ผลกระทบจากนโยบายการเงินของ Fed ต่อตลาดหุ้นไทย

ผลกระทบจากนโยบายการเงินของ Fed ต่อตลาดหุ้นไทย

ในช่วงเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา SET Index ได้มีการปรับตัวสูงขึ้นสร้างฐานใหม่ที่ 1,650 จุด โดยในช่วงต้นเดือนมีแรงซื้อจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาเป็นปัจจัยสนับสนุนดัชนีให้ปรับตัวสูงขึ้น

แต่หลังจากที่ Fed ได้มีการเปิดเผยบันทึกการประชุมของเดือนธันวาคมนั้น ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิอีกครั้ง โดยเนื้อหาในการประชุมได้มีการระบุถึงความเหมาะสมในการทำ Quantitative Tightening ในปี 2565 เพื่อบรรเทาสถานการณ์เงินเฟ้อที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งผิดจากที่ตลาดคาดเอาไว้ว่าจะมีการทำ Quantitative Tightening หลังจากได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปสักระยะหนึ่งแล้ว และเมื่อเทียบกับช่วงกลางปี 2561 ที่ Fed ได้ทำการลดสภาพคล่องในตลาดนั้น อัตราดอกเบี้ยได้ถูกปรับขึ้นมาในช่วง 2 ปีก่อนหน้าที่จะมีการลดสภาพคล่องแล้ว (เริ่มปรับดอกเบี้ยขึ้นปี 2559) เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อตลาดหุ้นโดยรวม อย่างไรก็ตาม การที่ตลาดหุ้นทั่วโลกมีการปรับตัวลดลงในปี 2561 นั้น นอกจากเรื่องการทำ Quantitative Tightening ยังมีปัจจัยสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนเขามาเกี่ยวข้องด้วย

ความกังวลของตลาดนั้นยังคงมุ่งเน้นไปที่ตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงเกินไป โดยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯพุ่งขึ้นไปแตะ 7% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปี และมีความกังวลว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงต่อไปอีก หาก Fed ไม่เริ่มใช้เครื่องมือนโยบายทางการเงินต่างๆ เพื่อลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อในระยะสั้น เพราะมีปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาสนับสนุนตัวเลขเงินเฟ้อให้ปรับตัวสูงขึ้น อาทิเช่น สถานการณ์ปัญหาคอขวดของห่วงโซ่อุปทานที่ส่งผลให้ราคาต้นทุนของสินค้าทั่วโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น และราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง จากคลังน้ำมันของ OECD ที่อยู่ในระดับต่ำและการคงระดับการผลิตน้ำมันของ OPEC 

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันกับช่วงปี 2561 ณ ปัจจุบัน สินทรัพย์รวมของ Fed อยู่ที่ระดับ 8.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นไปแตะ 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสิ้นสุดการทำ Quantitative Easing ในเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งเป็นระดับที่สูงมากเมื่อเทียบกับช่วงปี 2561 ที่มีการทำ Quantitative Tightening ซึ่งสินทรัพย์รวมของ Fed อยู่ที่ระดับ 4.46 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น 

โดยในระยะสั้น 3-6 เดือนแรกของการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการลดสภาพคล่องในตลาดนั้น อ้างอิงจากระดับสินทรัพย์รวมของ Fed ที่มีอยู่ในปัจจุบัน สภาพคล่องในตลาดยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นจะไม่รุนแรงเหมือนรอบที่ผ่านๆ มา อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯยังอยู่ที่ระดับ 0.25% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำมาก ทำให้ยังเหลือพื้นที่ให้ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยที่จะไม่ส่งผลกระทบแบบมีนัยสำคัญต่อตลาดหุ้น

นส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจไทย กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทยนั้นเริ่มกลับมาดีขึ้น การบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ภาคการบริการและภาคการท่องเที่ยวได้รับผลบวกไปด้วย โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวจะเพิ่มมากขึ้นในปีนี้ จากความกังวลเกี่ยวกับโรคระบาดโควิดที่ลดลง และคาดว่าสามารถกลายเป็น Endemic ได้ภายในปี 2565 อีกทั้งในช่วงนี้คือช่วงของการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 4/2564 ซึ่งตัวเลขผลประกอบการนั้นมีแนวโน้มที่จะออกมาดีกว่าที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีกว่าคาดในช่วงไตรมาสที่ 4/2564 

โดยสาเหตุหลักมาจาก Pent-up demand ที่มีปริมาณมากเพราะมาตรการล็อคดาวน์ในไตรมาสที่ 3/2564 รวมไปถึงความกังวลของการแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์ โอไมครอนนั้นได้ลดลงไปแล้ว จากแนวโน้มของจำนวนผู้ติดเชื้อที่สอดคล้องกับ Best case ที่ศบค. ได้คาดการณ์ไว้ ประชากรไทยที่ได้รับวัคซีนเข็มที่สองแล้ว มีถึง 72% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และคาดว่าจะเกิด Herd Immunity ได้ในปี 2565 นี้ ส่งผลให้ SET Index ยังมีปัจจัยบวกที่มาสนับสนุนอยู่

ภาพรวม SET Index ยังสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้จากปัจจัยบวกภายในประเทศที่คอยสนับสนุน และมี Downside Risk ค่อนข้างน้อย ถึงแม้ว่าจะมีความกังวลเกี่ยวกับปัจจัยภายนอกประเทศจากนโยบายทางการเงินของ Fed แต่ตลาดหุ้นได้รับรู้ความเสี่ยงในเรื่องนี้ไประดับหนึ่งแล้ว และเมื่อย้อนกลับไปดูในช่วงปี 2561 SET Index ก็สามารถ Rebound กลับมาอยู่ในจุดเดิมได้หลังจากเวลาผ่านไปแค่ 6 เดือน ในส่วนของ US Bond Yield ที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามนโยบายของ Fed นั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยโดยรวมมากนัก เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยส่วนใหญ่นั้นเป็นหุ้นประเภท Value ซึ่งจะ Outperform ในช่วงที่ผลตอบแทนของพันธบัตรปรับตัวเพิ่มขึ้นสูง จากปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ SET Index มีฐานที่มั่นคงและสามารถปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้ท่ามกลางความกังวลต่างๆ ในปัจจุบัน