DeFi จะฆ่าธนาคารพาณิชย์หรือไม่ ?

ถ้าหากมีบริการรับฝากเงินแล้วได้ผลตอบแทน 20% ต่อปี? คุณจะรู้สึกตื่นเต้นและรีบถอนเงินจากบัญชีธนาคารของคุณไปใช้บริการดังกล่าวเลยไหม?

ปัจจุบันดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยอยู่ที่สูงสุดคือ 1.35% เมื่อฝากประจำ 12 เดือน (อ้างอิงจากเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย) สำหรับผู้ที่มีเงินเก็บทั้งหมดอยู่ในรูปเงินฝากและคาดหวังว่าเงินเก็บจะงอกเงยเป็นกอบเป็นกำเพื่อให้สามารถมีใช้เพียงพอในช่วงวัยเกษียณ ดูจะเป็นความหวังที่เลือนราง เพราะต้องอย่าลืมว่าอัตราเงินเฟ้อในหลาย ๆ ช่วงเวลาอาจจะอยู่ในระดับที่สูงถึง 1-3% เพราะฉะนั้นโอกาสที่อำนาจการใช้จ่ายของเงินฝากในบัญชีธนาคารของคุณอีก 20 ปีข้างหน้าจะน้อยลงหรือติดลบจากผลของค่าของเงินที่น้อยลงจากภาวะเงินเฟ้อก็เป็นไปได้สูง

แล้วเรามีทางเลือกอะไรบ้าง ? ถ้าหากเราต้องการที่จะสร้างความเติบโตให้กับสินทรัพย์ของเราให้เอาชนะเงินเฟ้อได้ การลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ เช่น กองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ การลงทุนในหุ้นโดยตรง หรือแม้กระทั่งไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ซึ่งวิธีการลงทุนเหล่านี้สามารถสร้างผลตอบแทนได้มากขึ้นแต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินต้นได้มากขึ้นเช่นกัน

ช่วงสองปีที่ผ่านมาจากการขยายตัวของการใช้งานเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานของ Crypto-currency อย่าง Bitcoin มีนวัตกรรมทางการเงิน ที่สร้างขึ้นต่อยอดมาจากระบบ Blockchain หลายตัว มีศัพท์คำหนึ่งเกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กันกับเทคนิคที่เชื่อกันว่าจะมาทดแทนผลิตภัณฑ์ของธนาคารพาณิชย์ได้เลย นั่นก็คือ DeFi หรือย่อมาจาก Decentralized Finance ความหมายของ DeFi หากแปลตามตัวก็คือระบบการเงินที่ไม่มีศูนย์กลาง ไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานกลางเป็นผู้ควบคุมดูแล

ดย DeFi สร้างขึ้นมาจากความสามารถของ Blockchain ที่ใช้ในการเก็บบัญชีของเหรียญ Crypto Currency และใช้งานร่วมกับ Smart Contract ซึ่งเป็นสัญญาอัจฉริยะที่ควบคุมเงื่อนไขของสัญญาโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ความสามารถของ Smart Contract ทำให้การควบคุมเงื่อนไขทางการเงิน เช่น การจ่ายดอกเบี้ย การกระจายเงินให้กับหลาย ๆ บัญชี หรือการล็อกเงินไว้ในบัญชีไม่ให้เคลื่อนไหวสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องมีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง

ผลิตภัณฑ์แรก ๆ ในกลุ่มของ DeFi ที่เป็นที่นิยมอย่างสูง คือ ระบบการแลกเปลี่ยนเงิน Crypto Currency ประเภทต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นมาจากการตั้งเงินกองกลาง (Liquidity Pool) ที่คนทั่วไปสามารถส่งคู่เหรียญ (Currency Pair) มาฝากไว้ที่ Smart Contract และถ้าหากมีคนต้องการแลกเหรียญ

ก็สามารถทำได้โดยการส่งเหรียญต้นทางที่ต้องการแลกมายัง Smart Contract และ Smart Contract จะทำการโอนเหรียญปลายทางที่ต้องการแลกกลับไปยังผู้ส่งพร้อมกับหักค่าธรรมเนียมของการแลกเปลี่ยนโดยอัตโนมัติ ซึ่งค่าธรรมเนียมนี้ก็จะถูกกระจายไปให้กับคนที่นำคู่เหรียญมาฝากไว้ในเงินกองกลาง

การหักค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นและการกระจายรายได้ไปสู่ผู้ฝากคู่เหรียญเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมีตัวกลาง ไม่ต้องมีเคาน์เตอร์รับแลกเงิน และค่าธรรมเนียมในการแลกที่กระจายให้กับผู้ฝากเงินนั้นในบางระบบสูงถึง 4-5% โดยจ่ายดอกเบี้ยแบบตลอดเวลาตาม transaction ที่เกิดขึ้นจริงในระบบ

ระบบการแลกเงินนี้เป็นเพียงตัวอย่างแรก ซึ่งในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงแค่ระบบการแลกเงินที่เป็นที่นิยม แม้กระทั่งระบบการปล่อยเงินกู้ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ก็ได้เกิดขึ้นแล้วบนระบบ DeFi และเป็นที่นิยมอย่างสูงเช่นเดียวกัน ด้วยความที่ทั้งหมดเป็นระบบอัตโนมัติ ทำการควบคุมโดยโปรแกรม Smart Contract มีโปรแกรมเมอร์หัวใสหลาย ๆ กลุ่มทำการสร้างระบบที่เชื่อมเอาระบบ DeFi หลาย ๆ ระบบทั้งการฝาก การกู้ การแลกเปลี่ยน มาเชื่อมต่อกันเป็นสายเพื่อสร้างระบบ Yield Farming และสามารถสร้างผลกำไรได้ในระดับ 50-100% ต่อปีอย่างน่าประทับใจ

การเกิดขึ้นของ DeFi เป็นสิ่งที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องรีบหันกลับมามองและพิจารณาดูว่าธุรกิจการรับฝากเงิน และให้กู้เงินแบบดั้งเดิมที่เป็นแหล่งสร้างรายได้หลัก (Cash Cow) ของธนาคารนั้นในอีก 10 ปีข้างหน้าจะอยู่รอดปลอดภัยจากการที่ลูกค้าหันไปใช้งาน DeFi platform กันหมดหรือไม่ และธนาคารจะต้องขยับอย่างไรเพื่อไม่ให้ตกเทรนด์เทคโนโลยีของโลกที่สำคัญ ทั้งนี้ทั้งนั้น DeFi platform หลาย ๆ ตัว ถึงแม้จะสร้างผลตอบแทนที่สูงมากจนน่าตกใจ แต่ก็มาด้วยความเสี่ยงที่สูงเช่นกัน เพราะฉะนั้นผู้ลงทุนควรจะพิจารณาความเสี่ยงให้รอบคอบก่อนจะตัดสินใจนำเงินไปฝากบน DeFi platform ใด ๆ

*บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการให้ข้อมูลเท่านั้น ไม่ถือเป็นการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนแต่อย่างใด*