กองทุนรวมอีทีเอฟ ทางเลือกสำหรับมือใหม่ ที่คัดสรรจากมืออาชีพ

กองทุนรวมอีทีเอฟ ทางเลือกสำหรับมือใหม่ ที่คัดสรรจากมืออาชีพ

สำหรับผู้เริ่มต้นลงทุน การเลือกลงทุนในหุ้นรายตัวอาจเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เนื่องจากต้องมีความเข้าใจทั้งในแง่ปัจจัยพื้นฐานของหุ้น และจังหวะในการเข้าลงทุน

โดยเฉพาะในสภาวะที่ตลาดหลักทรัพย์มีความผันผวนสูง ดังนั้น การลงทุนโดยอาศัยมืออาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวมทั่วไป หรือกองทุนรวมอีทีเอฟ (ETF) จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าจะช่วยตอบโจทย์ผู้ลงทุนที่เพิ่งเริ่มต้น หรือไม่ค่อยมีเวลาที่จะศึกษาในเชิงลึกสำหรับหลักทรัพย์รายตัว โดยในบทความนี้จะขอนำรายละเอียดกองทุนอีทีเอฟมาเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบ

กองทุนรวมอีทีเอฟ เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนจึงสามารถซื้อขายกองทุนอีทีเอฟแบบ Realtime ในลักษณะเดียวกับหุ้น ซึ่งนับเป็นจุดเด่นของกองทุนอีทีเอฟเมื่อเทียบกับกองทุนรวมทั่วไป ซึ่งจะซื้อขายได้ด้วยราคามูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ณ สิ้นวันเท่านั้น (ช่วงที่ส่งคำสั่งซื้อขายผู้ลงทุนอาจจะยังไม่ทราบราคาซื้อขายที่แน่นอน)

หากย้อนกลับมาพิจารณาถึงกองทุนอีทีเอฟ ผู้ลงทุนหลายท่านมีคำถามว่าแล้วระหว่างวันจะทราบราคาที่เหมาะสมของกองทุนอีทีเอฟได้อย่างไร ในส่วนนี้ ผู้ลงทุนควรพิจารณาข้อมูลของราคา indicative Net Asset Value หรือ iNAV ซึ่งสะท้อนประมาณการของมูลค่าของสินทรัพย์สุทธิของกองทุนอีทีเอฟในช่วงนั้นๆ ซึ่งโดยทั่วไป iNAV จะมีการประกาศและอัพเดตข้อมูล (ทุก 15-30 วินาที)

ผ่านเว็บไซต์ของผู้ออกกองทุนอีทีเอฟ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าราคาซื้อขายกองทุนอีทีเอฟในตลาด ณ ขณะนั้น ถูกหรือแพงเมื่อเทียบกับมูลค่าสินทรัพย์ หากเกิดกรณีที่มีความแตกต่างของราคาตลาดของกองทุนอีทีเอฟกับราคา iNAV ของกองทุนอีทีเอฟอย่างมาก ผู้ลงทุนยิ่งควรมีความระมัดระวังในการลงทุน และควรทราบว่าในที่สุดแล้วราคาของกองทุนอีทีเอฟจะต้องปรับตัวเข้ามาใกล้เคียงมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุน

อีกกลไกหนึ่งของการซื้อขายกองทุนอีทีเอฟที่ควรทราบ ก็คือ การที่ผู้ออกจัดให้มีผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ทำหน้าที่เสนอซื้อขายเพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายกองทุนอีทีเอฟได้อย่างมั่นใจ ทั้งนี้ราคาที่ผู้ดูแลสภาพคล่องจะเสนอซื้อขายนั้นก็จะใกล้เคียงกับ iNAV โดยช่วงห่างระหว่างราคาเสนอซื้อและเสนอขายหรือที่เรียกว่า spread ก็จะสะท้อนถึงต้นทุนรวมถึงค่าธรรมเนียมต่างๆ ของผู้ดูแลสภาพคล่อง

ในตลาดหลักทรัพย์ไทยนั้นเริ่มจัดให้มีการซื้อขายกองทุนอีทีเอฟในปี 2549 โดยปัจจุบันกองทุนอีทีเอฟในตลาดหลักทรัพย์ ล้วนเป็น passive fund ที่พยายามสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงดัชนีหรือหรือราคาของสินทรัพย์อ้างอิงที่กองทุนอีทีเอฟนั้นอ้างอิงอยู่

ปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์มีกองทุนอีทีเอฟที่จดทะเบียนซื้อขายทั้งหมด 12 กองทุน เป็นกองทุนอีทีเอฟ ETF ที่อ้างอิงหุ้นหรือดัชนีหุ้นในประเทศ 8 กองทุน อ้างอิงกับดัชนีหุ้นต่างประเทศ 2 กองทุน อ้างอิงกับตราสารหนี้และทองคำอย่างละ 1 กองทุน มูลค่าสินทรัพย์รวมของกองทุนอีทีเอฟทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท 

โดยกองทุนอีทีเอฟที่มีมูลค่าทรัพย์สิน (NAV) สูงที่สุดคือ ABFTH มี NAV อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท สำหรับกองทุนอีทีเอฟที่อ้างอิงกับหุ้นไทยก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเช่นกัน โดย Top 3 ของกองทุนอีทีเอฟที่อ้างอิงดัชนีหุ้นไทยที่มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ มากที่สุดได้แก่ TDEX ที่ลงทุนหุ้นตามดัชนี SET50, BSET100 ที่ลงทุนในหุ้นตามดัชนี SET100 และ BMSCITH ที่ลงทุนในหุ้นตามดัชนี MSCI Thailand

กองทุนรวมอีทีเอฟ ทางเลือกสำหรับมือใหม่ ที่คัดสรรจากมืออาชีพ

ในการเลือกลงทุนในกองทุนอีทีเอฟ ผู้ลงทุนจะต้องพิจารณาสินทรัพย์ที่กองทุนนั้นอ้างอิงหรือพยายามสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงที่เรียกว่า tracking โดยผู้ลงทุนสามารถพิจารณาข้อมูล tracking error ของกองทุนซึ่งก็คือข้อมูลที่บอกว่าผลตอบแทนของกองทุนอีทีเอฟนั้นมีความแตกต่างจากผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่อ้างอิงมากน้อยเพียงใด เพื่อที่จะได้เลือกลงทุนได้เหมาะสม

ในทางปฏิบัตินั้น ผู้ลงทุนสามารถลงทุนด้วยกองทุนอีทีเอฟได้หลากหลายแนวทาง เช่น ผู้ลงทุนอาจเลือกซื้อกองทุนอีทีเอฟที่ลงทุนตามดัชนีหุ้น เช่น TDEX หรือ BSET100 แทนการซื้อหุ้นรายตัว ซึ่งจะเปรียบเสมือนกับการลงทุนหุ้นไทยในภาพรวม และช่วยกระจายความเสี่ยงและใช้เงินลงทุนในจำนวนไม่มาก

สำหรับผู้ลงทุนที่เน้นการลงทุนในหุ้นที่ให้เงินปันผลก็สามารถเลือกใช้กองทุนอีทีเอฟ 1DIV ที่ลงทุนหุ้นตามดัชนี SET HD (SET High Dividend) ที่เป็นกลุ่มหุ้นที่ให้เงินปันผลสูง นอกจากนี้ หากมองพอร์ตลงทุนโดยรวม กองทุนอีทีเอฟอาจใช้ลงทุนเป็นส่วนหลัก (Core portfolio) ของพอร์ตลงทุนก็ได้

ด้วยทำได้สะดวก รวดเร็ว และมีต้นทุนในการซื้อขายที่ต่ำกว่าการทยอยซื้อขายหุ้นหลายๆ ตัว รวมทั้งใช้เงินลงทุนไม่สูงมากด้วย จากนั้นผู้ลงทุนอาจการเลือกใช้กองทุนอีทีเอฟที่เป็น Thematic ETF เช่น กองทุนอีทีเอฟที่อ้างอิงกับดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรมหรืออ้างอิงกับสินทรัพย์ต่างประเทศ หรืออ้างอิงกับทองคำ เพื่อลงทุนในพอร์ตเพิ่มเติมก็ได้

โดยแม้ว่าในปัจจุบันกองทุนอีทีเอฟอาจจะไม่หลากหลายมาก แต่คาดว่าจะมี Thematic ETF ใหม่ๆ ที่ทยอยออกมาให้ผู้ลงทุนเลือกใช้งานได้ตามความต้องการมากขึ้น สำหรับผู้ลงทุนที่สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก https://www.setinvestnow.com/th/etf หรือเว็บไซต์ของผู้ออกกองทุนอีทีเอฟ