“โอไมครอน หรือ โอมิครอน?”

  “โอไมครอน หรือ โอมิครอน?”

ฟังมา 2 สัปดาห์ อยากรู้ว่าเจ้าโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้ ออกเสียงว่าอย่างไรกันแน่ หมอบางคนก็เรียก โอไมครอน บางคนก็เรียก โอมิครอน ผมเลยไม่รู้จะเชื่อหมอคนไหนดี งั้นถามใหม่ว่า ใครเป็นคนตั้งชื่อว่า “Omicron” ดีกว่า

ผู้ตั้งชื่อคือ องค์การอนามัยโลก (WHO) แต่ทำไมจึงเลือกชื่อนี้ ก็ต้องย้อนกลับไปที่ชื่อ สายพันธุ์ก่อนหน้านี้ ว่าทำไมใช้ชื่อ เดลตา หรือ เบตา ล่ะ คำตอบก็คือ เขาตั้งชื่อตาม “อักษรกรีกโบราณ” เรียงลำดับลงมาเรื่อยๆ

อักษรกรีกมีใช้มาตั้งแต่ 800 ปี ก่อนคริสตกาล แตกต่างกันไปตามท้องถิ่นต่างๆ แต่ในที่สุดก็พัฒนามาเป็นมาตรฐาน ที่ใช้จนถึงปัจจุบัน มี 24 อักษร เริ่มตั้งแต่ “อัลฟา” จนถึง “โอเมก้า”

ที่คุ้นหน่อยก็คงจะ 4 ตัวแรก ครับ คือ อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา ซึ่งถูกนำมาเรียกเป็นชื่อสายพันธุ์ที่ “น่ากังวล”   (Variants of Concerns) หมดแล้ว คือ อัลฟา พบครั้งแรกในอังกฤษ ส่วน เบตา แกมมา และ เดลตา พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ บราซิล และ อินเดีย ตามลำดับ

ถ้าข้ามลำดับอักษรกรีกต้นๆ ไปไกลสักหน่อย ก็มีที่เราคุ้นๆ อยู่เหมือนกันนะครับ เช่น ตัวที่ 18 อ่านว่า “ซิกม่า” หรือ ตัวสุดท้าย โอเมก้า นั่นเอง 

สายพันธุ์โควิด ที่ WHO เขาไม่ถึงกับ “กังวล” เขาแค่เรียกว่า สายพันธุ์ที่ “น่าติดตาม” (Variants of Interest) เขาก็ใช้อักษรกรีกลำดับถัดๆ มาเหมือนกันนะครับ เช่น “สายพันธุ์มิว (Mu)” พบที่โคลัมเบีย เมื่อเดือนม.ค.2564 และ WHO ตั้งชื่อให้ เมื่อเดือนส.ค.นี้เอง

ถ้าตามลำดับตัวอักษรกรีกแล้ว เจ้าสายพันธุ์ใหม่จากแอฟริกาใต้ ที่กำลังทำให้หวาดหวั่นกันทั่วโลก ก็ไม่ควรจะชื่อ “Omicron” หรอกนะ เพราะยังไม่ถึงคิวครับ

อักษรตัวถัดไปคือ มิว (Mu) เป็นตัวที่ 12 และอักษรตัวที่ 13 คือ “Nu” ตัวที่ 14 ก็เป็น “Xi” แล้วจึงจะถึง “O” หรือ Omicron นี่แหละ ซึ่งเป็นอักษรตัวที่ 15 

ดังนั้นเจ้าสายพันธุ์ ที่เรากำลังศึกษานิสัยของมันอยู่ในเวลานี้ ก็ควรจะมีชื่อ สายพันธุ์ “Nu” จึงจะถูกต้องตามคิว

เลยมีประเด็นขึ้นมาว่า ทำไม WHO จึงตั้งชื่อข้ามไป 2 ตัวอักษร ตรงนี้กลายเป็นความลึกลับ จนกระทั่ง WHO ออกมาแถลง เมื่อวันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน นี้เอง

WHO บอกว่า ตามคิวก็ต้องใช้ “Nu” แต่การออกเสียงจะคล้ายกับคำว่า “New” ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสนในการสื่อสารได้ และอักษรกรีกตัวที่ 14 คือ “Xi” ซึ่งในภาวะอื่น...อาจจะใช้ได้นะ

แต่ในภาวะปัจจุบัน ซึ่งประเทศมหาอำนาจอย่าง จีน มีประธานาธิบดีชื่อว่า สี จิ้นผิง (Xi Jinping) แบบนี้ก็เลิกพูดได้เลย เพราะถ้าเอา Xi มาเป็นชื่อสายพันธุ์ใหม่นี้ มันจะกลายเป็นเรื่องใหญ่โตแน่นอน!

WHO มีนโยบายว่า “จะต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ ต่อความรู้สึกของบุคคลในวัฒนธรรม สังคม เชื้อชาติ ภูมิภาค วิชาชีพ หรือ ชาติพันธุ์ใดๆ”

ที่ WHO นำอักษรกรีกมาใช้ในการตั้งชื่อ ตั้งแต่ครั้งแรก ก็เพราะเหตุผลเดียวกันนี้แหละครับ คือถ้าตั้งชื่อเป็น ภาษาวิทยาศาสตร์ คนทั่วไปก็เรียกยาก แล้วจะเลี่ยงไปเรียก สถานที่ที่พบเชื้อครั้งแรก หรือประเทศที่พบครั้งแรก ก็จะกลายเป็นกระทบความรู้สึกประเทศนั้นๆได้ (ผมว่า WHO หมายถึง “อู่ฮั่น” นั่นแหละครับ)

ทำให้ผมนึกถึง Donald Trump ที่หายหน้าหายตาไปนาน เพราะตอนที่เขาบ้าระห่ำอยู่ในอำนาจ เขาเรียกว่า “ไวรัสจีน” (Chinese Virus) บ่อยครั้ง ทำให้กระทบความรู้สึกกันมาก 

แต่ WHO ก็ยังไม่วายถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพราะวุฒิสมาชิก Ted Cruz ทวีตว่า “ถ้า WHO กลัวพรรคคอมมิวนิสต์จีนถึงขนาดนี้ แล้วเราจะเชื่อได้อย่างไรว่า WHO จะมีความน่าเชื่อถือเพียงพอ และครั้งต่อไป จะไม่ช่วยกลบเกลื่อนเชื้อโรค ที่อาจนำหายนะมาสู่ชาวโลก?”

นักการเมืองก็คงเป็นเช่นนี้ เป็นเรื่องปกติครับ ส่วน Trump ยังก้าวร้าวเหมือนเดิม เขาบอกว่า WHO จะตั้งชื่อว่า Omicron ก็ตั้งไป แต่สำหรับตัวเขานั้น “ไม่ว่าจะพูดกี่ครั้งๆ มันก็คือสายพันธุ์ Xi นั่นแหละ” แสบเหมือนเดิมนะครับ... 

เอาละ กลับไปประเด็นแรกดีกว่า ตกลงมันออกเสียงว่า “โอไมครอน” หรือ “โอมิครอน” กันแน่ ผมค้นคว้ามาหลายแหล่งมาก สรุปว่าขนาดนักภาษาศาสตร์ ก็ยังถกเถียงกันไม่จบเลยครับว่า เจ้า “Omicron” ในกรีกโบราณตัวนี้ ออกเสียงว่าอย่างไรกันแน่ 

อาจารย์จาก Oxford บอกว่าไม่มีข้อสรุปหรอก เพราะไม่มีใครรู้จริงๆ ว่าสมัยโบราณเขาออกเสียงว่าอย่างไร  ส่วนอาจารย์ที่สอนวิชากรีกโบราณ จาก Yale บอกว่าต้องออกเสียงว่า “อ้อ มี๊ครอน”

บางคนก็ออกเสียงว่า “โอ้ ไม๊ ครอน”  ซึ่งผมว่ามันชักจะไปกันใหญ่นะครับ การออกเสียงเจ้าตัวนี้ จึงเป็นประเด็นถกเถียงกันระดับโลก มานาน 2 สัปดาห์แล้ว วันนี้ผมจะต้องหาคำตอบให้คุณให้ได้ ไม่งั้นหงุดหงิดครับ

เมื่ออาจารย์ทางภาษากรีกโบราณ ที่เป็นอเมริกันและอังกฤษ ก็ยังออกเสียงแตกต่างกัน แล้วใครจะตอบได้ล่ะครับ.... ผมว่าต้องคนนี้ครับ เขาคือ ประธานและซีอีโอ ของบริษัท Pfizer และยังเป็น คนกรีซ เกิดที่กรีซ เรียนที่กรีซ อีกด้วย 

ไม่เชื่อคนนี้แล้วจะเชื่อใครเล่าครับ เขาเรียกสายพันธุ์นี้ว่า “อ๊อ หมิ ครอน”

ท่องไว้นะครับ หัดออกเสียงดังๆ สัก 5-6 ครั้งก็ได้ แต่อย่าเอาไปพูดในรายการโทรทัศน์ หรือวิทยุด้วยสำเนียงแบบนี้นะ ถูกถล่มแน่

พูดสำเนียงไทยๆ หน่อยก็ได้ครับ ไปคิดวิธีเอาเองก็แล้วกัน ถ้าพูดไม่ได้จริงๆ จะเรียกมันว่าอะไรก็ได้ ที่ออกเสียงง่ายๆ หน่อย

มันก็ตัวเดียวกันแหละ อย่าไปติดมันเข้าก็แล้วกัน!