ธุรกิจควรปรับตัวอย่างไร เมื่อคนไทยซื้อของออนไลน์จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ธุรกิจควรปรับตัวอย่างไร เมื่อคนไทยซื้อของออนไลน์จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อีคอมเมิร์ซในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากรายงาน e-Conomy SEA Report 2021 ที่จัดทำโดย Google, Temasek และ Bain & Company ชี้ให้เห็นถึงการเติบโตในภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นเกือบ 70% จากปีก่อน โดยมีมูลค่าสูงถึง 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2564

หนึ่งในปัจจัยหลักของการเติบโตของภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมาจากการเติบโตของการซื้อของออนไลน์จากต่างประเทศ ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของมูลค่าอีคอมเมิร์ซจากการวิเคราะห์ของ J.P. Morgan ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ YouTrip ผู้ให้บริการดิจิทัลวอลเล็ตรองรับหลายสกุล ที่มียอดใช้จ่ายออนไลน์เป็นสกุลเงินต่างประเทศในปี 2564 เติบโตขึ้น 3 เท่าจากปีก่อนหน้า ตอกย้ำให้เห็นถึงความชื่นชอบในการซื้อของจากแบรนด์ต่างชาติของคนไทย

พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป การซื้อของจากต่างประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง

นอกเหนือจากราคาสินค้าที่เป็นปัจจัยหลักในการเลือกซื้อสินค้าจากต่างประเทศแล้ว ความหลากหลายและน่าสนใจของสินค้าก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่คนไทยเลือกที่จะซื้อของจากต่างประเทศเช่นกัน แม้ภาพรวมของเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาจะหดตัวลง ส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ผู้ขายในต่างประเทศที่อาจจะมีต้นทุนสินค้าที่ถูกกว่าและมีสินค้าให้เลือกหลากหลายกว่าเข้ามาเป็นตัวเลือกในการซื้อสินค้าได้

นอกจากนี้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคโดยมีการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น ในขณะที่มีการใช้จ่ายในภาคบริการลดลง ซึ่งพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคนี้คาดว่าน่าจะเปลี่ยนไปอย่างถาวร ในโลกหลังโควิด-19

ความนิยมในการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการชำระค่าสินค้าด้วยบัตรคอนแทคเลส การโอนเงิน หรือการจ่ายด้วยดิจิทัลวอลเล็ต ก็ช่วยให้การซื้อของระหว่างประเทศง่ายดายยิ่งขึ้น และยิ่งมีผู้ให้บริการการชำระเงินรูปแบบใหม่ๆเข้ามาให้บริการมากขึ้น ผู้บริโภคก็มองหาวิธีการจ่ายเงินที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับความต้องการซื้อสินค้า รวมถึงผลประโยชน์จากส่วนลดหรือโปรโมชั่นต่างๆมากขึ้นเท่านั้น

 

เพื่อตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้ ฟินเทค เช่น YouTrip หรือธนาคารพาณิชย์ต่างก็พยายามปรับเพิ่มความสามารถในการให้บริการลูกค้าในการใช้จ่ายเป็นสกุลเงินต่างประเทศ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการให้อัตราแลกเปลี่ยนที่ดีกว่า และลดค่าธรรมเนียมให้ถูกลง

ในฝั่งของผู้กำกับดูแลก็มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การโอนเงินระหว่างประเทศง่ายยิ่งขึ้น เช่นการเปิดตัวนวัตกรรมการโอนเงินระหว่างประเทศระหว่างระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ของประเทศไทย และระบบเพย์นาว (PayNow) ของประเทศสิงคโปร์ในปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการให้บริการที่รวดเร็ว ประหยัด และโปร่งใสในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ นอกจากนี้การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA)

ธนาคารกลางแห่งสหรัฐ อาหรับเอมิเรตส์ (CBUAE) และสถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PBC DCI) ร่วมพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางในระดับสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) สำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการ mBridge ก็เป็นอีกก้าวที่น่าจับตามองในการแก้ปัญหาการโอนเงินระหว่างประเทศ

ธุรกิจที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้จะกลายเป็นที่นิยม

ในยุคที่การซื้อของออนไลน์จากต่างประเทศกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนไทย และความต้องการสินค้าจากต่างประเทศยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว ธุรกิจที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการทั้งความหลากหลายของสินค้าและความสะดวกสบาย และความปลอดภัยในการซื้อของได้จะกลายเป็นที่นิยม 

ประการแรก คือ เพิ่มทางเลือกในการชำระเงินให้ลูกค้า ผู้บริโภคยุคนี้คุ้นเคยกับการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดและมีแนวโน้มที่จะจ่ายเงินซื้อของจากร้านค้าผ่านช่องทางที่ตนเองสะดวกมากยิ่งขึ้น ดังนั้นธุรกิจที่ตอบโจทย์นี้ได้ จะมีโอกาสเห็นยอดออเดอร์เพิ่มขึ้น

ประการที่สอง คือ นำเสนอสิ่งที่ตรงใจผู้บริโภค ในโลกที่แข่งขันกันเพื่อเอาใจผู้บริโภค ธุรกิจที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคในการซื้อสินค้าและประหยัดเงินในการซื้อของจะได้ใจผู้บริโภคไป เช่น ที่ YouTrip เราใช้การวิเคราะห์เชิงข้อมูลกับพฤติกรรมผู้บริโภคจากการใช้จ่ายเพื่อหาโปรโมชั่นที่ตรงใจลูกค้า ทั้งประเภทของโปรโมชั่น ประเภทของร้านค้า รวมถึงช่วงเวลาที่ต้องการใช้จ่าย

ประการสุดท้าย คือ เพิ่มความปลอดภัยในการใช้จ่าย ผู้บริโภคในปี 2565 ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของข้อมูลและตื่นตัวกับสารพัดกลโกงออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบธุรกิจควรมีการจัดการความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นอย่างน้อย

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาแม้การซื้อของออนไลน์จากต่างประเทศจะเติบโตขึ้นอย่างเร็ว แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น และยังมีโอกาสในการเติบโตอีกมาก เราเชื่อว่าผู้บริโภคหน้าใหม่จะเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน เช่น นวัตกรรมการจ่ายเงินแบบใหม่ที่ช่วยให้การชำระเงินระหว่างประเทศถูกลงและเร็วขึ้น หรือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโลกเสมือน Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ในการช้อปปิ้ง เราคงเข้าสู่โลกยุคใหม่และการเติบโตที่รวดเร็วขึ้นไปอีกในไม่ช้านี้