ข่าวดีของสตาร์ทอัพในประเทศไทย

ข่าวดีของสตาร์ทอัพในประเทศไทย

ปีนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่เราจะได้เห็นการยกระดับของการสนับสนุนสตาร์ทอัพในประเทศไทย

ล่าสุดในที่ประชุมของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบข้อเสนอของสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยที่จะออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฏ.) ยกเว้นภาษี Capital Gain Tax สำหรับการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในไตรมาสแรกของปีนี้

สำหรับผู้ที่อยู่ในวงการสตาร์ทอัพย่อมต้องทราบดีว่า Capital Gain Tax เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้สตาร์ทอัพของคนไทยเกือบทั้งหมดเมื่อถึงระยะที่พร้อมจะเติบโตตั้งแต่ Series A เป็นต้นไปที่จะได้เงินลงทุนจากสถาบัน อาทิเช่น Venture Capital ก็จะไปจดทะเบียนนิติบุคคลที่สิงคโปร์หรือประเทศที่ยกเว้น Capital Gain Tax

ถึงแม้ว่า Founder ของธุรกิจสตาร์ทอัพจะอยากไม่ย้ายไปจดทะเบียนที่สิงคโปร์ก็จะเป็นเงื่อนไขของ Venture Capital ต่างประเทศที่บังคับเพื่อแลกกับเงินลงทุนซึ่งเงื่อนไขนี้Founderก็ยากที่จะปฏิเสธได้

ผลที่เกิดขึ้นก็คือสตาร์ทอัพของคนไทยจำนวนมากเมื่อพร้อมที่จะเติบโตก็จะแปลงสัญชาติกลายเป็นบริษัทต่างชาติ ซึ่งความสำเร็จของสตาร์ทอัพเหล่านี้ก็จะกลายเป็นผลสำเร็จของประเทศอื่นนำเงินเข้าสู่ประเทศอื่นและเพิ่มอำนาจทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอื่น

หากพ.ร.ฏ.นี้ประสบความสำเร็จก็มีโอกาสที่จะดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในสตาร์ทอัพของคนไทยเป็นจำนวนมากโดยที่จะปราศจากเงื่อนไขที่จะต้องไปจดทะเบียนนิติบุคคลที่สิงคโปร์และที่สำคัญอาจมีความหวังที่ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ย้ายไปแล้วจะย้ายกลับมาจดทะเบียนที่ประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ยังมีเงื่อนไขอีกประการหนึ่งที่รัฐบาลของประเทศจะต้องฟันฝ่าหากธุรกิจสตาร์ทอัพของไทยจะประสบความสำเร็จได้เทียบเท่าประเทศเพื่อนบ้านนั่นการคือการยกระดับทักษะด้านดิจิทัลของคนในประเทศ

จากข้อมูลของสภาดิจิทัลฯ บุคคลากรของไทยมีทักษะดิจิทัลขั้นสูงโดยใช้ตัวชี้วัดของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) อยู่เพียง 1% ในขณะที่ประเทศเพื่อบ้าน เช่น มาเลเซียมีอยู่ถึง 11% ทักษะดิจิทัลขั้นสูงหมายถึงผู้ที่สามารถเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับสูง สามารถทำ AI และ Data Science ได้

การหาโปรแกรมเมอร์ได้ยากมากๆๆๆ เป็นอุปสรรคที่สำคัญสำหรับสตาร์ทอัพของไทย

การที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ต้องอาศัยภาคการศึกษาที่ต้องเพิ่มสัดส่วนของบัณฑิตที่จบการศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลขั้นสูงและตรงต่อความต้องการของธุรกิจในอนาคตและการนำบุคลากรที่ทำงานแล้วกลับมาเพิ่มทักษะที่ธุรกิจต้องการ​ซึ่งสิงคโปร์และอีกหลายประเทศมีโครงการที่ประสบความสำเร็จและสามารถยกระดับบัณฑิตและบุคคลากรได้จริง

สำหรับประเทศไทยเองร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ก็ได้กำหนดเป้าหมายของทักษะดิจิทัลขั้นสูงไว้ที่ 6% ในปี 2570 ซึ่งก็หมายถึงการเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า หรือการยกระดับบุคลากรนับล้านคนจึงต้องอาศัยการร่วมมืออย่างบูรณาการของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

สำหรับคนที่อยู่ในวางการสตาร์ทอัพของไทยมานานเราอาจเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้วนะครับ