Bottom Out หรือ Bear Market Rally

เดือน ก.ค. เป็นเดือนที่นักลงทุนที่มีพอร์ตต่างประเทศหลายๆ ท่านน่าจะรอคอย เนื่องจากผลตอบแทนของดัชนีหลักทั้ง 3 ดัชนีของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น S&P500, Dow Jones และ NASDAQ ต่างฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โดยเป็นการฟื้นตัวในรอบ 1 เดือน ดีที่สุดในรอบกว่า 2 ปี นับตั้งแต่รอบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปี 2563  ทำให้เกิดคำถามมากมายว่านี่เราผ่านจุดต่ำสุด หรือ Bottom Out กันไปแล้วหรือยัง หรือเป็นเพียงการฟื้นตัวชั่วคราวที่เรียกกันว่า Bear Market Rally ซึ่งจะเป็นแค่การฟื้นตัวในตลาดขาลงก่อนจะปรับตัวลดลงทำจุดต่ำสุดใหม่อีกครั้ง ซึ่งทั้งคู่ก็จะมีส่วนสำคัญต่อการปรับพอร์ตในช่วงถัดไป

คำถามดังกล่าวอาจจะเป็นการยากที่จะฟันธงให้แน่ชัด แม้แต่นักวิเคราะห์หรือนักลงทุนที่เชี่ยวชาญในปัจจุบันก็ยังอาจจะแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เชื่อว่าตลาดหุ้นน่าจะพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว แม้อาจจะฟื้นตัวไม่แรงจากปัจจัยเสี่ยงที่ยังรุมเร้า แต่เรื่องของเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้นสะท้อนอยู่ในระดับราคาไปหมดแล้ว และสถานะการณ์โดยรวมน่าจะเริ่มดีขึ้นต่อเนื่อง

กับฝ่ายที่เชื่อว่าการฟื้นตัวจะเป็นเพียงช่วงสั้น เนื่องจากเชื่อว่าเศรษฐกิจถดถอยที่แท้จริงมีโอกาสเกิดขึ้นในปีหน้า กับความไม่แน่นอนจากเรื่องของนโยบายการเงินต่างๆ ที่รออยู่ ยังไม่นับปัจจัยที่ไม่คาดคิดที่อยู่ๆ ก็เป็นประเด็นสร้างความกังวลขึ้นมา เช่น การไปเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรพรรคเดโมแครต ที่ทำให้ประเด็นทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และจีนร้อนระอุขึ้นมากอีกครั้ง และอาจส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจจากท่าทีและนโยบายที่เปลี่ยนไปในอนาคตอันใกล้

โดยหากพิจารณาปัจจัยบวกลบของตลาดในช่วงถัดไป ปัจจัยบวกยังเป็นเรื่องของโมเมนตัมที่อาจเป็นแรงส่งให้ดัชนีปรับตัวขึ้นต่อได้ โดยข้อมูลในอดีตชี้ให้เห็นว่าหากเดือนใดก็ตามที่ตลาดหุ้นปรับตัวมากกว่า 5% ในเดือนถัดๆ ไปผลตอบแทนโดยเฉลี่ยจะยังเป็นบวกต่อเนื่องไปอีกซักระยะหนึ่ง

ในขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 2 ของบริษัทจดทะเบียนในดัชนี S&P500 ก็ออกมาในเกณฑ์ดี โดยราวๆ 75% ของบริษัทจดทะเบียน (ล่าสุด 432 จากทั้งหมด 498 บริษัท) ประกาศผลประกอบการออกมาสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ และกระจายไปในหลายๆ อุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีที่ได้รับแรงกดดันค่อนข้างมาก

นอกจากนี้หลายๆ ฝ่ายก็ยังเชื่อว่าเงินเฟ้อน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และเริ่มลดประมาณการแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ลง ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ 2.80% เมื่อเทียบกับจุดสูงสุดที่ 3.47%

ในช่วงเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นการสะท้อนแนวโน้มดอกเบี้ยและเงินเฟ้อในระยะยาวที่ลดลงผสมกันไป ซึ่งทั้งคู่เป็นผลดีต่อตลาดหลักทรัพย์เนื่องจากดอกเบี้ยเป็นต้นทุนทางการเงิน และเงินเฟ้อเป็นปัจจัยลบต่อรายได้และกำไรสุทธิ

หันมามองทางด้านปัจจัยลบกันบ้าง โดยเฉพาะดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเงินเฟ้อที่น่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปอีกระยะเวลาหนึ่งนั้นจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทำให้แรงกดดันต่อตลาดหุ้นน่าจะยังมีอยู่

โดยหากมองย้อนไปถึงตลาดหมีของดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ในอดีตนับตั้งแต่ปี 1929 จะพบว่าโดยเฉลี่ยดัชนีจะทำจุดต่ำสุด 9.4 เดือนหลังจากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยและ 4.3 เดือนก่อนที่ภาวะดังกล่าวจะสิ้นสุดลดง ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรอบนี้ยังไม่เกิดขึ้นเสียด้วยซ้ำ (ไม่นับรวม Technical Recession ซึ่งวัดเฉพาะ GDP เพียงด้านเดียว) ในขณะที่ด้านมูลค่าวัดจากหลายๆ มุมมองก็ยังอยู่ในระดับปานกลางหรือค่อนข้างไปทางสูง เช่น Forward Price-to-Earnings Ratio ของดัชนี S&P500

ในปัจจุบันอยู่ที่ 18.2 เท่า ต่ำกว่าระยะยาวไม่มาก เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ 19.8 เท่า หรือใช้มุมมองในการลงทุนที่ยาวขึ้นโดยใช้กำไรต่อหุ้น (Earning per Share) เฉลี่ย 10 ปี หักด้วยเงินเฟ้อในแต่ละช่วงก็ยังอยู่ระดับที่ค่อนข้างสูงเสียด้วยซ้ำ โดยระดับปัจจุบันอยู่ที่ 29.5 เท่ากับกับค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปีที่ 24.6 เท่า

นอกจากนี้แนวโน้มผลประกอบการในช่วงไตรมาสต่อๆไปก็มีแนวโน้มลดลงตามภาวะเศรษฐกิจซึ่งก็จะทำให้ระดับมูลค่าการซื้อขายดูแพงขึ้นไปอีก ส่วนภาวะตลาดการเงินในไตรมาส 3 มองย้อนหลังไป 25 ปี

โดยเฉลี่ยจะพบว่าเดือน ส.ค. และ ก.ย. มักจะเป็นเดือนที่ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับเดือนอื่นๆ (ติดลบ 0.6% และ 0.7% โดยเฉลี่ย) และยังมีประเด็นเรื่องของการเลือกตั้ง (Midterm Election) ของสหรัฐฯ ที่กำลังใกล้เข้ามา ซึ่งจะเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นอาจจะเคลื่อนไหวในกรอบเนื่องจากมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของนโยบายภาครัฐฯ ตามผลการเลือกตั้งที่ออกมา

ภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นในปัจจุบันมีความแตกต่างจากอดีตในหลายๆมุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นในจุดที่ภาคแรงงานยังคงค่อนข้างแข็งแกร่ง หรือแม้แต่ผลประกอบการของหุ้นที่ยังออกมารวมๆ ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง ในขณะที่ราคากลับสวนทาง

โดยตลาดจะเป็น Bear Market Rally หรือไม่ หรือ Bottom Out ก็อาจจะต้องขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจและนโยบายทั้งการเงินการคลัง รวมถึงปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศต่างๆ ที่น่าจะเด่นชัดขึ้นในไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด