ทัศนคติรับการเปลี่ยนแปลง (จบ)

ทัศนคติรับการเปลี่ยนแปลง (จบ)

การคิดเชิงลบไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาใดๆ กลายเป็นนิสัยที่ชอบกล่าวโทษทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว จิตใจเต็มไปด้วยความอิจฉา ความคับข้องใจ ทำให้เราขาดพลังที่จะใช้ในการก้าวเดินไปข้างหน้า

อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของบ้านเราคือ “ทัศนคติในการปรับตัว” ซึ่งเรามีคะแนนค่อนข้างน้อยส่งผลให้อันดับของประเทศไทยในเวทีโลกต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งการปรับตัวในที่นี้ครอบคลุม ทั้งส่วนบุคคลและองค์กรธุรกิจที่เรามักเลือกที่จะทำแบบเดิม ๆ มากกว่าลงทุนทำสิ่งใหม่

Think out of The Box ฉบับที่แล้วเกริ่นถึงแนวทางที่น่าจะช่วยให้การปรับตัวของเราเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น 3 ข้อนั่น คือ การ ต้องแยกแยะระหว่างปัจจัย ที่เราสามารถควบคุมได้กับปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ กับต้องควบคุมอารมณ์ให้ดียิ่งขึ้น และรับมือกับฝ่ายตรงข้ามให้ดียิ่งขึ้น

ต่อกันในข้อที่ 4 ต้องรู้จักจัดการกับความคิดเชิงลบ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม คู่แข่ง ซัพพลายเออร์ ฯลฯ ที่เรามักโทษว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เราล้มเหลว ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วอาจมาจากตัวเองที่บริหารจัดการได้ไม่ดี ไม่ติดตามงานอย่างใกล้ชิด ไม่จัดลำดับความสำคัญของงาน

การคิดเชิงลบไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาใด ๆ ที่จะทำให้เรามีความรู้ความเชี่ยวชาญมากขึ้น กลายเป็นนิสัยที่ชอบกล่าวโทษทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว จิตใจเต็มไปด้วยความอิจฉา ความคับข้องใจ ทำให้เราขาดพลังที่จะใช้ในการก้าวเดินไปข้างหน้า

ข้อ 5 เชื่อมั่นว่าทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ดีขึ้นได้อีก เช่นเดียวกับปัญหาและอุปสรรคที่อยู่ตรงหน้าก็สามารถจัดการให้สำเร็จได้ อย่าปล่อยให้ความล้มเหลวในอดีตทำให้เราไม่กล้าก้าวเดินไปข้างหน้า และอย่ามองทุกโอกาสที่ผ่านเข้ามาเป็นอุปสรรคไปเสียหมด

ข้อ 6 เข้าใจธรรมชาติของปัญหาและมองเห็นเป็นความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ยากลำบากที่สุด และช่วงที่มีปัญหาถาโถมเข้ามามากที่สุด จนหลาย ๆ คนอาจถอดใจยอมยกธงขาว แต่ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของมันก็จะรู้ว่านี่เป็นจุดที่ใกล้ความสำเร็จมากที่สุดแล้ว

ข้อ 7 อย่าทำงานที่ก่อให้เกิดความทุกข์กายทุกข์ใจ หรืองานที่ทำให้ชีวิตไม่มีความหวัง โดยเฉพาะงานที่ดูเหมือนจะใหญ่เกินตัวจนเกินความสามารถ ต้องเปลี่ยนมุมมองและแยกงานออกเป็นส่วนต่างให้เล็กลง เพราะความสำเร็จจากงานเล็ก ๆ จะเป็นกำลังใจให้เราพบกับความสำเร็จที่ใหญ่ขึ้นได้เสมอ

เช่นเดียวกับเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารที่ต้องรู้จักบริหารจัดการงานต่าง ๆ อย่าปล่อยให้คนในทีม ต้องเจอกับภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก แต่ต้องทำให้เขามองเห็นว่าปัญหาและอุปสรรคที่อยู่ข้างหน้าจัดการได้เสมอ

ข้อ 8 อย่าตั้งคำถามแต่เพียงว่า “ทำไม” เช่นทำไมเพื่อนเราถึงประสบความสำเร็จ แต่ตัวเองกลับย่ำอยู่กับที่ ทำไมงานที่ทำอยู่ถึงไม่น่าสนใจ ทำไมปัญหาที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ถึงจัดการไม่ได้ ฯลฯ แต่เปลี่ยนมุมมองของคำถามนั้นให้เป็นอีกด้านหนึ่งนั่นคือ “เราทำเต็มที่แล้วหรือยัง”

หากเรายังไม่สำเร็จตามที่เคยคิดฝันเอาไว้ ก็ต้องคิดว่าเราพยายามเต็มที่แล้วหรือยัง เช่นเดียวกับปัญหาเฉพาะหน้าที่จัดการได้ไม่ดีนัก ก็ต้องคิดว่าเราพยายามแก้ไขมันเต็มที่แล้วหรือยัง เพราะการคิดแบบนี้ จะทำให้เราเห็นข้อเท็จจริงมากขึ้นว่าเรายังทำอะไรให้ดีขึ้นอีกได้ไหม

หากยังทำให้ดีขึ้นอีกได้ เราก็ควรรีบลงมือทำทันที แต่หากเราพยายามอย่างเต็มที่ทุกวิถีทางแล้วก็ถือว่านั่นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เช่นหน้าที่การงานของเราอาจไม่โดดเด่นเท่าเพื่อนฝูง แต่หากเราทำทุกอย่างเต็มที่ในสถานการณ์ที่จำกัดอยู่ ก็ถือว่าเราอยู่ในจุดที่เหมาะสมดีแล้ว

แม้เราอาจไม่ได้อยู่ในบริษัทใหญ่โตทันสมัยน่าทำงานด้วย แต่เราก็ยังมีครอบครัวที่อบอุ่น มีลูกน่ารัก ทำให้เรามีความสุขทุกครั้งที่ได้กลับบ้าน ซึ่งความคิดแบบนี้ทำให้เราพึงพอใจในชีวิตและทำให้มีกำลังใจที่จะทำงานใหญ่ รับความสำเร็จในอนาคตได้มากขึ้น

แง่คิดทุกข้ออาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตเราได้ทันทีทันใด แต่มันจะเป็นจุดเล็กๆ ที่ทำให้เรามีทัศนคติต่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และกล้าที่จะรับความท้าทายต่อความผันผวนในอนาคตได้มากขึ้นเช่นกัน