AI แก้วิกฤติองค์กรได้ไหม?

AI แก้วิกฤติองค์กรได้ไหม?

การเติบโตอย่างมหาศาลของ AI ทำให้หลายๆ องค์กร หลายๆ บริษัท กลัวจะตกขบวน

พลังในการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ถูกพัฒนามาอย่างยาวนาน แต่มันก็เป็นเพียงเครื่องจักรที่ไม่มีสติปัญญา ไม่สามารถตระหนักรู้และไม่รู้จักคิดได้ด้วยตัวเอง จนกระทั่งปี 1997 คอมพิวเคอร์ดีพบลู ของไอบีเอ็มสามารถเอาชนะแชมป์โลกหมากรุกคือแกรี คาสปารอฟได้เป็นครั้งแรกในโลก

หลังจากนั้นเป็นต้นมา โลกก็เริ่มคุ้นเคยกับคำว่าปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่ย่อมาจากคำว่า Artificial Intelligence อันหมายถึงคอมพิวเตอร์ที่รู้จักคิดได้เอง 

โดยหลังปี 2012 เราก็ได้รู้จักเรื่องของ Machine Learning อันหมายถึงการถ่ายทอดข้อมูลและความรู้ต่างๆ ให้คอมพิวเตอร์เพื่อคิดและตัดสินใจแทนมนุษย์ได้

ในมุมมองของคนทั่วไปจะเห็นความก้าวหน้าของระบบ AI จากแอพลิเคชันอันทันสมัยต่างๆ เช่นระบบจดจำใบหน้า ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น อาคารสำนักงานรุ่นใหม่ที่นิยมใช้ใบหน้าบันทึกเวลาเข้าทำงานหรือระบบยืนยันตัวตนเพื่อรักษาความปลอดภัย

เช่นเดียวกับธนาคารและสถาบันการเงินหลายๆ แห่งก็เตรียมใช้ระบบยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าเพื่อการทำธุรกรรมเช่นเปิดบัญชี ซึ่งในอนาคตก็จะเห็นการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้นรวมไปถึงการถอนเงินที่ตู้เอทีเอ็มทำให้ลูกค้าไม่ต้องจดจำรหัสที่ยุ่งยากอีกต่อไป

รวมไปถึงระบบการจดจำด้วยเสียง และการใช้งานด้วยคำสั่งเสียง ซึ่งกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้วในทุกวันนี้ ซึ่งเป็นการทะลุขีดจำกัดเดิมๆ ทำให้สิ่งที่เราเคยจินตนาการกันไว้หรือมีให้เห็นเพียงนิยายวิทยาศาสตร์กลายเป็นสิ่งที่ใช้งานได้จริงในปัจจุบัน

เมื่อเทคโนโลยีด้าน AI, Big Data, IoT ก้าวหน้าขึ้น คนทั่วไปก็เริ่มเห็นถึงพลังในการประมวลผลและการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์ ความวิตกกังวลถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นก็เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น โดยเฉพาะอาชีพดั้งเดิมจำนวนมากที่อาจถูก AI เข้ามาทำงานแทนที่

เพราะภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมมองเห็นประโยชน์ของ AI ที่สามารถเข้ามาทำงานหลายๆ อย่าง ที่เน้นการทำงานซ้ำๆ หรือการทำงานตามระบบ ไม่จำเป็นต้องใช้วิจารณญาณมากนัก จึงช่วยลดจำนวนพนักงานและลดค่าใช้จ่ายลงได้มหาศาล

ธุรกิจขนาดใหญ่จึงหันมาลงทุนในด้าน AI กันอย่างคึกคัก รวมไปถึงการลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพด้าน AI, Big Data ของเหล่านักลงทุนทั้งที่เป็นสถาบัน หรือนักลงทุนอิสระ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงในบ้านเรา

แต่การเติบโตอย่างมหาศาลของเทคโนโลยี AI ทำให้หลายๆ องค์กร หลายๆ บริษัท กลัวจะ “ตกขบวน” จึงหันมาลงทุนด้านนี้กันอย่างฉุกละหุก โดยที่ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า AI คืออะไร และจะเข้ามาช่วยงานเราได้อย่างไร

ผลก็คือการลงทุนโดยไม่ได้รู้ความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง หรือหวังให้ AI เป็นพระเอกขี่ม้าขาว เข้ามาช่วยให้บริษัทผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบันไปได้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยเพราะเรายังไม่รู้จักมันดีพอ ซึ่งปัญหานี้แก้ได้ไม่ยากด้วยการ “เรียนรู้” แก่นแท้ของมันให้มากที่สุด 

รายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้นติดตามต่อในฉบับหน้าครับ.....