เลือกตั้งผู้ว่า เกมขย่ม “ชัชชาติ” เข้าทาง “สุชัชวีร์” มีลุ้นคู่ชิง

เลือกตั้งผู้ว่า เกมขย่ม “ชัชชาติ”  เข้าทาง “สุชัชวีร์” มีลุ้นคู่ชิง

หยุดความแรง “ชัชชาติ” ดึงกระแส “คนรุ่นใหม่-ฝ่ายประชาธิปไตย” ออกมา งานนี้ “สมศักดิ์ เจียม” มาเอง ประสานเสียง “ช่อ-พรรณิการ์” เข้าทาง “ดร.เอ้-สุชัชวีร์” มีลุ้น “คู่ชิง” เก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.

ก่อนหน้านี้ มีคำถามว่า ใครจะหยุดกระแสร้อนแรงของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. “แบบอิสระ” หมายเลข 8 เต็งจ๋า โพล(ผลสำรวจ)ทุกสำนักลงได้ แล้ววันนี้ก็มีคำตอบ?

เมื่ออดีตอาจารย์คนดัง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โพสต์เฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul แซะ “ชัชชาติ” โยง พรรคเพื่อไทย ทำเอาแฟนคลับด่ายับ  และบางคนช่วยแก้ต่างเรื่องความต้องการเป็นอิสระอย่างแท้จริงในการทำงาน แต่กระนั้น ก็ตอกย้ำกระแสที่หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยอยู่แล้ว ว่า พรรคเพื่อไทย ให้การสนับสนุน?

“สมศักดิ์ เจียม” โพสต์(8 เม.ย.)ว่า “เอ ทำไมชัชชาติไม่สมัครในนามพรรคเพื่อไทยนะ?

เพิ่มเติม: ผมเพียงแต่เห็นว่า ถ้าทีมงาน ผู้สนับสนุน เป็นคนของเพื่อไทยทั้งหมด ก็น่าจะสมัครในนามพรรคเลย อย่างนี้เหมือนหลอกชอบกล”

ก่อนหน้านี้ (2 เม.ย.) เฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul ก็เคยโพสต์เอาไว้ว่า

“พรรคเพื่อไทยมีนักการเมืองจำนวนมาก...พรรคอนาคตใหม่ เริ่มต้นแบบเดียวกัน คือเป็นการยืมเงินธนาธร (ข้ออ้างในการยุบพรรค) แต่ใช้คืนภายหลัง ที่สำคัญ เรื่องของพรรคเป็นมติพรรค คือเป็นมติความเห็นของ ส.ส. ด้วยเหตุนี้ จึงมีส่วน ยังเป็นความแตกต่างว่าจะเคลื่อนไหวเรื่องนั้นเรื่องนี้ (เรื่องเจ้า) ยังไง ที่สำคัญพรรคอาศัยเงินบริจาคประชาชนมาช่วยดำเนินการพรรค”

นี่ก็สะท้อนให้เห็นท่าทีของ “สมศักดิ์ เจียม” ว่า หนุนหลังใครในการลงสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ เพราะอดีตพรรคอนาคตใหม่ ก็คือ พรรคก้าวไกลในปัจจุบัน ซึ่งส่งนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร หมายเลข 1 ลงแข่ง

และอาจหมายถึงการส่งสัญญาณให้ “สาวก” และฝ่าย ปชต.สายแข็ง ตัดสินใจเลือกคนของพรรคก้าวไกล ก็เป็นได้ นั่นหมายถึงคะแนนจากคนรุ่นใหม่สาย “สามนิ้ว” ที่ก่อนหน้านี้อาจหมายตา “ชัชชาติ” เอาไว้อีกคน เปลี่ยนใจก็เป็นได้


สำหรับ “สมศักดิ์ เจียม” เป็นที่ทราบกันดีว่า กำลังหลบหนีคดี ม.112 (เกี่ยวกับข้อหาหมิ่นสถาบันฯ) อยู่ในฝรั่งเศส แต่โพสต์ความเห็นของเขาหลายกรณีมีอิทธิพลอย่างมากต่อขบวนการเคลื่อนไหวของ เยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการ “ปฏิรูปสถาบันฯ”

ไม่เพียงเท่านั้น

 ขณะเดียวกัน (8 เม.ย.) พรรณิการ์ วานิช หรือ “ช่อ” กรรมการบริหาร “คณะก้าวหน้า” โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โต้แย้งนโยบายการ “จัดโซนนิ่ง” ให้การชุมนุมทางการเมืองของ “ชัชชาติ” อย่างจัง โดยระบุ ว่า 

“ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ของคุณชัชชาติเลยค่ะ การชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ต้องเกิดได้ทุกที่ ผู้ว่าฯ กทม. มีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุม จัดรถห้องน้ำ ดูแลความปลอดภัย 

และในขณะเดียวกันก็ต้องดูแลให้คนทั่วไปที่ไม่ได้มาร่วมชุมนุมยังสัญจรไปมาได้ หรืออย่างน้อยก็ได้รับความสะดวกตามสมควร มีการแจ้งประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าให้หลีกเลี่ยงเส้นทาง ไม่ใช่จัดโซนนิ่ง เปิดให้ชุมนุมได้แค่บางที่

การให้ชุมนุมได้เฉพาะในที่ที่รัฐกำหนด เป็นวิธีที่ประเทศเผด็จการเขาใช้กัน เพื่ออ้างว่าฉันเป็นประชาธิปไตย เปิดรูให้ประชาชนชุมนุมได้ในบางที่ แต่เป็นการชุมนุมที่จะไม่มีพลังไม่มีอิมแพคอะไรพอที่จะสะเทือนผู้มีอำนาจได้

หากพูดถึงความสะดวกไม่เดือดร้อนใคร อันที่จริงเวลาเราชุมนุมที่สนามหลวง ก็ไม่เดือดร้อนใคร เพราะเป็นที่โล่งกว้าง แต่เพราะมันเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ ผู้มีอำนาจเดือดร้อน คนจัดชุมนุมที่สนามหลวง จึงโดนคดี

หากคุณชัชชาติจะจัดโซนนิ่งให้ชุมนุม อยากทราบว่าหน้าทำเนียบรัฐบาล กระทรวงต่างๆ สนามหลวง และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จะเป็นโซนที่สามารถชุมนุมได้หรือไม่?

เหตุที่การชุมนุมต้องเกิดได้ทุกที่ เพราะหากเราชุมนุมได้เฉพาะบริเวณที่รัฐกำหนด เท่ากับให้ผู้มีอำนาจควบคุมการชุมนุมได้ การชุมนุมส่วนใหญ่เป็นการต่อต้านผู้มีอำนาจทั้งนั้น หากรัฐไม่อนุญาตเราก็ไม่ได้ชุมนุม เท่ากับประชาชนถูกพรากเอาอาวุธหนึ่งเดียวที่ตัวเองมีไป

แน่นอนว่า การชุมนุมขนาดใหญ่ ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่ได้รับความสะดวกในการใช้พื้นที่ การเดินทาง 

ขอยกตัวอย่าง เวลาอังกฤษจะมีการประท้วงหยุดงานของพนักงานรถไฟ ซึ่งกระทบกับการเดินทางของคนเป็นล้าน สหภาพเขาจะแจ้งล่วงหน้านานหลายวัน เพื่อให้ประชาชนวางแผนชีวิตตัวเองในวันที่จะมีการประท้วง และคนส่วนใหญ่ก็ยอมรับได้ วางแผนเลี่ยงการเดินทางหรือไปใช้ระบบโดยสารอื่น

ความไม่สะดวกในการเดินทางเป็นสิ่งที่พวกเขายอมจ่ายเพื่อแลกกับสิทธิที่เพิ่มขึ้นของเพื่อนร่วมชาติ

สวัสดิการที่ดีของพนักงานรถไฟอังกฤษ ได้มาจากการต่อสู้เรียกร้อง ไม่ใช่การเชื่อฟังและทำตามที่รัฐอนุญาต สวัสดิการ คุณภาพชีวิต สิทธิเสรีภาพของคนไทยก็เช่นเดียวกัน”

ทั้งนี้ เนื่องมาจากเมื่อวันที่ 7 เม.ย. “ชัชชาติ” ให้สัมภาษณ์ “วอยซ์ทีวี” ถึงการแก้ปัญหาม็อบชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพฯ จะทำอย่างไรไม่ให้สร้างปัญหาให้คนที่ไม่ได้มาร่วมชุมนุมว่า 

“ตนมองว่าการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย ดังนั้น กทม. ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ควรจัดพื้นที่สำหรับการแสดงออกทั้งขนาดใหญ่ เช่น ลานคนเมือง สนามกีฬาไทยญี่ปุ่น-ดินแดง เป็นต้น 

นอกจากนี้ ทุกเขตควรมีพื้นที่สาธารณะขนาดเล็ก เพื่อให้คนมาแสดงความคิดเห็นได้เช่นกัน นอกจากพื้นที่แบบอนาล็อกแล้ว ควรมีพื้นที่แบบดิจิทัลในการแสดงความคิดเห็นด้วย

“คนอยากจะมาปราศรัยก็หิ้วลังมา มาปราศรัยที่สวนตรงนี้ กำหนดเป็นพื้นที่ให้แสดงความเห็นที่แตกต่างได้

โดย กทม. ต้องอำนวยความสะดวกเรื่องการจัดหาเครื่องเสียง รถสุขา มีการประสานงานขออนุญาตใช้พื้นที่ชุมนุมตามกฎหมาย

“การแสดงออกเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ปัญหาที่คนรุ่นใหม่อัดอั้นตันใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีใครรับฟังพวกเขา เชื่อว่าถ้ามีพื้นที่ตรงนี้ สังคมจะดีขึ้น ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างจริงจัง”

ที่น่าสนใจ อย่าลืมว่า ก่อนหน้านี้ นายวิโรจน์ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. พรรคก้าวไกล เคยเสนอนโยบาย “ทวงคืนสนามหลวง” มาเป็นสวนสาธารณะ และพื้นที่ชุมนุมทางการเมือง ให้กับประชาชน จนกลายเป็นกระแสขัดแย้งระหว่างฝ่ายอนุรักษ์ กับสาวกพรรคก้าวไกล และมวลชน “3 นิ้ว” มาแล้ว ซึ่งก็สอดคล้องกับที่ “ช่อ” เรียกร้องให้การชุมนุมทำได้ทุกที่ ไม่จำเป็นต้องมี “โซนนิ่ง” โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีอำนาจต่อรองสูง อย่าง สนามหลวง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำเนียบรัฐบาล กระทรวงต่างๆ ฯลฯ...

ที่น่าวิเคราะห์ก็คือ แม้ยังไม่แน่ชัดว่า ฐานเสียงคนรุ่นใหม่ หรือ “เยาวชน” ที่ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับ “ม็อบราษฎร” หรือ ขบวนการ “3 นิ้ว” รวมทั้งร่วมในกระแสเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เปลี่ยนแปลงประเทศ เทคะแนนให้ใคร เพราะเชื่อว่า ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งใน กทม.มีจำนวนไม่น้อย

ทั้งยังไม่แน่ว่า คะแนนนิยมที่มาแรงไม่หยุดฉุดไม่อยู่ของ “ชัชชาติ” มีส่วนผสมในส่วนนี้มากน้อยแค่ไหน

ขณะเดียวกัน นี่คือ คะแนนเสียงที่ “วิโรจน์” ผู้สมัครพรรคก้าวไกล คาดหวังที่จะกอบโกยมาให้ได้ทั้งหมดนั่นเอง

ดังนั้น เกมขย่ม “ชัชชาติ” นอกจากมองเห็นอนาคตการชุมนุมทางการเมือง ที่จะต้อง “ขัดแย้ง” เกิดขึ้น เนื่องจากแนวคิดเสรีประชาธิปไตย กับ อำนาจหน้าที่ ผู้ว่าฯกทม. หาก “ชัชชาติ” ได้รับเลือกตั้งแล้ว

ยังต้องการดึงฐานเสียงฝ่ายประชาธิปไตย คนรุ่นใหม่ มาเติมเต็มให้กับ “วิโรจน์” อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวคิดของ “ชัชชาติ” จะโดนใจ คนกทม.อีกจำนวนไม่น้อย ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุมทางการเมืองของม็อบราษฎร และขบวนการ “3 นิ้ว” แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า อาจต้องสูญเสียคะแนนเสียงคนรุ่นใหม่ สาวก “3 นิ้ว” ไปจำนวนมากเช่นกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผลสำรวจเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ของสํานักงานศูนย์วิจัยและให้คําปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงน่าสนใจ

โดยมีการเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่มีต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งที่ 3 พบว่า

คะแนนนิยม ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สูงถึงร้อยละ  25.7 

ขณะที่สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ จากพรรคประชาธิปัตย์ ตามมาร้อยละ 18.3 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล ร้อยละ  11.8 อัศวิน ขวัญเมือง ร้อยละ 11.3 สกลธี ภัททิยะกุล ร้อยละ  6.7 รสนา โตสิตระกูล ร้อยละ  5.7 ศิธา ทิวารี ร้อยละ 2.8

นั่นแสดงให้เห็นว่า กระแสที่มาแรง 3 คนแรก มี “สองคน” คือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ร้อยละ  25.7 กับ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล ที่ร้อยละ  11.8 อาจแย่งคะแนน คนรุ่นใหม่ และฝ่ายประชาธิปไตย หรือไม่

ถ้ามีการแย่งคะแนนกันจริง ก็เท่ากับ อาจมีการดึงคะแนนบางส่วนของ “ชัชชาติ” ออกไปเติมให้กับ “วิโรจน์” ทำให้ “เปอร์เซ็นต์” ที่ได้ของ “ชัชชาติ” ลดลง คะแนน “วิโรจน์” เพิ่มขึ้น 

ขณะที่ “คะแนน” ของ “ดร.เอ้-สุชัชวีร์” มีลุ้นคู่คี่สูสีกับ “ชัชชาติ” ทันที

แล้วที่ต้องไม่ลืมก็คือ ดร.เอ้-สุชัชวีร์ มีฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ เป็น “ต้นทุน” อยู่แล้ว และฐานเสียงส่วนนี้ ก็ไม่ได้แสดงความเห็นผ่านโพลเสมอไป อาจอยู่ในลักษณะพลังเงียบ หรือ มีผู้ว่าฯกทม.จากพรรคประชาธิปัตย์ในใจอยู่แล้ว ไม่ว่า ผู้สมัครจะเป็นใคร แต่พวกเขาเชื่อมั่นในขบวนการสรรหาของพรรค 

อย่างที่เคยเกิดขึ้นในภาคใต้ และ กทม. ก็มีข้อมูลการอพยพเข้ามาอยู่อาศัยของ “คนใต้” จำนวนไม่น้อยเช่นกัน

อีกอย่าง “ชัชชาติ” เคยพูดถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเองว่า จุดแข็งคือเราเข้าใจปัญหา เพราะลงพื้นที่มานาน และมีทีมงานที่ครบทุกด้าน ส่วนจุดอ่อน คือ อยู่ที่ชุมชน เนื่องจากเราเป็นผู้สมัครอิสระไม่มีฐานเสียงชุมชนจึงเป็นจุดที่อ่อนแอ

นั่นอาจหมายถึง กระแสที่ร้อนแรงแซงหน้าใครเพื่อนทุกโพล เนื่องมาจากการเปิดตัวพร้อมลงสมัครผู้ว่าฯกทม.มาก่อนใคร 

จนคนกรุงเทพฯรู้ดีว่า เขาคือ “ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.” มานานแล้ว จนชื่อติดหูติดตานั่นเอง

แต่ก็ยอมรับใน “จุดอ่อน” เรื่องชุมชน หรือ พูดอีกอย่างก็คือ ฐานเสียงพรรคการเมือง แต่ขณะเดียวกัน ก็คือ “จุดแข็ง” ที่มาช่วยเติมเต็มให้กับ ดร.เอ้-สุชัชวีร์ อย่างเห็นได้ชัดยิ่ง

เมื่อย้อนไปถึง ช่วงก่อนหน้าที่พรรคประชาธิปัตย์ จะถูกกระแส “ประยุทธ์” ปราบจนราบคาบ เนื่องจากการแสดง “จุดยืน” ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางกระแส คนกรุง หนุน “ประยุทธ์” จึงทำให้ “ส.ส.ประชาธิปัตย์” สูญพันธุ์ในสนามเลือกตั้ง กทม.ที่ผ่านมา

ต้องไม่ลืมเช่นกันว่า ผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้รับเลือกตั้งแต่ละคนต่อเนื่องกันมา มีคะแนนค่อนข้างสูง

นับจาก การเลือกตั้งวันที่ 29 สิงหาคม 2547 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.ด้วยคะแนนเสียง 911,441 คะแนน ชนะ นางปวีณา หงสกุล ผู้สมัครอิสระ ที่มีพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง(อาจเหมือน “ชัชชาติ” ขณะนี้?) ที่ได้ 619,039 คะแนน

วันที่ 5 ตุลาคม 2551 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.อีกครั้ง ด้วยคะแนนเสียง 991,018 คะแนน

วันที่ 11 มกราคม 2552 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. ด้วยคะแนนเสียง 934,602 คะแนน

วันที่ 3 มีนาคม 2556 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนเสียง 1,256,349 คะแนน มากเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับคู่แข่ง คือ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ที่ได้ 1,077,899 คะแนน

เห็นได้ชัดว่า ฐานเสียงของ “ประชาธิปัตย์” ในกทม.จากเดิมนั้น สามารถชี้ขาดชัยชนะได้ไม่ยาก เพียงแต่ว่า จะฟื้นคืนกลับมาได้อย่างไรเท่านั้นเอง ส่วนถ้าถามว่า “ดร.เอ้-สุชัชวีร์” มีลุ้นคู่ชิง กับ “ชัชชาติ” หรือไม่ คำตอบคงไม่ต้องอ้างอิงอะไรไปมากกว่านี้อีกแล้ว!?