ปีใหม่ที่อาจไม่มีของขวัญชิ้นใหม่

ปีใหม่ที่อาจไม่มีของขวัญชิ้นใหม่

ปี 2021 เราได้รับของขวัญปีใหม่เป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่นับถึงตอนนี้มีประชากรโลกเกินครึ่งได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม และกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันหมู่เป็นที่เรียบร้อย

นอกจากนั้นเรายังได้ของขวัญอีกชิ้นคือ มาตรการผ่อนคลายทั้งทางการคลังและการเงินจากรัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกที่ยังคงอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อวางเส้นทางให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวขึ้นได้อย่างแข็งแกร่งและทั่วถึงหลังวิกฤตโควิด

สำหรับปี 2022 ที่กำลังจะมาถึงนี้ นักลงทุนอาจไม่ได้รับของขวัญกล่องใหญ่เท่าที่เคยทำให้ตลาดหุ้นโลกปรับเพิ่มขึ้นได้ถึงเกือบ 20% เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา (อ้างอิง MSCI All Country World Index ณ วันที่ 29 ธันวาคม) เพราะมาตรการผ่อนคลายทางการเงินจะค่อยๆ หมดไป นำโดยพี่ใหญ่อย่าง FED ที่เริ่มจากการถอนมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ ซึ่งมีกำหนดจบลงในไตรมาส 1

 

พร้อมทั้งส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งในปีหน้า (อ้างอิงจาก FED Dot Plot) ส่วนธนาคารกลางประเทศอื่นๆ ก็เริ่มเข้มงวดนโยบาย โดยธนาคารกลางอังกฤษก็ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกหลังวิกฤติโควิด และยังมีธนาคารกลางอีกหลายแห่งที่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ด้านนโยบายการคลังก็จะไม่ได้หนุนเศรษฐกิจเหมือนช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากงบประมาณขนาดใหญ่ที่ออกมาเยียวยาภาคครัวเรือนและธุรกิจจะหมดไปหลังเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง แต่งบลงทุนภาครัฐสำหรับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจในระยะยาวจะยังคงมีอยู่

นอกจากจะไม่มีของขวัญแล้ว ความเสี่ยงที่จะส่งต่อไปยังปี 2022 ได้แก่ (1) ไวรัสกลายพันธุ์ ล่าสุดสายพันธุ์ Omicron แพร่ระบาดไปทั่วโลกด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่จากข้อมูลทางการแพทย์เบื้องต้นพบว่า ผู้ติดเชื้ออาการไม่รุนแรงและวัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถป้องกันได้ จึงไม่จำเป็นต้อง Lock-down เต็มรูปแบบ เพียงแค่จำกัดกิจกรรมบางส่วนเท่านั้น (2) ปัญหาคอขวดอุปทานและเงินเฟ้อ ที่ต้องจับตาว่าจะคลี่คลายได้ในครึ่งปีหลังตามคาดหรือไม่ หากเงินเฟ้อสูงนานกว่าคาด อาจกดดันให้ธนาคารกลางต้องถอนสภาพคล่องและขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ประเมินไว้

เมื่อปราศจากนโยบายสนับสนุนพิเศษบวกกับผลข้างเคียงจากการอัดฉีดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้เส้นทางการลงทุนปี 2022 เปลี่ยนทิศทางได้ตลอดเวลา ต่างจากช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา ที่ตลาดขยับขึ้นเป็นส่วนใหญ่ เราแนะนำให้นักลงทุนปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ใหม่ ดังนี้

1. เงินสดเป็นอีกหนึ่งขุมทรัพย์ลงทุนชิ้นสำคัญ ด้วยความผันผวนที่จะเพิ่มขึ้น จึงแนะนำให้ถือเงินสดไว้บ้างเพื่อเข้าลงทุนในยามที่ตลาดปรับฐานและควรแบ่งเงินลงทุนเป็นหลายๆ ไม้เพื่อเฉลี่ยต้นทุน

2. กระจายการลงทุน ที่ไม่เพียงแค่กระจายลงในสินทรัพย์ดั้งเดิมอย่างหุ้นและตราสารหนี้ทั่วโลกเท่านั้น แต่รวมไปถึงสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ ด้วย เช่น หุ้นนอกตลาดที่แม้ว่าจะต้องลงทุนนานถึง 7-9 ปี แต่มีโอกาสให้ผลตอบแทนโดดเด่นกว่าหุ้นในตลาด เพราะเข้าลงทุนตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของกิจการ ที่สำคัญคือไม่มีราคาตลาด มูลค่าเงินลงทุนจึงไม่ผันผวนตามข่าวรายวัน นอกจากนี้ อีกหนึ่งสินทรัพย์ที่น่าสนใจคือหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงแบบ Knock-In Knock-Out หรือ KIKO โดยเลือกอ้างอิงผลตอบแทนกับตระกร้าหุ้นไทยหรือต่างประเทศพื้นฐานดี ซึ่งจะให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยรายเดือน เหมาะกับช่วงที่คาดว่าตลาดผันผวนในกรอบ

3. การบริหารพอร์ตเชิงรุกเป็นหัวใจ ที่จะสร้างผลตอบแทนชนะการลงทุนในดัชนีได้ โดยพิจารณาจากทั้งปัจจัยเฉพาะตัวของธุรกิจนั้นๆ เลือกลงทุนบริษัทที่พื้นฐานดี มีความสามารถในการสร้างรายได้และกำไรอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงระดับราคาถูกกว่าปัจจัยพื้นฐาน นอกจากนั้นยังต้องพิจารณาถึงภาพใหญ่ด้วย ทั้งภาพรวมเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ตลอดจนแนวทางการดำเนินนโยบายการเงิน นโยบายจากภาครัฐ และที่ขาดไปไม่ได้เลย คือ การเลือกลงทุนในธุรกิจที่สอดคล้องกับกระแสหลักของโลก โดยเฉพาะเรื่องความยั่งยืน ที่ทั่วโลกกำลังปรับเปลี่ยนมาในทิศทางนี้

แม้จะไม่มีของขวัญปีใหม่ แต่ถ้าหากมีการบริหารพอร์ตเชิงรุกโดยผู้เชี่ยวชาญ และกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ ไปยังสินทรัพย์ทางเลือกอย่างหุ้นกู้อนุพันธ์ และสินทรัพย์นอกตลาด เชื่อว่านักลงทุนก็จะสามารถสร้างขุมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจได้ในปี 2022 ที่จะถึงนี้ สวัสดีปีใหม่ล่วงหน้าค่ะ