5 อันดับสินทรัพย์และกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดปี 2021

5 อันดับสินทรัพย์และกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดปี 2021

ปี 2021 ที่กำลังจะผ่านไปนับเป็นบทเรียนที่ดีทั้งในเรื่องของการลงทุนและในเรื่องของการดูแลสุขภาพให้ปลอดจากโรคภัยและการแพร่ระบาดของ COVID-19 กับเหตุการณ์ที่ไม่ปรกติและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในยุคปัจจุบันเช่นนี้ หลายๆ สินทรัพย์กลับให้ผลตอบแทนดีอย่างคาดไม่ถึง

เราลองมาย้อนดูกันครับ ว่าสินทรัพย์และกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ใดให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดสำหรับปีนี้ (ข้อมูล ณ สิ้นวันที่ 24 ธ.ค. 21)

อันดับหนึ่ง กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) - 29.33%

นับเป็นเวลานานหลายปีแล้วที่กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ให้ผลตอบแทนน้อยกว่าการลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์อื่นๆ เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่เทคโนโลยีต่างๆ เติบโตอย่างก้าวกระโดด และกระบวนการผลิต การใช้พลังงานต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้บทบาทของสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานต่างๆ ลดทอนบทบาทลง อย่างไรก็ตามในปีนี้ ผลกระทบจากนโยบายที่เข้มงวดในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 และอุปสงค์คงค้าง (Pent-up Demand) รวมถึงแรงงานบางส่วนที่หายไป ทำให้ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะในกลุ่มวัตถุดิบผลผลิตการเกษตรและอาหาร (น้ำตาล เนื้อหมู ข้าวโพด เนย) และกลุ่มจำพวกไขมันสัตว์ต่างๆ ปรับตัวขึ้นอย่างมาก ในขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติ (46.95%) และน้ำมันดิบก็ปรับตัวขึ้นอย่างมากเช่นกัน (WTI 52.08%)

อันดับสอง กลุ่มกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (REITs) – 24.98%

กลุ่มทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust) หรือ ที่เรียกติดปากกันว่า “REITs” ให้ผลตอบแทนในเกณฑ์สูงเช่นกัน นำโดย REITs ในกลุ่มอุตสาหกรรม (Industrial REITs) และที่อยู่อาศัย (Residential REITs) โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วท่ามกลางการแพร่ระบาด และราคาอสังหาริมทรัพย์ก็ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเป็นส่วนผสมของอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น อุปทานที่ลดลง สภาพคล่องในตลาดที่สูง และต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำ

อันดับสาม หุ้นสหรัฐฯ – 24.34%

หุ้นสหรัฐฯ ยังคงให้ผลตอบดีต่อเนื่องมาจากปีก่อนหน้า เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเติบโตในอัตราที่สูงต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้อย่างร้อนแรง โดยในปีนี้ดัชนีหลักๆ ยังคงทยอยทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยในกลุ่มดัชนีหลัก ดัชนี S&P500 ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดที่ 25.82% ตามมาด้วย NASDAQ Composite ที่ 21.45% และ Dow Jones ที่ 17.46% โดยผลตอบแทนในปีนี้มีการกระจายมากกว่าในปีก่อนที่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มเทคโนโลยีและหุ้นเติบโตเป็นส่วนใหญ่ ส่วนในปีนี้ทั้งหุ้นขนาดใหญ่และเล็กให้ผลตอบแทนดีใกล้เคียงกัน โดยนอกเหนือไปจากกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับพลังงานและอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนดีในปีนี้ก็เป็นกลุ่มการเงินและกลุ่มเทคโนโลยี

อันดับสี่ หุ้นยุโรป – 21.16%

แม้จะไม่ได้หวือหวาหรือมี Story ที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับหุ้นสหรัฐฯ ที่เต็มไปด้วยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่น่าตื่นเต้น แต่หุ้นยุโรปก็ปรับตัวสูงขึ้นมากในปีนี้ สะท้อนภาวะเศรษฐกิที่ฟื้นตัวและขยายตัวดีที่สุดในรอบหลายๆ ปี แม้จะประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดที่เร่งตัวขึ้นเป็นช่วงๆ แต่การเร่งฉีดวัคซีนก็มีส่วนช่วยลดทอนปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ส่งผลให้มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามายังตลาดยุโรป นอกจากนี้หากเทียบในแง่ของระดับการซื้อขาย หรือ Valuation หุ้นยุโรปเองโดยรวมก็อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าหุ้นสหรัฐฯ ในขณะที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนก็สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี โดยในไตรมาสล่าสุดกำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในดัชนี STOXX600 เติบโตมากถึง 23.50% และคาดว่าจะเติบโตอีก 32.78% ในอีก 12 เดือนข้างหน้า

อันดับสุดท้าย กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) – 6.61%

อันดับสุดท้ายในส่วนของหุ้นที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานที่ฟื้นตัวได้ในระดับหนึ่งตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นำโดยกลุ่มสาธารณูปโภค (Utilities) ก็ให้ผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจในปีนี้ เมื่อเทียบกับระดับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น โดยแม้จะเป็นกลุ่มที่ผลประกอบการไม่ได้หวือหวาหรือเติบโตรวดเร็ว แต่ก็เป็นกลุ่มที่ได้รับผลดีสอดคล้องไปกับวัฏจักรของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน

ในทางตรงกันข้าม ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่การแพร่ระบาดยังคงกดดันกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาส่งผลให้ฟื้นตัวล่าช้า ก็ทำให้ภาพรวมของการลงทุนในหุ้นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาโดยรวม หรือ กลุ่ม Emerging Market (อาจจะมียกเว้นบ้าง เช่น เวียดนามที่ในปี 2021 ให้ผลตอบแทนมากถึง 33.80%) ให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีนัก (-5.48%) รวมถึงหุ้นจีน (-23.20%) พระเอกของปีก่อนก็ยังเผชิญกับปัญหาความไม่แน่นอนจากทางการและยังคงไม่รู้ว่าจะฟื้นตัวเมื่อใด ในขณะที่กลุ่มตราสารหนี้ก็ Underperform ค่อนข้างมาก ทั้งพันธบัตรรัฐบาล (-6.50%) หุ้นกู้เอกชนระดับ Investment Grade (-3.46%) และ High Yield (-4.76%) ที่ให้ผลตอบแทนติดลบเนื่องจากเป็นช่วงขาขึ้นของดอกเบี้ย ทำให้ราคาพันธบัตรที่มีอยู่ในตลาดปรับตัวลดลง และยังมีแนวโน้มโดนกดดันต่อเนื่องในปีหน้า

ท่านผู้อ่านที่ลงทุนมาเป็นระยะเวลาต่อเนื่องหลายปี น่าจะสังเกตุว่าในแต่ละปีก็จะมีสินทรัพย์ที่เป็นผู้ชนะในปีนั้นๆ วนเวียนมาไม่ค่อยซ้ำหน้ากัน ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการกระจายความเสี่ยงไปยังหลายสินทรัพย์ เนื่องจากอนาคตเป็นสิ่งที่เราคาดการณ์ได้ยาก โดยเฉพาะหากเราเน้นลงทุนสำหรับระยะยาว การกำหนดน้ำหนักในแต่ละสินทรัพย์ (Asset Allocation) อาจจะมีความหมายมากกว่าการมานั่งเลือกหุ้นรายตัวเสียด้วยซ้ำ การปรับเปลี่ยนและจัดพอร์ทฟอลิโอเป็นขั้นตอนที่ต้องใส่ใจและติดตามอย่างสม่ำเสมอ โดยในช่วงขึ้นปีใหม่นี้ ขออวยพรให้ทุกท่านจะประสบความสำเร็จกับการจัดสรรเงินลงทุนและเลือกการลงทุนที่ตอบโจทย์ของทุกท่าน และสร้างผลตอบแทนทำให้พอร์ตการลงทุนเติบโตได้อย่างสม่ำเสมอครับ ...

(ขอบคุณ ข้อมูลจาก Blackrock และ Bloomberg. Indexes or prices used are: U.S. equities - MSCI USA Index, EM equities - MSCI Emerging Markets Index, Europe equities - MSCI Europe Index, Japan equities - MSCI Japan Index, China equities - MSCI China Index, DM gov. debt - Bloomberg Barclays Global Treasury Index, Emerging debt - JP Morgan Emerging Market Bond Index (EMBI) Global Composite, High yield - Bloomberg Barclays Global High Yield Index, IG credit - Barclays Global Corporate Credit Index, Commodities - Commodity Research Bureau (CRB) Index, Cash - Bloomberg Barclays U.S. Treasury Bill Index, REITs - S&P Global Real Estate Investment Trust (REIT) Index, Infrastructure - S&P Global Infrastructure Index)

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด