดปริศนาว่าเพราะอะไร ผมได้คำตอบส่วนหนึ่งตอนเข้าไปในพื้นที่คลองมะเดื่อเมื่อสัปดาห์ก่อน

เขื่อนกั้นคลองมะเดื่อและอ่างเก็บน้ำจะทำให้ชาวบ้านในย่านนั้นถูกขับไล่ออกจากบ้าน ยังผลให้ต้องละทิ้งวิถีชีวิตอันมั่นคงและสงบสุขมาหลายชั่วคน ชาวบ้านกลุ่มนี้จึงออกมาต่อต้านโครงการสร้างเขื่อน อย่างไรก็ดี มีเจ้าของที่ดินอีกส่วนหนึ่งซึ่งสนับสนุนโครงการ เจ้าของที่ดินเหล่านั้นมักเป็นเศรษฐีที่เข้าไปกว้านซื้อที่ดินจำนวนมากเมื่อทราบว่ารัฐบาลจะสร้างเขื่อน ซึ่งต้องมีการเวนคืนที่ดินตามค่าอันเป็นฐานของการประเมิน เพื่อเพิ่มค่าให้แก่ที่ดินที่ได้ซื้อไว้

พวกเศรษฐีจึงทำสวนผลไม้หลอกไว้โดยการปลูกต้นไม้ผลแบบไม่หวังจะเก็บเกี่ยวผล หากเพื่อนับจำนวนต้นในการประเมิน เจตนาของพวกเขาเป็นที่ประจักษ์จากต้นไม้ผลจำนวนมากที่ปลูกไว้ติดๆ กัน ต่างกับในสวนของชาวบ้านซึ่งปลูกไว้ในระยะห่างๆ ตามหลักการปลูกต้นไม้ผล

ข้อมูลนี้ชี้ว่าในพื้นที่ซึ่งไม่มีการต่อต้านเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ บางแห่งคงถูกพวกนายทุนกระสือเข้าไปกว้านซื้อและปลูกต้นไม้ไว้ในแนวดังกล่าว พวกกระสือกว้านซื้อที่ดินเพราะรู้ข้อมูลของภาครัฐล่วงหน้าเป็นปรากฏการณ์ที่มีมาช้านาน

นักการเมือง ข้าราชการและเศรษฐีผู้สร้างความร่ำรวยด้วยวิธีมักง่ายแบบไร้ความเสี่ยงในแนวนี้ มีผลในด้านการบิดเบือนเป้าหมายพื้นฐานของการพัฒนามานาน จึงมี ปรากฏการณ์ “ทันสมัย ไม่พัฒนา” และ “ยิ่งพัฒนา ยิ่งเหลื่อมล้ำ” ที่คนเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดขึ้น

ใน จ.นครนายกซึ่งภาครัฐจัดให้เป็นพื้นที่สีเขียวมานาน การต่อต้านโครงการในนามของการพัฒนาในขณะนี้มิใช่มีที่คลองมะเดื่อแห่งเดียว หากยังมีในพื้นที่อื่นด้วย เช่น ในย่านดอนยอ มีการต่อต้านการสร้างเล้าหมูและเล้าไก่ขนาดใหญ่ ในพื้นที่ใกล้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีการต่อต้านการก่อสร้างโรงงานปฏิกรณ์นิวเคลียร์

นับเป็นสัญญาณที่ดีที่ผู้คนในท้องถิ่นแสดงความเป็นเจ้าของท้องถิ่นของตนอย่างแรงกล้า โดยการออกมาต่อต้านโครงการต่างๆ ที่จะมีผลกระทบร้ายแรงต่อท้องถิ่นของตน อย่างไรก็ดี ยังมีสิ่งที่น่าขบคิดต่อไปอีก

เช่น ในกระบวนการพัฒนา การแสดงความเป็นเจ้าของด้วยการต่อต้านอย่างเดียวไม่พอ หากต้องแสดงออกมาอย่างแรงกล้าโดยการเข้าไปมีส่วนในกระบวนการพัฒนาโดยตรงด้วย ประเด็นนี้มีตัวอย่างมากมาย

ในด้านการศึกษา เราท่องกันแบบคล่องปากมานานเรื่องบทบาทของ “บ้าน วัด และโรงเรียน” หรือ “บ.ว.ร.” ในการขับเคลื่อนการศึกษาพื้นฐานของชาติ แต่ความจริงชี้ชัดว่า เราท่องกันแบบนกแก้วนกขุนทองเหมือนท่องคาถากันผีเท่านั้น ไม่ต่างกับการท่องศีลห้า หรือแม้แต่การทำกิจกรรมจำพวกขึ้นป้ายถ่ายรูปสำหรับเผยแพร่ทางสื่อสังคมแล้วจบกัน

เราทำสิ่งดังกล่าวเพราะเราหลอกตัวเองจนเคย การหลอกตัวเองมีผลต่อการพัฒนาซึ่งประเทศของเราต้วมเตี้ยมมาตั้งแต่ครั้งเราเปิดประเทศรับความคิดของฝรั่งพร้อมๆ กับญี่ปุ่นในสมัย ร.4 เพียงไม่นาน ญี่ปุ่นหนีเราไปไกลแบบไม่เห็นฝุ่น ต่อด้วยเกาหลีใต้และจีน ลำดับต่อไปคงเป็นเวียดนาม

การแสดงความเป็นเจ้าของในพื้นที่ต่างๆ ดังกล่าวแม้จะดี แต่มีความจำกัดมากเนื่องจากดูแล้วแทบมองไม่เห็นเมื่อประเด็นเป็นระดับชาติ เช่น ในภาคการเมืองซึ่งมีความฉ้อฉลของบุคคลในแวดวงการเมืองกำลังทำลายชาติเป็นที่ประจักษ์

เราส่วนใหญ่รับได้ใช่ไหมจึงไม่แสดงความเป็นเจ้าของอย่างแรงกล้าถึงกับออกมาต่อต้าน? การอ้างว่า “บ้านเมืองไม่ใช่ของเราคนเดียว” หรือ “เราคนเดียวจะทำอะไรได้” เป็นความมักง่ายประจำชาติ

การไม่แสดงความเป็นเจ้าของอย่างแรงกล้าเป็นอุปสรรคของการพัฒนาทุกระดับ