บทสรุปพฤติกรรมผู้บริโภคจีน ช้อปปิ้งออนไลน์ 2021 สู่ 2022

บทสรุปพฤติกรรมผู้บริโภคจีน ช้อปปิ้งออนไลน์ 2021 สู่ 2022

คนจีนสนใจสินค้าจากไทยมากขึ้น หลังจากมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาท่องเที่ยว

พฤติกรรมของผู้บริโภคในโลกออนไลน์ทั่วโลก หลังจากวิกฤติโควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งในแบบที่ถูกบังคับให้เปลี่ยนบ้าง ปรับตัวบ้าง ธุรกิจได้รับผลกระทบบ้าง ซึ่งก็มีหลายอย่างที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับพฤติกรรมผู้บริโภคในจีน โดยเฉพาะตลาดออนไลน์ มาดูกันครับว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง จากปี 2021 และคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2022 นี้

คนจีนมีการใช้จ่ายเงินทางออนไลน์เพิ่มขึ้นมาก : โดยแอพพลิเคชั่นที่ใช้งานเพื่อทำธุรกรรมสูงสุดคือ อาลีเพย์ ตามด้วย WeChatPay ขณะที่ แพลตฟอร์มเฉพาะทางด้านอื่นๆ ก็มีผู้ใช้งานมากขึ้นเช่นกัน

ระยะเวลาโดยเฉลี่ยของการใช้งานแพลตฟอร์มต่างๆ ของคนจีนมีแนวโน้มที่จะ “กระจัดกระจาย” : เพราะขณะนี้มีแพลตฟอร์มจำนวนมาก คนใช้งานคล่องขึ้น กลายเป็นว่าคนจีนเวลานี้ (และอาจจะทั้งโลก) นิยมใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์หลักๆ มากกว่า 3-4 ตัวขึ้นไป

วัยรุ่นจีน โดยเฉพาะคนรุ่นอายุ 20-35 หรือว่าจะไปแล้วครอบคลุมทั้งกลุ่ม Gen X Y Z กำลังมีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้าจากแบรนด์ของจีนเองมากขึ้น : รวมไปถึงสินค้าในท้องถิ่น ทั้งยังมีแง่มุมที่หันมาสนับสนุนแบรนด์ของจีน และแอนตี้แบรนด์จากตะวันตกบางยี่ห้อไปด้วย กระแสนี้เรียกว่า China-Chic

กระแสแอนตี้สินค้าแบรนด์เนมดังๆ ไม่ได้เป็นทุกแบรนด์ : มีหลายแบรนด์ดังของตะวันตกที่สามารถครองใจชาวจีนได้ เช่น แอ๊ปเปิ้ล ซึ่งคนจีนชอบทั้งตัวแบรนด์ ความหรูหรา คุณภาพสินค้า และการเป็นสาวกของแบรนด์

สนใจแบรนด์ต่างชาติในอาเซียน : เช่น คนจีนให้ความสนใจสินค้าจากไทยมากขึ้นหลังจากมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยและแห่ซื้อกัน เช่นกลุ่มบิวตี้ของ Buffet Beauty หรือ หมอนยางพารา ทุเรียนหมอนทอง นมอัดเม็ดสวนจิตรลดา

มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้บริโภคจีนราว 35% จากการสำรวจของ CIW มีความเชื่อว่า แบรนด์ใหญ่ๆ ควรต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมในภาพรวมมากขึ้น ดังนั้นในยุคนี้การทำประชาสัมพันธ์จึงมีความจำเป็นมากไม่แพ้ในอดีต

ผู้บริโภคจีนกว่า 80% ไม่ได้เอาเกณฑ์เรื่องราคามาตัดสินใจเลือกซื้อของจากแบรนด์ต่างๆ เท่านั้น แต่มองไปถึง ประโยชน์ การใช้งาน และชื่อเสียงของแบรนด์นั้นด้วย

สำหรับแบรนด์และองค์กรขนาดใหญ่ ผู้บริโภคชาวจีนมองว่า ต้องมีสำนึกต่อส่วนรวมและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยสารที่ทำลายธรรมชาติ  เรื่องฝุ่น Pm2.5 และอื่นๆ ก่อนหน้านี้ทางการจีนได้ออกมาตรการบังคับให้โรงงานทางเหนือกว่า 500 แห่งต้องปิดปรับปรุงระบบการใช้พลังงานมาเป็นแบบพลังงานแสงอาทิตย์

ปัจจุบัน แพลตฟอร์มออนไลน์ที่นิยมใช้งานที่สุดนั้น ส่วนใหญ่นิยมใช้ผ่านทางสมาร์ทโฟนเป็นหลัก ดังนั้นแพลตฟอร์มออนไลน์ยุคใหม่ๆ รวมถึงกลุ่มโซเชียลมีเดียต้องเน้นรองรับบนสมาร์ทโฟน

สินค้าประเภท ความสวยงาม บิวตี้ สกินแคร์ เครื่องสำอาง ยังเป็นกลุ่มที่ติดความนิยม ฮิตฮอตอันดับต้นๆ ในตลาดจีนออนไลน์ ซึ่งมียอดขายที่สูงมากทั้งในเถาเป่า ทีมอลล์

แม่ค้าออนไลน์ถ้าไม่ทำ Live ขายของ หรือรีวิว ถือว่าตกเทรนด์อย่างแรง เพราะนี่คือรูปแบบที่มีโอกาสเพิ่มยอดขายได้มากกว่าที่คาดคิด

บรรดา Influencer ในจีน มีหลายระดับ แต่กลุ่มที่มาแรงมากคือกลุ่มของ Micro ที่ไม่จำเป็นต้องมีผู้ติดตามมหาศาลหรือมีค่าตัวแพง แต่สามารถรีวิวสินค้าได้น่าสนใจ ดูน่าเชื่อถือ และอินกับสินค้าเหล่านั้นจริงๆ เช่น หลี่เจี่ยฉี เจ้าของฉายา ลิปสติกคิง

กระแสชาตินิยมจีนมาแรงมาก ดังนั้นบรรดาแบรนด์และ Influencer ต้องระวังให้มาก หากนำเสนอคอนเทนท์ที่ละเอียดอ่อน หรือมีความเกี่ยวโยงกับประเด็นเหล่านั้น เพราะอาจจะถูกแอนตี้ได้นั่นเอง

สุดท้ายแล้ว คอนเทนท์ยังคงสำคัญเสมอ เพราะเป็นตัวสื่อสารกับลูกค้าชาวจีน

Baidu มักถูกมองข้ามจากคนทำตลาดนอกประเทศ ที่จริงแล้การใช้กลยุทธ์ SEO เพื่อปั้นอันดับของเว็บไซต์ให้ติด Baidu หรือการซื้อโฆษณา มีความสำคัญมากๆ ไม่แพ้การโช้โซเชียลมีเดียและแพลทฟอร์มออนไลน์อื่นๆ เลย

สินค้าบางประเภทที่ส่งออกไปจีนยังต้องระวัง ในแง่ของการก็อปปี้ เอเจนซี่ที่ไม่น่าเชื่อถือ และการตีเรื่องราคาจากสินค้าราคาถูกของจีนในเวลานี้