Tokenomics เรื่องต้องรู้ ก่อนคิดจะออก Token

ทุกวันนี้ใคร ๆ ก็ออก Digital Token ไม่ว่าคุณจะต้องการความเป็นผู้นำในวงการ หรือมองเห็นโอกาสทางธุรกิจของการใช้ Token สำหรับธุรกิจของคุณ การสร้าง Token นั้นง่ายนิดเดียวแค่เพียงมีทีมงานที่มีความรู้ในเรื่อง Blockchain และ Smart Contract ก็สามารถสร้าง Token ออกมาได้ภายในเวลาไม่กี่นาที

แต่ปัญหา คือ เมื่อสร้าง Token เสร็จแล้ว สุดท้าย Token ที่สร้างมาได้นั้นมีประโยชน์หรือว่าได้ผลตอบรับอย่างที่ตั้งใจไว้ตอนแรกก่อนที่จะออก Token หรือไม่ 

ศาสตร์ของการสร้างและออกแบบระบบ Token เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ยังเป็นศาสตร์ใหม่ที่สถาบันการศึกษาทั่วโลกอาจจะยังไม่เคยบรรจุเข้าไปไว้ในหลักสูตร เพราะถึงตอนนี้ ก็ยังไม่ได้มีการสรุปหลักการที่ชัดเจนออกมา

แต่ก็มีนักคิดนักวิเคราะห์จากหลายสำนักเริ่มจะจับทางได้ว่าจริง ๆ แล้ว ระบบการทำงานของ Token นั้นมีความคล้ายคลึงกับวิชาที่มีการเรียนการสอนกันมาเป็นร้อยปีที่ชื่อว่า “เศรษฐศาสตร์” โดยเมื่อนำหลักการของเศรษฐศาสตร์ (Economics) มาผสมกับเรื่อง Token ก็กลายเป็นหัวข้อใหม่ที่มีชื่อเท่ห์ ๆ เรียกกันว่า “Tokenomics”

นักวิเคราะห์มองว่า Tokenomics มีลักษณะเหมือนมองภาพการย่อส่วนของระบบเศรษฐกิจ โดยมี 2 แนวคิดหลัก คือ เศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomics) และ เศรษฐศาสตร์จุลภาค (Microeconomics) ตัว Macro มองภาพกว้างของเศรษฐกิจระดับประเทศ เช่น การหาความสัมพันธ์ระหว่างการว่างงานกับ GDP ของประเทศหนึ่ง ๆ

 

หรือหลักการของกลไกการควบคุมดอกเบี้ยเพื่อบริหารสภาพคล่องของเงินหมุนเวียนในประเทศ ส่วน Micro นั้นมองในหน่วยย่อยของบุคคลหรือบริษัทที่จะว่าจะตัดสินใจอย่างไรเมื่อมีเหตุการณ์หรือเงื่อนไขต่างๆมากขึ้น เช่น การเพิ่มหรือลดของ supply ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและความต้องการสินค้าอย่างไร

เมื่อเราเห็นภาพ Tokenomics เป็นภาพจำลองของระบบเศรษฐกิจ เราก็สามารถใช้หลักการในการบริหารจัดการของ Macro และ Micro economics มาเป็นต้นแบบ เพื่อสร้างให้เกิดการหมุนเวียนของToken ในระบบและสร้างให้ผู้ถือ Token เกิดพฤติกรรมที่ผู้ออกแบบระบบต้องการ เช่น ถ้าเราเปรียบเทียบระบบ Token ของเราเป็นเหมือนระบบเศรษฐกิจของประเทศหนึ่ง

การกำหนดสิทธิประโยชน์ของ Token ในรูปแบบของการกำหนดเปอร์เซ็นต์การ Airdrop เหรียญ (แจกเหรียญเข้ากระเป๋าผู้ถือ Token โดยตรง) เทียบกับจำนวน Token ที่ผู้ใช้ถืออยู่ ก็เปรียบเสมือนการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและการจ่ายดอกเบี้ย หากการจ่ายดอกเบี้ยด้วย Token นั้นสูงกว่าดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากการถือสินทรัพย์อื่นนอกระบบ ก็จะทำให้เกิดการไหลเข้าของเงินทุนเพื่อนำมาแลกเป็น Token เพื่อรับดอกเบี้ยในรูปแบบของเหรียญที่ถูก Airdrop

ถ้ามองในภาพย่อยลงมาในมุมของ Micro ซึ่งเป็นการศึกษาพฤติกรรมของคนในระบบที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น ถ้าสินค้าบางอย่างมีจำนวนจำกัด แต่มีคนต้องการสินค้าชิ้นนั้นมาก ๆ เนื่องจากเกิดความขาดแคลนขึ้น ราคาของสินค้าก็จะเพิ่มขึ้น หลักการเดียวกันสามารถนำมาใช้ในการสร้างราคาของ Token (นึกภาพว่า Token คือสินค้า)

ถ้าหากปริมาณ Token ในระบบมีจำนวนจำกัด และมีความต้องการที่จะใช้งาน Token เกิดขึ้นมากเนื่องจากสิทธิ์ประโยชน์ที่ดีที่ผู้ใช้ได้รับจากการถือ Token ก็จะทำให้ราคาของ Token เพิ่มขึ้นเช่นกัน ถ้าเราเข้าใจความสัมพันธ์นี้ การสร้าง Use case ที่ดีเพื่อสร้างความต้องการในการถือเหรียญ บวกกับการมีวิธีการในการลดจำนวนเหรียญเพื่อสร้างความขาดแคลน (Scarcity) ก็มักจะเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ออกแบบระบบ Token ที่ต้องการจะทำให้เหรียญ Token นั้นมีราคาสูงขึ้น

การออกแบบและสร้างระบบ Tokenomics จะต้องเริ่มต้นจากการที่ผู้ออกแบบ มีความเข้าใจเป้าหมายของระบบ ว่าเรากำลังต้องการจะให้เกิดพฤติกรรมอย่างไรของผู้ถือ Token โดยเลือกใช้ Token เป็นเครื่องมือในกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่ดีที่เราต้องการ ซึ่งในหลาย ๆ บริบทเครื่องมือในการกระตุ้นที่ดีอาจจะไม่จำเป็นจะต้องเป็นสิทธิประโยชน์ในรูปแบบตัวเงิน เช่น แอปพลิเคชันส่งอาหารของไทยแอปฯ หนึ่ง

ถ้ามีโจทย์ว่าอยากจะช่วยให้ร้านค้าเล็กๆ ที่ยังไม่เคยมีออเดอร์ให้ขายได้ ผู้ออกแบบอาจจะมีการสร้าง Token ที่เป็น NFT ในรูปแบบของถ้วยรางวัล และแจกให้กับผู้ซื้อเมื่อสั่งอาหารจากร้านเล็กที่ยังไม่เคยมีออเดอร์เลย โดย NFT นี้สามารถให้สิทธิ์พิเศษ เช่นสามารถปลดล็อก Feature ลับของแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้ทั่วไปไม่สามารถใช้ได้

Tokenomics ที่ดีจะช่วย Support ธุรกิจของคุณให้ไปถึงเป้าหมายที่ต้องการ เพราะฉะนั้น ก่อนจะเริ่ม Project สร้าง Token อย่าลืมเช็คกับบริษัทปรึกษาว่ามีผู้เชี่ยวชาญ ด้านการสร้าง Tokenomics หรือไม่ มิฉะนั้นสุดท้ายอาจจะได้ Token ที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้เหมือนกับเหรียญพลาสติกไร้มูลค่า