เศรษฐกิจโลกปี 2022: ปีแห่ง Normalization

เศรษฐกิจโลกปี 2022: ปีแห่ง Normalization

ล่วงเข้าสู่โค้งสุดท้ายของปี เป็นธรรมดาที่จะต้องพิจารณาถึงแนวโน้มของปีหน้า ซึ่งหากพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ของปีที่แล้วเทียบกับปีนี้ จะเห็นภาพที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

 ในช่วงปลายปีที่แล้ว นักลงทุนต่างมองภาพในปีนี้ด้วยความหวัง ผลการเลือกตั้งของประธานาธิบดีสหรัฐที่ได้ โจ ไบเดน มาแทน โดนัลด์ ทรัมพ์ รวมถึงการประกาศของบริษัทยาว่าสามารถคิดค้นวัคซีนที่จะเข้ามาฉีดเพื่อป้องกันโรค Covid-19 ต่างทำให้ความหวังของนักลงทุน รวมถึงประชาชนทั่วไปเพิ่มพูนขึ้น ภาพเศรษฐกิจการลงทุนดีเยี่ยมในช่วงครึ่งปีแรก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ทั้งการเงินและการคลัง จนเกิดสถานการณ์ “Too good to be true” หรือดีเกินไปที่จะเป็นจริง

     ล่วงเข้าสู่ครึ่งปีหลัง ภาพเศรษฐกิจการลงทุนโลกเริ่มเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในจีนที่ประกาศนโยบาย Common prosperity เพื่อสร้างความเท่าเทียมเชิงสังคม และคุมเข้มธุรกิจที่ทางการเห็นว่ามีความเสี่ยง เช่น Fintech ธุรกิจสอนพิเศษ เกมออนไลน์ ภาคอสังหาฯ ธุรกิจเหมืองแร่ เป็นต้น ภาพเหล่านี้ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากธุรกิจอสังหาฯที่ใหญ่เป็นอันดับสองในจีนอย่าง China Evergrande ประสบปัญหาการเงิน ประกอบกับนโยบาย Covid zero ที่พร้อมจะ Lockdown หากเริ่มมีการระบาด รวมถึงวิกฤติพลังงานที่เกิดช่วงปลายปี ทำให้เศรษฐกิจและการลงทุนจีนมีความเสี่ยงมากขึ้น

  ในฝั่งของเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว เศรษฐกิจและการลงทุนเริ่มเห็นสัญญาณเสี่ยงมากขึ้น ทั้งจากภาวะเงินเฟ้อสูงที่ลากยาวมากขึ้น ตัวเลขเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอลง (จนบางฝ่ายมีความกังวลถึงสถานการณ์ Stagflation fear) รวมทั้งนโยบายการเงินการคลังที่เริ่มตึงตัว แต่ด้วยสภาพคล่องที่มีมาก ทำให้การลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงยังคงไปต่อได้

 คำถามคือ ภาพของโลกเศรษฐกิจและการลงทุนในช่วงปีหน้าจะเป็นเช่นไร คำตอบที่พิจารณาได้ง่ายสุด ได้แก่ ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจล่วงหน้าของ OECD ที่ดึงข้อมูลจำนวนมากมารวมกันเพื่อคาดการณ์กิจกรรมในช่วงหกถึงเก้าเดือนข้างหน้า บ่งชี้ถึงสัญญาณของการเติบโตสูงสุด (Peak growth) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ขณะที่การเติบโตเริ่มชะลอตัวลงในแคนาดาและอิตาลี ขณะที่ในตลาดเกิดใหม่ OECD คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวแรงในจีน อินเดีย และบราซิล

ด้วยภาพเช่นนั้น ประกอบกับทิศทางเงินเฟ้อ และแนวนโยบายการเงินการคลังโลกที่ชัดเจนขึ้น เราจึงมองธีมของเศรษฐกิจการลงทุนในปีหน้าเป็น “ปีแห่งความแตกต่าง” โดยแตกต่างทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และนโยบายการเงินการคลัง

      ในแง่ของเศรษฐกิจ ภาพใหญ่ของโลกปีหน้าคือ Global Growth normalization หรือการที่เศรษฐกิจโลกค่อย ๆ กลับมาสู่ความเป็นจริงมากขึ้น หลังจากที่ตกต่ำมากในปี 2020 (GDP โลกหดตัว -3.2%) จากวิกฤติCovid-19 และฟื้นรุนแรงในปีนี้ที่ 5.9% ตามประมาณการของ IMF ขณะที่ปีหน้า การขยายตัวจะเริ่มชะลอลงมาอยู่ที่ 4.9%

       แต่ภาพที่แตกต่างจะเห็นชัดเจนขึ้นทั้งในแง่ระดับเศรษฐกิจและในแง่เวลา ในแง่ระดับเศรษฐกิจ เราจะเห็นการชะลอลงที่ชัดเจนขึ้นของประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐและยุโรป อันเป็นผลทั้งจาก (1) ความต้องการที่ถูก “อั้น” ไว้ (Pent-up demand) เริ่มหมดลง (2) ต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และ (3) นโยบายการเงินการคลังที่จะตึงตัวขึ้น แต่ในกลุ่มนี้สหรัฐจะดูดีกว่าที่อื่น เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่า และการที่ภาคบริการที่มีขนาดใหญ่กว่า 80% ของเศรษฐกิจ กำลังฟื้นตัวขึ้น          

      ในฝั่งกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะในเอเชียแต่ไม่รวมจีน (Emerging Asia ex. China) เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกจะเป็น “Sweet spot” หรือจุดที่หอมหวาน เพราะการเริ่มเปิดประเทศหลังฉีดวัคซีนได้มากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจในประเทศ (การบริโภค-การลงทุน) กลับมาอีกครั้ง นอกจากนั้น รายได้ประชาชนที่มีมากขึ้นจากการส่งออก รวมถึงเงินจากมาตรการการเงินการคลังที่ยังคงผ่อนคลายต่อเนื่อง จะทำให้เศรษฐกิจ EM Asia ex. China ร้อนแรงในครึ่งปีแรก ขณะที่ในครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจ EM Asia ex. China จะได้แรงหนุนจากการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาชัดเจนขึ้น แต่การใช้จ่ายในประเทศจะเริ่มชะลอลง ประกอบกับนโยบายการเงินการคลังใน EM Asia ex. China จะเริ่มคุมเข้มขึ้น ทำให้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายจะเริ่มไหลกลับไปประเทศพัฒนาแล้วอีกครั้งหลังจากที่จะไหลเข้า EM Asia ex. China ในช่วงครึ่งแรกของปี

     ภาพของเศรษฐกิจจีนจะแตกต่างจากกลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากเข้าสู่วิกฤติ COVID-19 และฟื้นตัวก่อนประเทศอื่น ขณะที่ในปัจจุบันเศรษฐกิจจีนเผชิญกับ 3 วิกฤติด้วยกันคือ (1) วิกฤตพลังงาน ผลจากการคุมเข้มการใช้เชื้อเพลิงสกปรก เช่น ถ่านหิน (2) วิกฤติอสังหาฯ และภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยเฉพาะ Fintech อันเป็นผลจากนโยบายเพิ่มความเท่าเทียมทางสังคม หรือ Common prosperity policy และ (3) วิกฤติ Covid จากแนวนโยบาย Zero-Covid Policy ที่กระทบต่อการบริโภค การลงทุน และภาคการผลิต

     แม้สัญญาณความเข้มงวดเชิงนโยบายจะเริ่มดีขึ้นในหลายจุด เช่น การผ่อนคลายการใช้ถ่านหิน และการเริ่มสั่งการให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจอสังหาฯ แต่เราเชื่อว่า โมเมนตัมเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว ประกอบกับปัญหาห่วงโซ่อุปทาน การขาดแคลนวัตถุดิบ และการระบาดของ Covid-19 จะทำให้เศรษฐกิจจีนจะชะลอต่อเนื่องในไตรมาส 4 ปีนี้ ต่อไตรมาสหนึ่งปีหน้า หลังจากนั้น เงินเฟ้อที่จะเริ่มชะลอลงจากการผลิตที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น การฉีดวัคซีน Covid ทั่วโลกที่มากขึ้นทำให้การระบาดสู่จีนน้อยลง และอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นในไตรมาส 2 เป็นต้นไป จะทำให้ความต้องการพลังงานเริ่มลดลง ปัญหาเงินเฟ้อภาคการผลิตชะลอลง และทำให้เศรษฐกิจค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้นครึ่งปีหลัง แต่การขยายตัวของ GDP โดยรวมในปีหน้า (ที่ประมาณ 5.0% หรือต่ำกว่า) จะขยายตัวต่ำกว่าปีนี้ที่ประมาณ 8.0%

      อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจโลกจะกลับเข้ามาสู่จุด “ปกติ” ได้ในปีหน้า แต่ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่เราได้เน้นย้ำไว้ในบทความนี้ฉบับที่แล้ว (อันได้แก่ จีนชะลอตัว วิกฤติตลาดเกิดใหม่ และ Global Stagflation) ยังคงอยู่และพร้อมจะพลิกภาพเศรษฐกิจให้กลับมาเลวร้ายลงได้ทุกเมื่อ

     เศรษฐกิจโลกกลับมา Normal แต่ระดับความเสี่ยงยังคงสูง นักลงทุน โปรดเพิ่มความระมัดระวังในปีแห่งเสือไฟ