รัสเซีย vs ยูเครน กับผลกระทบของตลาดการเงินและการลงทุน

รัสเซีย vs ยูเครน กับผลกระทบของตลาดการเงินและการลงทุน

นับเป็นข่าวความคืบหน้าที่ไม่ค่อยจะสู้ดีนักในช่วงสุดสัปดาห์ หลังจากข่าวการระดมกำลังทหารกว่า 100,000นาย ไว้ตามแนวชายแดนจองรัสเซีย

รวมถึงการที่สหรัฐฯ ส่งกองกำลังทหารไปยังโปแลนด์เผื่อพยายามช่วยปกป้องยูเครน โดยแม้ปัจจุบันผลลัพท์อาจจะยังมีความเป็นไปได้หลายทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นสงครามเต็มรูปแบบ (นักวิเคราะห์หลายๆ แห่งประเมินไว้ราว 10%) 

เกิดการปะทะตามแนวชายแดน (ราว 15%) ความตึงเครียดยืดเยื้อ (ราว 50%) และหาข้อตกลงระหว่างกันได้ (ราว 25%) ซึ่งผลกระทบก็จะมีความแตกต่างกันไป โดยหลักๆ อาจก่อให้เกิดผลกระทบกับตลาดการเงินและการลงทุนผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้

1. กลุ่มสินทรัพย์ปลอดภัย ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาลของกลุ่มประเทศหลัก และทองคำ

สินทรัพย์ที่น่าจะปรับตัวสูงขึ้นจากเงินทุนไหลเข้าหากปัญหาทวีความรุนแรงขึ้นมาจริงๆ คือ กลุ่มสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ได้แก่ พันธบัตรบาลของกลุ่มประเทศหลัก เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น และทองคำ และค่าเงินบางสกุลเงิน เช่น ฟรังก์สวิส (โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับยูโร) เงินดอลลาร์สรอ. และค่าเงินเยนญี่ปุ่น เนื่องจากกลุ่มนี้มักจะถูกมองว่าเป็นการลงทุนที่ช่วยรักษามูลค่าในภาวะที่ความผันผวนและความไม่แน่นอนสูง

ในทางตรงกันข้าม กลุ่มที่น่าจะเผชิญกับแรงเทขายอย่างมาก ได้แก่ กลุ่มสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะ หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มเติบโต สินทรัพย์ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ รวมพันธบัตรในกลุ่มที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ (High Yield) ซึ่งเราอาจจะต้องพิจารณาฐานะการลงทุนในกลุ่มนี้เพื่อสะท้อนความเสี่ยงที่สูงขึ้นเพิ่มเติม

และต้องใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากเรื่องของอัตราดอกเบี้ยนโยบายและแรงกดดันเงินเฟ้อ หากมีเงินทุนไหลเข้ามาจากประเด็นการเมืองระหว่างประเทศอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อความผันผวนในอนาคตข้างหน้าเพิ่มขึ้นไปอีกเมื่อเทียบกับปัจจุบัน

2. น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (Oil and Natural Gas)

ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลโดยตรงต่อราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะในยุโรปซึ่งอาศัยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียกว่า 35% ของการนำเข้าทั้งหมด เพิ่มแรงกดดันในด้านราคาและเงินเฟ้อขึ้นไปอีก

โดยเฉพาะหลังจากราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นย่อมส่งผลลบต่อการเติบโต ไม่เฉพาะในยุโรป แต่อาจจะกระทบถึงแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ รวมถึงทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นและกดดันนโยบายการเงินต่างๆ ก่อให้ความความไม่แน่นอนและความผันผวนในตลาดการเงิน โดย JP Morgan ประเมินว่าหากราคาน้ำมันแตะ 150 เหรียญต่อบาร์เรล และทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง อาจจะทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตเพียง 0.9% เท่านั้นในปี 2022

3. พันธบัตรสกุลเงินดอลลาร์ในภูมิภาค

อีกกลุ่มที่มีแรงเทขายออกมาแล้ว ได้ตราสารหนี้ในสกุลเงินดอลลาร์ที่ออกโดยทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนในภูมิภาค โดยเฉพาะในรัสเซีย ซึ่งนับได้ว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่สำหรับตราสารหนี้ในกลุ่มนี้ ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาความตึงเครียดดังกล่าวย่อมทำให้นักลงทุนทำการลดฐานะการลงทุนลงสะท้อนความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น โดยการลงทุนเหล่านี้มักจะอยู่ในกองทุนที่ลงทุนตราสารหนี้ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ซึ่งอาจจะมีสัดส่วนที่มีนัยสำคัญต่อการลงทุนของนักลงทุนในบ้านเราได้เช่นกัน

4. บริษัทที่มีแหล่งรายได้หรือความเกี่ยวข้องกับสองประเทศนี้โดยตรง

บริษัทจดทะเบียนในประเทศหลักต่างๆ อาจจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยกลุ่มที่คาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงได้แก่ หุ้นในกลุ่มพลังงานซึ่งอาจมีการร่วมทุน มีโครงการหรือมีธุรกรรมกับผู้ผลิตในรัสเซีย ซึ่งหุ้นหลักๆ ในกลุ่มนี้มีทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป ในขณะที่กลุ่มการเงินที่อาจจะได้รับผลกระทบอาจจะกระจุกตัวอยู่ในยุโรป

โดยเฉพาะธนาคารที่มีแหล่งรายได้บางส่วนผ่านทางการปล่อยกู้ การลงทุนต่างๆ หรือมีสาขาในรัสเซียเป็นต้น หรือแม้แต่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคบางกลุ่ม ทำให้ภาพรวมหากปัญหาลุกลาม หุ้นหลายๆ กลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องอาจจะเผชิญกับแรงขาย และส่งผลกระทบทางอ้อมต่อ Sentiment การลงทุนโดยรวมที่ไม่ค่อยจะสู้ดีนักอยู่แล้วในปัจจุบัน การเพิ่มความเสี่ยงดังกล่าวย่อมทำให้ความผันผวนสูงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

5. ธัญพืชและข้าวสาลี (Grains and Wheat) กับราคาอาหาร (Food Inflation)

จากข้อมูลล่าสุดของ International Grains Council (IGC) คาดว่ารัสเซียจะเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีอันดับหนี่งของโลกในปี 2022 และหากรวมยูเครนด้วยแล้วทั้งสองประเทศมีสัดส่วนของการส่งออกข้าวสาลีมากถึงราว 58 ล้านตันหรือร้อยละ 31 ของการส่งออกข้าวสาลีทั้งโลกโดยประมาณ (ไม่นับรวมจีน) และหากมองในกลุ่มธัญพืชทั้งหมด ทั้งสองประเทศก็เป็นผู้ส่งออกหลักราว 28% ของการส่งออกทั้งหมด เช่นกัน

โดยความเสี่ยงที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเรื่องของปัญหาการลำเลียง การส่งออกสินค้า รวมถึงการ Sanction จากนานาประเทศ ซึ่งความเป็นไปได้หลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการแบนรัสเซียออกจากระบบการชำระเงินต่างๆ การเพิ่มข้อจำกัดด้านการแปลงเงินรูเบิลรัสเซีย (RUB) กับสกุลเงินหลักๆ รวมถึงการห้ามทำธุรกรรมต่างๆ เป็นต้น ซึ่งสุดท้ายอาจจะทำให้เกิดการขาดแคลนของราคาสินค้าและวัตถุดิบเหล่านี้ ทำให้ราคาอาหารแพงขึ้นและสุดท้ายก็อาจจะส่งผลให้เงินเฟ้อเร่งตัวและเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโดยรวม

โดยจะเห็นได้ว่าประเด็นนี้ค่อนข้างเพิ่มความเสี่ยงและส่งผลลบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อตลาดการเงินในหลายช่องทาง เสริมไปกับภาพรวมของตลาดการเงินที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงจากปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ ทำให้เรื่องรัสเซียและยูเครนยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องจับตาดูความคืบหน้ากันต่อไปครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด