Brands ที่ทรงพลัง…ผู้ชนะในศึกเงินเฟ้อสูงและ FED ขึ้นดอกเบี้ย

Brands ที่ทรงพลัง…ผู้ชนะในศึกเงินเฟ้อสูงและ FED ขึ้นดอกเบี้ย

เริ่มต้นกับปี 2022 กันยังไม่ถึงเดือน ตลาดทุนก็เจอกับความผันผวนอย่างหนัก จากความกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED จะขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่เคยคิด และอาจจะต่อด้วยการถอนสภาพคล่องที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจและตลาดทุนตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ส่งผลให้ตลาดหุ้นโลกปรับตัวลงแรง โดยเฉพาะดัชนี NASDAQ ที่ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ปรับตัวลงมากกว่า 13% ยิ่งไปกว่านั้นสินทรัพย์ที่เคยเนื้อหอมในช่วงที่ผ่านมาอย่าง Cryptocurrency ราคาก็ร่วงลงแรงเช่นเดียวกัน โดย Bitcoin ที่มีมูลค่าตลาดใหญ่ที่สุด ราคาดิ่งลงกว่า 20% ตั้งแต่ต้นปี (ข้อมูล ณ 26 มกราคม 2022)

ศัตรูตัวฉกาจสำหรับการลงทุนในปีนี้คือ “เงินเฟ้อ” ที่อยู่ในระดับสูงมานานกว่าที่เคยคาดไว้ ทำให้ธนาคารกลางต้องเร่งถอนมาตรการพิเศษ เพื่อลดผลกระทบจากเงินเฟ้อที่จะเพิ่มภาระค่าครองชีพแก่ประชาชน และอาจบั่นทอนเศรษฐกิจในอนาคตได้ โดยผลการประชุม FED ในเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ระบุว่าอาจจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมีนาคม และเริ่มพูดถึงการลดการถือครองพันธบัตรในงบดุล

มองไปข้างหน้า เงินเฟ้อจะยังคงสูงกว่าระดับเป้าหมายของธนาคารกลาง แม้มีโอกาสปรับลงบ้างจากปัญหาคอขวดห่วงโซ่อุปทานที่เริ่มคลี่คลาย แต่ยังมีบางปัจจัยที่จะผลักดันให้เงินเฟ้อทรงตัวสูง เช่น ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวลงจำกัด เพราะกระแสรักษ์โลก ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันจะไม่กลับมาลงทุนผลิตเท่าเดิม รวมถึงค่าจ้างที่ยังขยับสูงขึ้นจากภาวะขาดแคลนแรงงาน

ในภาพรวม ภาวะเงินเฟ้อสูงและดอกเบี้ยขาขึ้น มักไม่เป็นมิตรต่อ Sentiment การลงทุนในตลาดหุ้นเท่าไหร่นัก เพราะกระทบความสามารถในการกำไรของธุรกิจ โดยเงินเฟ้อจะไปเพิ่มต้นทุนการผลิต และดอกเบี้ยก็มีผลต่อต้นทุนการกู้ยืม แต่สำหรับหุ้นของธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นผู้นำตลาดแล้ว มักจะได้รับผลกระทบจำกัด ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง มีความสามารถการสร้างรายได้และกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญที่สุดคือ มีอำนาจในการกำหนดราคา (Pricing power) โดยสามารถผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภค ทำให้ไม่เพียงแค่จะรักษาความสามารถในการทำกำไรไว้ได้ แต่ยังสามารถสร้างรายได้และกำไรที่เติบโตในระดับสูงต่อไปอีกด้วย

      หนึ่งในหัวใจสำคัญสำหรับการลงทุนในธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ นั่นก็คือ ารคัดเลือกบริษัทเจ้าของแบรนด์ที่แข็งแกร่ง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ซึ่งแบรนด์ที่ทรงพลังนี้ ถือเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามหาศาล ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ทำให้สินค้าครองที่นั่งในใจผู้บริโภคตลอดกาล นอกจากนั้น การพิจารณาเลือกบริษัทที่ผนวกเรื่องความยั่งยืนเข้าไปในการดำเนินธุรกิจ โดยคำนึงถึงเรื่องธรรมาภิบาล สิ่งแวดล้อม และสังคม จะลดความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนในระยะยาว ยกตัวอย่างเช่น

  1. กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็น เช่น บริษัท Nestle ผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ทำธุรกิจมากกว่า 150 ปี หรือบริษัทอุปกรณ์กีฬาอย่าง Nike ที่เป็นที่นิยมไปทั่วโลก
  2. กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งเป็นที่ต้องการสำหรับกลุ่มลูกค้าเสมอในทุกสภาวะเศรษฐกิจ เช่น Hermes แบรนด์หรูสัญชาติฝรั่งเศส หรือบริษัท Richemont เจ้าของแบรนด์เครื่องประดับหรูอย่าง Cartier และแบรนด์นาฬิกาชื่อดังอย่าง IWC
  3. กลุ่มบริษัทเทคฯ ที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ถือเป็นตัวเชื่อมระหว่างโลกออนไลน์กับการชอปปิ้งให้ง่ายแค่ปลายนิ้ว เช่น Alphabet บริษัทแม่ของ Google ที่คนทั่วทุกมุมโลกใช้ในการค้นหาข้อมูล หรือบริษัท Apple ผู้ผลิต iPhone และ iPad ที่ได้กลายมาเป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญของหลายคนไปแล้ว
  4. กลุ่มแบรนด์น้องใหม่มาแรง บางบริษัทอาจจะยังไม่ติดตลาด แต่ด้วยนวัตกรรมและการออกแบบที่โดดเด่น ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ก็จะส่งผลให้ธุรกิจเหล่านี้กลายมาเป็นแบรนด์ดังระดับโลกได้ เช่น บริษัท XPeng ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในจีน

    การลงทุนในบริษัทเจ้าของแบรนด์อันทรงคุณค่าเหล่านี้คือ การลงทุนในธุรกิจที่นักลงทุนมีความคุ้นเคย ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นและความสบายใจที่จะถือครองการลงทุนข้ามผ่านความผันผวน เพิ่มโอกาสสะสมผลตอบแทนที่น่าพอใจได้อย่างดี