ธุรกิจเอสเอ็มอีกับการรู้และทันเทคโนโลยี

ธุรกิจเอสเอ็มอีกับการรู้และทันเทคโนโลยี

คงจะไม่เกินเลยไปนักหากจะกล่าวว่า ธุรกิจกับเทคโนโลยี มีความเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า ธุรกิจที่นำเทคโนโลยีมาใช้ประกอบในการดำเนินการมักจะสามารถสร้างผลตอบแทนจากธุรกิจได้ดีกว่าธุรกิจที่ดำเนินการไปตามกระบวนการทางธุรกิจแบบปกติธรรมดา

เริ่มตั้งแต่การค้นพบเทคโนโลยีในการทำเกษตรกรรมที่ทำให้มนุษย์สามารถสร้างพืชพันธุ์ที่นำมาเป็นอาหารได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการผลิตตามธรรมชาติ มาจนถึงการประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำ การค้นพบและนำกระแสไฟฟ้ามาใช้ การถลุงโลหะ การสังเคราะห์สารเคมีต่างๆ การใช้ประโยชน์จากน้ำมันปิโตรเลียม การนำพฤติกรรมของประจุอิเล็กตรอนมาใช้ในกระบวนการอิเล็กทรอนิกส์ การใช้ประโยชน์จากกระบวนการชีวเคมี มาจนถึงการพัฒนาระบบการสื่อสารโทรคมนาคมจากการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องจักรการคำนวณ หรือ คอมพิวเตอร์

ซึ่งล้วนแต่เป็นผลผลิตทางเทคโนโลยีที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ จนทำให้เศรษฐกิจของโลกมีความก้าวหน้าพัฒนามาอย่างรวดเร็วจนถึงในปัจจุบันซึ่งคำว่า “เทคโนโลยี” มักจะถูกตีความโดยรวมว่า หมายถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์

และยังมีความเข้าใจผิดคิดว่า ธุรกิจเทคโนโลยี จะต้องเป็นธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น เพราะกรณีศึกษาด้านการบริหารธุรกิจ แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะเริ่มต้นมาจากการเป็นธุรกิจขนาดเล็ก เจ้าของคนเดียวหรือหุ้นส่วน 1-2 คนเท่านั้น

แต่เจ้าของเป็นผู้ที่มีความเข้าใจและมองเห็นการนำประโยชน์จากเทคโนโลยีมานำเสนอต่อตลาด และมุ่งพัฒนาธุรกิจที่ใช้เทคโลยีพื้นฐานมาจนสามารถเติบโตขึ้นเป็นธุรกิจขนาดใหญ่และมีเทคโนโลยีที่ซับซ้อนและทันสมัยได้อย่างรวดเร็ว

ดังนั้น ธุรกิจที่มีขนาดเล็กแต่มีความรู้เท่าและทันต่อเทคโนโลยี ก็จะมีศํกยภาพในการก้าวกระโดดมาเป็นธุรกิจเทคโนโลยีได้เช่นกัน

แนวทางสำหรับเจ้าของหรือผู้มีอำนาจบริหารธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องการจะพัฒนาธุรกิจของตนเองให้รู้เท่าและทันเทคโนโลยี อาจทำได้ง่ายๆ ดังนี้

มองเทคโนโลยีด้วยความเข้าใจพื้นฐาน ว่าเทคโนโลยีก็คือผลผลิตที่เกิดจากการนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาเข้าใจกลไกที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมา (วิทยาศาสตร์) แล้วนำมาประยุกต์รวมเข้ากับความรู้ความสามารถจากการประดิษฐ์เครื่องมือที่จะนำมาใช้แทนกระบวนการธรรมชาติ (การออกแบบวิศวกรรม การออกแบบวิธีการทำงาน) เพื่อนำเสนอต่อตลาดเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจ

ดังนั้น ใครก็ตามที่มองออกว่า สิ่งต่างๆ ในธรรมชาติที่มีคนศึกษาจนเข้าใจแล้วว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร หรือได้เป็นผู้พยายามศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองและค้นพบกลไกหรือวิธีการเหล่านี้เอง จะสามารถนำมาออกแบบ ประดิษฐ์ หรือต่อยอดให้เป็นกระบวนการทำงานแบบใหม่ที่อำนวยประโยชน์ได้มากกว่าสิ่งที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็จะสามารถสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่และพัฒนาต่อเนื่องให้เป็นนวัตกรรมเชิงธุรกิจได้

มองให้ออกว่าเทคโนโลยีเป็นเหรียญที่มี 2 ด้านเสมอ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของ โอกาส และความเสี่ยง ความสำเร็จและความล้มเหลว ประโยชน์และโทษ ต้นทุนและกำไร ฯลฯ เพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงธุรกิจว่า ตลาดและผู้บริโภคมีความพร้อมที่จะรับเทคโนโลยีที่ธุรกิจจะนำเสนอหรือไม่ ก้าวล้ำเกินไปหรือไม่ ซับซ้อนเกินไปหรือไม่

การกำหนดช่วงเวลาที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ออกสู่ตลาดมีความสำคัญอย่างยิ่ง จนบางครั้งอาจต้องอดใจเก็บสิ่งที่คิดค้นได้ใหม่ไว้ก่อน เพื่อรอเวลาที่เหมาะสม

สร้างทักษะและหาทางเพื่อได้สัมผัสสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ในปัจจุบันเทคโนโลยีอาจเข้ามาถึงในบ้าน ในชีวิตประจำวัน เจ้าของหรือผู้บริหารเอสเอ็มอีที่สนใจติดตามและสัมผัสกับเทคโนโลยีเหล่านี้ ก็จะทำให้เกิดการรู้เท่าและทันเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถหาซื้อมาลองใช้ได้ เพื่อจุดประกายความคิดใหม่ๆ ทางธุรกิจ

แต่เนื่องจากธุรกิจ เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยกำลังและแรงผลักดันจากพนักงานและบุคลากรหลายฝ่ายในลักษณะการทำงานประสานกันเป็นทีม การให้โอกาสหรือส่งเสริมให้บุคลากรในธุรกิจได้มีโอกาสสัมผัสและรู้เท่ารู้ทันเทคโนโลยี ก็จะเป็นแรงหนุนสำคัญอีกส่วนหนึ่ง

การได้สัมผัสกับเทคโนโลยีใหม่ อาจเกิดขึ้นง่ายๆ จากการได้ฟังจากผู้อื่น การได้รับข้อมูลข่าวสาร โดยมีส่วนสำคัญคือ เมื่อได้สัมผัสรับฟังแล้ว จะต้องนำไปสู่การพัฒนาและเสริมทักษะที่มีอยู่ในตัวบุคลากร เช่น การได้โอกาสในการทดลองง่ายๆ ว่าความคิดใหม่ที่เกิดขึ้นจะเป็นจริงได้มากน้อยอย่างไร

สำหรับปัจจุบัน ทักษะที่มีผู้รู้หลายฝ่ายสนับสนุนให้บุคลากรในภาคธุรกิจทุกระดับควรมีพื้นฐานอยู่บ้าง ก็คือทักษะการโค้ดดิ้ง เพื่อสร้างความเข้าใจพื้นฐานว่าเครื่องคอมพิวเตอร์สามารถคิดหาคำตอบได้อย่างไร

ภายใต้บริบทที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า โอกาสที่ธุรกิจจะนำเทคโนโลยีมาใช้ประกอบเพื่อสร้างการเติบโตและความสามารถในการแข่งขันได้โดยไม่ยาก จะเกิดขึ้นกับธุรกิจเอสเอ็มอีได้ง่ายกว่า เนื่องจากอำนาจการตัดสินใจและจำนวนบุคลากรที่มีอยู่ สามารถส่งเสริมผลักดันให้เกิดทักษะในการรู้เท่ารู้ทันเทคโนโลยีในระดับพื้นฐานได้ง่ายกว่า!!!!