ทิศทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ

ทิศทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ

ตลาดหุ้นไทยยังสามารถทรงตัวอยู่ได้ในกรอบ 1,620-1,700 จุด ท่ามกลางปัจจัยความไม่แน่นอนทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำโดยสงครามยูเครน-รัสเซีย ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง

 แรงกดดันจากเงินเฟ้อที่จะส่งผลถึงดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯที่ปรับตัวขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ภายในประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งขึ้นทำจุดสูงสุดอย่างต่อเนื่อง

 สถานการณ์ของสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ส่งผลต่อราคา Commodities ทั่วโลกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะราคาต้นทุนก๊าซธรรมชาติและราคาน้ำมันดิบ เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้นำในการส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยังทั่วโลก ซึ่งคิดเป็น 26% ของอุปทานก๊าซธรรมชาติทั้งหมด และคิดเป็น 40% ของแก๊สธรรมชาติที่กลุ่มประเทศ EU นำเข้า ซึ่งการที่กลุ่มประเทศ EU ตอบโต้รัสเซียโดยการลดปริมาณนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียให้ได้ 75% ภายในปี 2565 นี้

ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา รวมไปถึงราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น เนื่องจากรัสเซียก็เป็นผู้นำในการส่งออกน้ำมันดิบโลก โดยอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากสหรัฐฯและซาอุดิอาระเบีย อีกทั้งรัสเซียยังเป็นประเทศที่มีอุปทานของกลุ่มโลหะหายาก (Rare Earth) มากที่สุดในโลก อาทิเช่น Palladium

ที่ใช้ในอตุสาหกรรมรถยนต์เพื่อผลิตเครื่องฟอกควันไอเสียในรถยนต์ หรือ Asbestos ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตวัสดุก่อสร้างเพื่อผลิต กระเบื้อง ผ้าเบรก ฉนวนกันความร้อน และผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมสิ่งทอต่างๆ และยูเครนกับรัสเซียยังเป็นผู้นำด้านการส่งออกของข้าวสาลี โดยมีสัดส่วนการผลิตรวมกัน 2 ประเทศนี้ ถึง 15% ของอุปทานข้าวสาลีโลก ทำให้แรงกดดันต่อราคาต้นทุนทั่วโลกนั้นไม่สามารถคลี่คลายได้ภายในเร็วๆ นี้

ผลกระทบจากสงครามจึงส่งผลมาถึงอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย อุตสาหกรรมที่โดนผลกระทบโดยตรงจากการราคาต้นทุนของก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้นคืออุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าในประเทศไทยส่วนใหญ่ผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้ Gas Fire ซึ่งมีก๊าซธรรมชาติเป็นต้นทุนหลักในการผลิตกำลังไฟฟ้า ถึงแม้ว่าจะมีการปรับค่า Ft Rate เพื่อสะท้อนกับต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว

แต่ราคาของก๊าซธรรมชาติยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 6 เดือนข้างหน้า จาก 3 สาเหตุหลักด้วยกัน คือ 1) ความต้องการของกลุ่มประเทศ EU ที่ต้องหาแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่มาแทนรัสเซีย 2) อุปทานก๊าซธรรมชาติในปัจจุบันมีสัญญาระยะยาวมาป้องกันเอาไว้ ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดซื้อขาย (Spot Market) พุ่งขึ้นจากอุปทานในตลาดซื้อขายที่ค่อนข้างน้อย 3) ราคาของก๊าซธรรมชาติในประเทศจะมีการอ้างอิงกับราคาน้ำมันเตาใน 6 เดือนก่อนหน้า ซึ่งจะโดนผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันด้วย

จึงทำให้ต้นทุนของผู้ผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยจะอยู่ในระดับสูงในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ในภาพของ Valuation หุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้าจะโดนกดดันจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงขึ้น เนื่องจากใช้การประเมินมูลค่าด้วยวิธี DCF ซึ่งในวันที่ 21 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา นาย Jerome Powell ก็ได้ออกถ้อยแถลงไปในแนวทางที่ Hawkish โดยจะเตรียมหารือถึงความเป็นไปได้ในการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯขึ้นอีก 50 bps ในเดือนพฤษภาคมนี้เพื่อบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรง

อุตสาหกรรมผู้ผลิตอาหารยังเป็นอุตสาหกรรมที่โดนผลกระทบจากทั้ง Food Inflation ในช่วงต้นปี 2565 อีกทั้งผู้ผลิตสินค้าที่มีส่วนผสมจากแป้งสาลี เช่น เบเกอรี่ หรือ Food Coating จะยิ่งโดนผลกระทบซ้ำซ้อนขึ้นไปอีกจากภาวะสงครามยูเครน-รัสเซีย โดยหลังจากที่ราคาแป้งสาลีทั่วโลกปรับตัวขึ้นไปเมื่อช่วงปลางปี 2564 จากปัญหาอุปทานของแป้งสาลีที่ขาดแคลน เนื่องด้วยสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในสหรัฐฯ ราคาของแป้งสาลีจึงมีการปรับตัวขึ้นมาตั้งแต่ปี 2564 และปรับตัวขึ้นอีกรอบหลังจากมีความกังวลจากสงครามในช่วงเดือนมีนาคม 2565 เข้ามาเกี่ยวข้อง

 ในภาพรวมตลาดหุ้นไทยยังมี Systemetic Risk จากทั้งปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ รวมไปถึงภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวดีจากตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่คาดว่ายังไม่กลับมาในปี 2565 นี้ และผลกระทบจากราคาต้นทุนที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่ศักยภาพการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนนั้นผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วจากปี 2564 ที่โดนผลกระทบจากการ Lockdown ไป โดยในปี 2565 นี้ หลายๆ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ ร้านอาหาร ค้าปลีก ธนาคาร การเงิน และพลังงาน ยังมีแนวโน้มในการเติบโตที่ดีท่ามกลางปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังมีแนวโน้มแกว่งตัวขึ้นได้ แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกเข้ามากระทบ