อีกหนึ่งปัจจัยความสำเร็จของดีพเทคสตาร์ทอัพ

อีกหนึ่งปัจจัยความสำเร็จของดีพเทคสตาร์ทอัพ

อนุสนธิจากข่าวคดี “เธรานอส” ซึ่งถือว่าเป็นดีพเทคสตาร์อัพดาวรุ่งที่โด่งดังในสหรัฐเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วโดยสามารถระดมทุนจากนักลงทุนและบริษัทร่วมลงทุนเวนเจอร์แคบปิตอลได้จำนวนมหาศาลในระดับยูนิคอร์น

โดยสตาร์อัพสาว อลิซาเบธ โฮล์มส์ ที่เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งบริษัท โดนคณะลูกขุนรัฐแคลิฟอร์เนียตัดสินว่าเธอมีความผิดฐานฉ้อโกงทางธุรกิจที่มีโทษจำคุกสูงถึง 20 ปี

อลิซาเบธ โฮล์มส์ ทำวิทยานิพนธ์วิจัยในระดับปริญญาเอกเกี่ยวกับนวัตกรรมการตรวจเลือดที่มีศักยภาพในการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดเพียงเล็กน้อยในจำนวนเป็นหยดแต่สามารถวินิจฉัยโรคสำคัญต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางและแม่นยำ

เธอตัดสินใจก่อตั้ง บริษัท เธรานอส ขึ้น เพื่อพยายามพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมจากงานวิจัยนี้ออกสู่ตลาดโดยยอมที่จะไม่รอให้จบการศึกษาอย่างสมบูรณ์เสียก่อน และสร้างข่าวฮือฮาในวงการธุรกิจดีพเทคมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งหนังสือพิมพ์วอลล์ สตรีท เจอร์นัล ได้รายงานว่านวัตกรรมการตรวจเลือดนี้เป็นเรื่องไม่จริงและบริษัทพยายามปั้นข่าวเท็จหลอกลวงประชาชนมาโดยตลอดเพราะนวัตกรรมดังกล่าวไม่ได้ผลตามที่บริษัทกล่าวอ้าง

ระหว่างต่อสู้คดี โฮล์ม อ้างว่า เธอรู้สึกเสียใจที่ดำเนินธุรกิจผิดพลาดและไม่ได้ตั้งใจที่จะทำให้ใครๆ เข้าใจผิด เธอแค่เชื่อมั่นในทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ของบริษัทว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะได้ผลจริง

เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับดีพเทคสตาร์ทอัพด้านการบุกเบิกเทคโนโลยีอวกาศที่โด่งดังในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น สเปซเอ็กซ์ ของ อีลอน มัสก์ หรือ บูล ออริจิน ของ เจฟฟ์ เบซอส ที่โด่งดังมาจากการปั้นธุรกิจอีคอมเมิร์ซ อเมซอน บริษัทสตาร์อัพ ที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก

ในขณะที่ อลิซเบธ โฮล์ม ได้รับการศึกษาในระดับปริญญาเอก แม้จะไม่จบจนได้รับปริญญาเอก แต่ อีลอน มัสก์ และ เจฟฟ์ เบซอส แม้ว่าจะเรียนมาทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ แต่ก็อยู่ในระดับปริญญาตรีเท่านั้น เหตุใดพื้นฐานการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงไม่มีผลต่อความสำเร็จของดีพเทคสตาร์ทอัพ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจนำมาวิเคราะห์เป็นกรณีศึกษา

ในด้านการนำเสนอวิสัยทัศน์เชิงธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น โฮล์ม มัสก์ หรือ เบซอส ต่างก็มีความสามารถในการโน้มน้าวใจตลาดและผู้เกี่ยวข้องให้หันมาสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมตามวิสัยทัศน์ของเจ้าของไอเดียผู้ริเริ่มก่อตั้งธุรกิจดีพเธคสตาร์อัพเหมือนๆ กัน ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องของความไม่รู้ทางด้านธุรกิจและการตลาด

ในยุคของ โฮล์ม เธอได้ชื่อว่าเป็นผู้ประกอบการสตาร์อัพหญิงที่สามารถสร้างความมั่งคั่งทางธุรกิจได้สูงเป็นอันดับ 1 ของโลกเลยทีเดียว

ข้อสังเกตประการหนึ่งก็คือ คำพูดของ โฮล์ม ที่บอกว่า เธอเชื่อมั่นในทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์มากเกินไป ในขณะที่ มัสก์ กับ เบซอส ตัดสินใจเป็นผู้โดยสารชุดแรกที่ออกไปท่องอวกาศกับจรวดของบริษัทของตนเองด้วยความมั่นใจ ทั้งๆ ที่ ทั้ง 2 ก็คงมีทีมนักวิทยาศาสตร์มาช่วย โดยไม่ได้เป็นผู้ลงมือทำการวิจัยทดลองด้วยตนเองเช่นเดียวกับ โฮล์ม

ดังนั้นผู้ริเริ่มก่อตั้ง ดีพเทคสตาร์ทอัพ จึงต้องมีความสามารถในการนำคำแนะนำของบรรดานักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยี หรือการรายงานผลความสำเร็จ มาวิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจเพื่อชี้นำให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้เดินต่อไปได้อย่างถูกทาง

ทักษะทางด้านความการประเมินผลทางวิทยาศาสตร์ หรือที่เรียกว่า Science Literacy ที่มีอยู่ในตัวของผู้ก่อตั้งธุรกิจจึงถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อความสำเร็จของดีพเทคสตาร์อัพอีกประการหนึ่ง นอกเหนือไปจาก Marketing และ Business Literacy

โดยที่คำว่า Literacy ยังไม่มีคำภาษาไทยที่ยอมรับเป็นหนึ่งเดียวกันในปัจจุบัน แต่มีนัยของการเข้าใจและมีความรู้ที่ได้จากพื้นฐานการศึกษาโดยสามารถนำพื้นฐานนี้ไปประยุกต์ใช้ต่อในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ ไม่เฉพาะการมีความรู้ในสาขาที่ศึกษามาเท่านั้น

เช่น การอ่านออกเขียนได้ ถือได้ว่าเป็น Literacy ทางด้านภาษา

แต่การอ่านออกเขียนได้ และรู้ภาษา ก็ไม่ทำให้ทุกคนกลายเป็นคนที่มีเหตุผลที่ถูกต้องและเป็นคนเก่งคนดีของสังคมได้เสมอไป แม้ว่าจะได้รับการศึกษาและฝึกฝนมาตั้งแต่เป็นเด็ก!!!!