RCEP…ความหวังบรรเทาปัญหาทางสามแพร่ง Supply Chain

RCEP…ความหวังบรรเทาปัญหาทางสามแพร่ง Supply Chain

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP นับเป็นกรอบความตกลงที่ใหญ่ที่สุดในโลก มี 15 ประเทศสมาชิกที่มีขนาดเศรษฐกิจ มูลค่าการค้า และจำนวนประชากรรวมกันครอบคลุมถึง 1 ใน 3 ของโลก

จึงเต็มไปด้วยโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เริ่มมีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อ 1 มกราคม 2565 ซึ่งคาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งลมใต้ปีกช่วยผลักดันให้ภาคส่งออกของไทยฟื้นตัวและเติบโตอย่างแข็งแรง หลังจากปี 2564 ภาคส่งออกของไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยขยายตัวสูงถึง 17%

  อย่างไรก็ตาม แม้ในเบื้องหน้าการส่งออกของไทยมีภาพที่สดใส แต่หากมองให้ลึกลงไป พบว่า Supply Chain ที่เป็นกระดูกสันหลังสำคัญของการส่งออกยังเผชิญปัญหารุมเร้า ทำให้การส่งออกสะดุด ไม่ราบรื่น และอาจเสียโอกาสในการเติบโต ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ถึงปัญหา Supply Chain พบว่ามี 3 ประเด็นสำคัญที่ฉุดรั้งการส่งออก ได้แก่ (1) ปัญหาด้านการขนส่งทางเรือ ทั้งการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์

หลังจากเศรษฐกิจและการค้าโลกเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับความต้องการที่อั้นไว้จากช่วงก่อน (Pent-up Demand) ในหลายประเทศ ส่งผลให้ความต้องการขนส่งทางเรือเพิ่มขึ้นอย่างมาก และเป็นแรงผลักให้ค่าระวางเรือปรับขึ้นก้าวกระโดด โดยเฉพาะเส้นทางสหรัฐฯ และ EU เช่น ค่าระวางตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต เส้นทางไทย-สหรัฐฯ เพิ่มเป็น 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากเดิม 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ

    (2) ปัญหาด้านการ Sourcing โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เซมิคอนดักเตอร์หรือชิป หลังจากกระแส Work from Home และ Smart Living เติบโตก้าวกระโดด ทำให้มีความต้องการชิปมาใช้เป็นส่วนประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ผนวกกับโรงงานผลิตรถยนต์กลับมาเดินหน้าอีกครั้ง เพิ่มความต้องการชิปในรถยนต์ ซ้ำเติมปัญหาให้รุนแรงขึ้น ปัจจุบัน Lead Time การส่งมอบชิปสูงถึง 26 สัปดาห์ จากปกติที่ 12 สัปดาห์ และ (3) ปัญหาด้านแรงงาน ทั้งการขาดแคลนแรงงานในภาคขนส่งและภาคการผลิต โดยเฉพาะจีนที่เป็น Supply Chain สำคัญของโลก ใช้นโยบาย Zero COVID ทำให้เกิด Supply Chain Shock ในบางช่วง เช่น ท่าเรือ Ningbo-Zhoushan (ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก) ต้องปิด 2 สัปดาห์ หลังจากพบพนักงานเพียงคนเดียวติดเชื้อ

Description: EXIM_name7                   หากปล่อยปัญหาดังกล่าวเรื้อรังและเกาะกินภาคส่งออกต่อไปย่อมไม่เป็นผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม หนึ่งในทางออกที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ คือ การใช้โอกาสและประโยชน์จาก RCEP ตามแนวทางดังนี้

            1. From Global to Regional สถานการณ์ Supply Chain โลกยังมีความเปราะบาง ขณะที่ Supply Chain ใน RCEP กำลังก่อตัวและทวีความสำคัญ จากการปรับลดภาษีระหว่างกันเหลือ 0% รวมถึงกฎระเบียบแหล่งกำเนิดสินค้าที่ยืดหยุ่น เอื้อให้เกิดสินค้า “Made in RCEP” มากขึ้น และคาดว่าจะกระตุ้นให้การค้าภายใน RCEP เพิ่มขึ้นถึงปีละ 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นโอกาสทองของผู้ส่งออกไทยที่จะหันมาเชื่อมโยง Supply Chain ในภูมิภาคมากขึ้น

            2. From Offshore to Onshore ปัญหาการขนส่งทางเรือที่รุมเร้าผู้ส่งออกในขณะนี้ จะบรรเทาลงหากมีทางเลือกในการขนส่งทางบก ซึ่งไทยมีข้อได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์อย่างมาก สามารถเชื่อมโยงทางบกกับประเทศใน RCEP ถึง 7 ประเทศ (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และจีน) ซึ่งหลายประเทศตั้งเป้าเป็นฐานการผลิตและพร้อมเชื่อมโยง Supply Chain ในภูมิภาค             

            3. From Single to Multiple การพึ่งพา Supply Chain เพียงเส้นเดียวส่งผลกระทบรุนแรงเมื่อเกิดปัญหา Supply Chain Shock (ทั้งการผลิต ขนส่ง และแรงงาน) ขณะที่ RCEP ส่งเสริมให้เกิด Supply Chain เส้นใหม่ ๆ ในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่ไม่เคยมี FTA ระหว่างกัน เช่น จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ (3 ประเทศนี้มี FTA เพียงคู่เดียว คือ จีน-เกาหลีใต้) คาดว่าภายในปี 2573 ทั้ง 3 ประเทศจะมีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึงราว 3.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นทางเลือกให้ผู้ส่งออกไทยกระจายการเชื่อมโยง Supply Chain และ Sourcing ให้หลากหลายขึ้น ล่าสุดหลายบริษัทในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เตรียมจัดตั้งฐานการผลิตชิปแห่งใหม่ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลน   

            EXIM BANK ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาของประเทศ เข้าใจดีถึงวิกฤต Supply Chain และโอกาสที่กำลังมาถึงของ RCEP จึงพร้อมจะเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินใหม่ “สินเชื่อเอ็กซิม ลุยตลาด RCEP” เพื่อเติมเงินทุนแก่ผู้ประกอบการบุกตลาด RCEP รวมถึงสนับสนุนการต่อเรือใหม่ ซึ่งช่วยเพิ่มระวางในการขนส่งได้ถึงราว 50,000 ตู้คอนเทนเนอร์ในช่วง 20 เดือนที่ผ่านมา ตลอดจนเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตร เพื่อสนับสนุนการขนส่งข้ามแดนทางบก ผ่านความร่วมมือของสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ใน CLMV และ Team Thailand ภายใต้เป้าหมายที่จะคลายมนต์สะกด Supply Chain ปลุกชีพการส่งออกให้กลับมาฟื้นได้อย่างแข็งแรงมั่นคงครับ

 

 

Disclaimer: คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ EXIM BANK