มรสุม Omicron ยังไม่ทันผ่านไป พายุลูกใหม่เริ่มเข้ามา

มรสุม Omicron ยังไม่ทันผ่านไป พายุลูกใหม่เริ่มเข้ามา

2 สัปดาห์ ที่ผ่านมา ตลาดขึ้นลงรายวันตามข่าวสายพันธุ์ Omicron ที่ทะยอยออกมา มีทั้งช่วงที่นักลงทุนตื่นตระหนกเทขายสินทรัพย์เสี่ยง และหลังจากนั้นไม่นาน ตลาดทั่วโลกก็พร้อมใจกันรีบาวด์กลับขึ้นมา

เพราะบางหน่วยงานให้ข้อมูลว่าวัคซีนที่มีอยู่สามารถป้องกันสายพันธุ์ Omicron ได้  ถ้าได้ฉีดเข็มสาม และแม้จะพบว่าแพร่ระบาดได้ง่าย แต่อาการไม่รุนแรงจึงอยู่ในวิสัยที่ระบบสาธารณสุขจะรับมือได้ ระหว่างที่ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสายพันธุ์ Omicron...ก็มีความเสี่ยงใหม่เข้ามาอีก จึงทำให้บรรยากาศการลงทุนไม่สดใสนัก

ความเสี่ยงสำคัญที่ว่าคือ การดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดขึ้นจากธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED เพราะเงินเฟ้อทรงตัวในระดับสูงนานกว่าคาด ทำให้นาย Jerome Powell ประธาน FED ออกมายอมรับว่า เงินเฟ้อสูงอาจไม่ใช่เรื่องชั่วคราวอีกต่อไป ล่าสุดเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนพฤศจิกายนทำระดับสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 40 ปี และคาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง จากค่าเช่าบ้านที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง

 

รวมถึงปัญหาคอขวดอุปทานที่ยังส่งผลกระทบอยู่ นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง หนุนจากความต้องการบริโภคในประเทศ และตลาดแรงงานก็ฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง โดยอัตราการว่างงานปรับลดลงใกล้เคียงระดับก่อนโควิด อีกทั้งยังมีตำแหน่งงานว่างที่เปิดรับสมัครอยู่สูงกว่า 11 ล้านตำแหน่ง ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยกดดันให้ FED ถอนสภาพคล่องเร็วขึ้น

โดยในการประชุมวันที่ 14-15 ธันวาคม ที่ผ่านมา FED มีมติเข้าซื้อสินทรัพย์ในปริมาณที่ลดลงเดือนละ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมที่ลดเดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้มาตรการดังกล่าวสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม และได้ปรับแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น อ้างอิงจาก FED Dot Plot จะขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2022 จากเดิมที่จะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้ง

การที่ FED เริ่มเอา Punchbowl ออกจากงานปาร์ตี้เช่นนี้ ย่อมทำให้นักลงทุนไม่รื่นเริงเหมือนแต่ก่อนที่ตลาดหุ้นขยับขึ้นได้เรื่อยๆ เราแนะนำให้ถือเงินสดไว้บางส่วนเพื่อรอเข้าลงทุนเพราะมีโอกาสที่ตลาดจะปรับฐานเป็นระยะ และหลีกเลี่ยงสินทรัพย์บางประเภทที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเชิงลบ เช่น

  1. พันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้อันดับความน่าเชื่อถือสูง เนื่องจากผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยต่ำ ไม่เพียงพอที่จะชดเชยราคาที่จะลดลงเมื่อดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นได้
  2. สินทรัพย์ในประเทศเกิดใหม่ที่ฐานะการเงินอ่อนแอ แต่กลับจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้กับกระแสเงินทุนไหลออกรวมถึงเงินเฟ้อในประเทศ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น กระทบความสามารถในการจ่ายหนี้ของภาครัฐและเอกชน แต่ประเทศที่ฐานะการเงินแข็งแกร่งและเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำนั้น คาดว่าผลกระทบยังจำกัด
  3. หุ้นที่ซื้อขายในระดับ Valuation สูง และหุ้นกลุ่มเติบโตที่ยังไม่มีกำไร มักอ่อนไหวต่อภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น เช่น หุ้นกลุ่มเทคฯ ขนาดกลาง-เล็ก
  4. ทองคำ การเข้มงวดนโยบายการเงินส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงขึ้น ส่งผลลบต่อราคาทองคำ

ในทางกลับกัน เราแนะนำให้ลงทุนในหุ้นที่มีราคาถูกกว่าปัจจัยพื้นฐาน หรือ หุ้น Value และหุ้นที่เคลื่อนไหวตามวัฏจักรเศรษฐกิจหรือ หุ้น Cyclical เช่น หุ้นกลุ่มการเงิน ที่ราคายังคงน่าสนใจและได้ประโยชน์จากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นด้วย

ส่วนภูมิภาคที่ยังน่าสนใจลงทุนคือ ยุโรป ที่คาดว่านโยบายการเงินจะสวนทางกับ FED โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ตลาดคาดว่า ECB จะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยก่อนปี 2023 และจะยังเข้าซื้อสินทรัพย์ต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังมีนโยบายสนับสนุนการคลังจากทั้งแผน NextGenerationEU มูลค่ากว่า 8 แสนล้านยูโร และงบประมาณจากแต่ละประเทศ โดยเฉพาะพี่ใหญ่อย่างเยอรมนี ที่รัฐบาลใหม่ของนาย Olaf Scholz พร้อมที่จะเพิ่มงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะงบลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม ในแง่ของปัจจัยพื้นฐานก็ยังแข็งแกร่ง ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน ส่วนระดับราคาถือว่ายังไม่แพงเมื่อเทียบกับหุ้นสหรัฐฯ

แม้จะมีมรสุมเข้ามาไม่หยุดยั้ง ทั้งไวรัสกลายพันธุ์และการเปลี่ยนทิศของนโยบายการเงินจาก FED แต่ การบริหารพอร์ตเชิงรุก โดยปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุนอย่างสม่ำเสมอจะเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจได้ในระยะยาว