3 ปัจจัยที่ต้องจับตามองสำหรับตลาดหุ้นโลกในไตรมาส2

3 ปัจจัยที่ต้องจับตามองสำหรับตลาดหุ้นโลกในไตรมาส2

ผ่านพ้นกันไปแล้วกับไตรมาสแรกปี 2022 ซึ่งนับได้ว่าเป็นไตรมาสที่ไม่ดีนักสำหรับตลาดหุ้นโลก จากความเสี่ยงที่เพิ่งขึ้นทั้งจากนโยบายการเงิน สงคราม รวมถึงเงินเฟ้อที่ยังคงไม่มีทีท่าชะลอตัวลง ทำให้หลายๆ ดัชนีหลักปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ในขณะที่ความเสี่ยงต่างๆ ยังต่อเนื่องมาถึงไตรมาสสอง ทำให้เรายังคงต้องจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดกันต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้

  1. ผลกระทบทางตรงและทางอ้อมของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

ผลกระทบของปัญหาระหว่างรัสเซียและยูเครนจนถึงปัจจุบันอาจจะยังดูไม่มากนัก แต่หากปัญหายังคงยืดเยื้อหาข้อสรุปไม่ได้ และนำมาซึ่งมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม รวมถึงประเด็นเรื่องของราคาน้ำมันและราคาอาหาร ก็จะสร้างแรงกดดันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ (1) ผลกระทบโดยตรงต่อประเทศที่เป็นคู่ค้าของรัสเซียและยูเครน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรป

(2) การส่งผ่านผลกระทบทางราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ และราคาอาหาร (3) ผลกระทบต่อความเชื่อมั่นโดยรวม และถึงแม้ว่าอาจจะเจรจาตกลงกันได้ในระยะสั้น แต่ผลกระทบต่อความขัดแย้ง มาตรการคว่ำบาตรต่างๆ ระหว่างรัสเซียและกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป หรือประเทศพันธบัตรอื่นๆ ของ NATO ก็น่าจะต่อเนื่องยืดเยื้อต่อเรื่อง และอาจจะเป็นระยะเวลาหลายปีนับจากนี้ ทำให้เศรษฐกิจในบางภาคส่วนอาจต้องการเวลาในการปรับตัว โดยผลกระทบต่อเศรษฐกิจน่าจะชัดเจนมากขึ้นในไตรมาสสอง ซึ่งสุดท้ายก็จะส่งผลต่อภาพรวมของตลาดหุ้น

โดยในปัจจุบันสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือการที่นักวิเคราะห์และสถาบันการเงินมีการปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจหลักๆ อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตได้เพียง 3.50% ในปีนี้ เทียบกับช่วงต้นปีที่คาดว่าจะขยายตัวได้สูงถึง 4.40% (ข้อมูลจาก Bloomberg ณ วันที่ 11 เม.ย. 65)

สหรัฐฯ 3.25% จาก 3.90% ยูโรโซน 3.00% จาก 4.20% และญี่ปุ่น 2.25% จาก 2.80% ในขณะที่คาดว่าราคาน้ำมันดิบ West Texas Intermedia จะอยู่ที่ 95.21 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล เทียบกับต้นปีที่เคยคาดไว้เพียง 73.59 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล

  1. นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และผลกระทบของการทำนโยบาย QT

ความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินย่อมส่งผลโดยตรงต่อความผันผวนในตลาดการเงิน ในขณะที่นักวิเคราะห์และสถาบันการเงิน ยังคงปรับประมาณการแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปลายปีที่แล้วที่มีการคาดไว้ว่าอาจจะมีการขึ้นเพียง 3-4 ครั้ง ครั้งละ 0.25% หรือทั้งปีอาจจะขึ้นราว 1.00% เป็นมากถึง 2.00-2.50% ในปัจจุบัน สอดคล้องกับท่าทีของธนาคารกลางที่แสดงความเต็มใจมากขึ้นที่จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธนาคารกลางสหรัฐฯ เองก็ไม่ได้พูดถึงการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วในขนาดที่มีการพูดถึงอย่างชัดเจนนัก เนื่องจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนจากความกังวลที่เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในช่วงเดือนที่ผ่านมา คือ เรื่องของ Inverted Yield Curve ที่ในอดีตมักจะส่งสาญภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วง 6-24 เดือนข้างหน้า โดยหากตลาดเงินคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ “Behind the Curve” กล่าวคือ ขึ้นดอกเบี้ยช้าเกินไปที่จะควบคุมเงินเฟ้อ ก็น่าจะทำให้ตลาดโดนเทขายออกมากอีกระลอก เนื่องจากเงินเฟ้อที่ควบคุมไม่ได้จะส่งผลเสียอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจ ส่วนการลดขนาดงบดุล หรือ การทำ Quantitative Tightening (QT) ที่น่าจะเริ่มต้นขึ้นในการประชุมเดือน พ.ค. เป็นต้นไป ก็อาจทำให้สภาพคล่องลดลง และผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้น ซึ่งทั้งคู่เป็นเรื่องที่ไม่ดีนักสำหรับหุ้นโดยรวม ซึ่งเกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันในช่วงต้นของการทำ QT ในรอบที่แล้ว

  1. ผลกระทบของเงินเฟ้อกับผลกำไรของบริษัทจดทะเบียน

แรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังคงสูงสร้างแรงกดดันต่อเนื่องต่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ราคาพลังงานและอาหารเร่งตัวขึ้นมากและอาจจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจจะเริ่มส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ

โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ภาวะตลาดการเงินไม่ว่าจะเป็นสภาพคล่องหรือดอกเบี้ยเริ่มเป็นมิตรต่อสินทรัพย์เสี่ยงน้อยลง ในขณะที่การประมาณการอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้นของดัชนีหลักๆ ยังคงไม่ได้ถูกปรับลดลงมากนักจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่แนวโน้มการประกาศผลประกอบการของไตรมาสแรกยังน่าจะดีอยู่ แต่มีความเป็นไปได้ที่ผลประกอบการในไตรมาสสองอาจจะชะลอลงจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ

จะเห็นได้ว่าปัจจัยทั้งสามน่าจะยังคงสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นโลกโดยรวมต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการประเมินผลกระทบอาจจะต้องเทียบสิ่งที่ตลาดคาดไว้ เช่น หากเงินเฟ้อเริ่มส่งสัญญาลดลง หรือออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้ (แม้จะยังคงสูงอยู่ก็ตาม) และเพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เราก็อาจเห็นตลาดหุ้นฟื้นตัวได้เช่นกัน

ทำให้เรายังต้องติดตามปัจจัยหลักทั้ง 3 อย่างต่อเนื่อง และสุดท้ายนี้ การบริหารการลงทุนในช่วงความผันผวนสูง อย่าลืมพิจารณาข้อมูลปัจจุบันให้ถี่ถ้วนรอบคอบ ทำตามแผน มองการลงทุนเป็นส่วนหนึ่งของการบรรลุเป้าหมายทางการเงินระยะยาว กระจายความเสี่ยงให้เหมาะสม และอย่าล้มเลิกออกจากตลาดในช่วงเวลาที่ไม่ดีไปเสียก่อนครับ ...

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด