เงินเฟ้อพุ่งสูง : ปัจจัยเสี่ยงสำคัญในปี 65

เงินเฟ้อพุ่งสูง : ปัจจัยเสี่ยงสำคัญในปี 65

จากประเด็นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มกลับมาระบาดอีกครั้งภายหลังจากช่วงเทศกาลปีใหม่ รวมทั้งประเด็นค่าครองชีพและเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ถือเป็นประเด็นเศรษฐกิจที่สำคัญที่ได้รับการกล่าวถึงมากในช่วงสัปดาห์แรกของปี 2565 ที่ผ่านมา 

โดยเห็นได้จากราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะราคาเนื้อหมู มีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง

การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า มีสัญญาณตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2564 โดยอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยในเดือนตุลาคมอยู่ที่ระดับ 2.38% เดือนพฤศจิกายน 2.71% และ เดือนธันวาคม 2.17% ทั้งนี้ ในปี 2564 อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 1.23 % ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดในแต่ละหมวดหมู่ พบว่าการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในแต่ละหมวดมีอัตราที่ต่างกัน โดยหมวดหมู่ที่มีการปรับตัวสูงสุด คือ หมวดการขนส่ง ที่มีการเติบโต 7.7% ในปี 2564 ถือเป็นอัตราการเติบโตสูงที่สุดในรอบ 13 ปีนับตั้งแต่ปี 2551 ทั้งนี้ ปัจจัยการเพิ่มขึ้นของการขนส่ง มีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ปี 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 25.5% เมื่อเทียบกับปี 2563 เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวทั่วโลก ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันยังมีอยู่อย่างจำกัด ส่งผลให้ราคาน้ำมันภายในประเทศปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้ามหมวดอาหารในปี 2564 หดตัว 0.1% เนื่องจากราคาข้าวมีการปรับตัวลงตลอดทั้งปี 

สำหรับอัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม ผลของฐานราคาพลังงานที่สูงในเดือนธันวาคมปี 2563 ทำให้อัตราการเติบโตราคาพลังงานในเดือนธันวาคม 2564 ปรับตัวลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อรวมอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม พบสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหลากหลายหมวดหมู่ โดยเฉพาะในหมวดอาหาร ที่มีอัตราการเติบโต 0.77% เป็นการเติบโตสูงที่สุดในปี 2564 โดยอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหาร ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาเนื้อสัตว์และน้ำมันปรุงอาหาร

ทั้งนี้ ในปี 2565 ราคาพลังงานโลกมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยราคาน้ำมันโลกในตลาดน้ำมันสหรัฐฯ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 80 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ภายหลังที่กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ได้ปรับแผนเพิ่มกำลังการผลิตในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการน้ำมันที่น่าจะกลับมาเพิ่มขึ้น หลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนที่มีท่าทีรุนแรงน้อยกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

 

การปรับเพิ่มของราคาสินค้าย่อมส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค แต่เนื่องจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในปัจจุบันยังคงอยู่ในวงจำกัด จึงทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าประเภทอื่น ๆ เพื่อทดแทนได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไป หากต้นทุนด้านพลังงานและการขนส่งยังคงอยู่ในระดับสูง อาจส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทุกชนิดมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นพร้อมกัน ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาที่ตามมาจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น คือความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลง ซึ่งประชาชนอาจเลือกที่จะลดการบริโภคลงจากเดิม ทำให้การบริโภคภายในประเทศมีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ 

ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบขนาดใหญ่ต่อการบริโภคภายในประเทศ การแก้ปัญหาเรื่องราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นในระยะสั้น จำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่การควบคุมต้นทุนการผลิต ทั้งด้านต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนพลังงานที่กระทบต่อการผลิตและการขนส่งสินค้า ภาครัฐจึงมีบทบาทสำคัญผ่านการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เช่น การลดภาษีการนำเข้าถั่วเหลือง อันเป็นส่วนสำคัญของต้นทุนราคาอาหารสัตว์ และ การตรึงราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซหุงต้ม ที่จำเป็นต้องอาศัยเงินจากกองทุนน้ำมัน เพื่อสนับสนุนให้ราคาคงที่อยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงปรับตัวเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ วงเงินกู้เพิ่มเติมมูลค่า 20,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกองทุนน้ำมัน ที่ปัจจุบันติดลบอยู่ 4,480 ล้านบาท อันเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 9 ปี 

เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในช่วงระยะเวลาแห่งการฟื้นตัวในปี 2565 และมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับต่ำตลอดทั้งปี จึงทำให้การแก้ปัญหาเรื่องอัตราเงินเฟ้อสูงภายในประเทศในปัจจุบัน อาจไม่ใช่บทบาทของนโยบายทางการเงินโดยตรง ซึ่งอาจแตกต่างกับแนวทางการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกา ที่มีการส่งสัญญาณปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินที่ตึงตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้ตลาดมีความเชื่อมั่นว่า ในปีนี้จะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 2-3 ครั้ง เพื่อเป็นการควบคุมเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อที่มีการเติบโตสูงที่สุดในรอบ 30 ปี ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา อันเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงเกินกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ดังนั้น ตราบใดที่การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทย ยังคงอยู่ภายในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ระดับ 1.0-3.0% ต่อปี การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินเพื่อแก้ไขสถานการณ์เงินเฟ้อจึงอาจยังไม่เกิดขึ้นในปีนี้