ซื้อ RMF หรือ SSF ประเภทไหนดี

ซื้อ RMF หรือ SSF ประเภทไหนดี

เหลือเวลาอีกเพียงเดือนกว่าๆก็จะสิ้นปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19  อย่างไรก็ดี นักลงทุนหลายท่านอาจพลิกวิกฤตเป็นโอกาส

โดยนักลงทุนหลายท่านที่ชอบลงทุนสวนตลาด (contrarian investor) และนักลงทุนกลุ่ม value investor ก็อาจทยอยลงทุนสะสมเพื่อรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ส่วนนักลงทุนที่เป็น momentum investor ก็อาจสร้างผลตอบแทนที่ดีจากความผันผวนของตลาดในปีนี้  ในขณะที่นักลงทุนจำนวนมากได้หันไปลงทุนในกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเริ่มฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 มาตั้งแต่ในปี 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศในปีนี้มีเงินไหลเข้ากว่า 2.18 แสนล้านบาท (ข้อมูลระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 29 ต.ค. 2564 ประเมินโดยใช้ข้อมูลจาก Morningstar)

 

ในช่วงนี้ นักลงทุนหลายท่านอาจจะเริ่มพิจารณาถึงการลงทุนในกองทุน RMF และ/หรือ SSF กันบ้างแล้ว โดยในบทความนี้ผมขออนุญาตไม่กล่าวถึงรายละเอียดและความแตกต่างของกองทุน 2 ประเภทนี้ เพราะท่านนักลงทุนสามารถหาอ่านได้จากหลายแหล่ง หรือขอคำปรึกษาจากที่ปรึกษาการลงทุนเพื่อที่จะได้รับรายละเอียดแบบครบถ้วน แต่จะเน้นถึงแนวทางการเลือกประเภทกองทุนที่จะลงทุน

สมมุติว่าท่านนักลงทุนตัดสินใจได้แล้วว่าจะเลือกลงทุนใน RMF หรือ SSF ขั้นตอนต่อมาก็คือการเลือกประเภทกองทุน ซึ่งเป็นปกติที่สิ่งแรกที่นักลงทุนมักจะคิดถึงก็คือ กองทุนไหนที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ แต่ในหลักของการลงทุนแล้วสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกคือความเสี่ยงที่นักลงทุนยอมรับได้ เพราะกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงมักจะมาพร้อมกับระดับความเสี่ยงที่สูงด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ RMF และ SSF มีกองทุนให้เลือกหลากหลายประเภท ตั้งแต่กองทุนตลาดเงินที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐของไทย ซึ่งมีระดับความเสี่ยงต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับกองทุนอื่นๆ ไปจนถึงกองทุนที่มีความเสี่ยงสูงมากอย่างกองทุนที่มีนโยบายการลงในหุ้นเฉพาะกลุ่ม

สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำมาก กล่าวคือ สามารถรับความผันผวนของผลตอบแทนการลงทุนได้น้อย ควรพิจารณาลงทุนใน RMF และ/หรือ SSF ประเภทที่เป็นกองทุนตลาดเงิน ซึ่งอาจได้รับผลตอบแทนต่ำ แต่โอกาสที่จะขาดทุนในช่วงสั้นๆก็ต่ำเช่นกัน

สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้มากขึ้นในระดับถัดมา กล่าวคือ สามารถรับความผันผวนของผลตอบแทนการลงทุนได้มากขึ้น และสามารถรับได้ว่าผลตอบแทนการลงทุนในบางช่วงอาจขาดทุนยาวนานระหว่าง 3 เดือนถึงประมาณ 1 ปี ก็อาจพิจารณาถึงการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ในประเทศ หรือหากนักลงทุนสามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนในต่างประเทศได้ ก็อาจพิจารณาลงทุนในกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ

สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง กล่าวคือ สามารถยอมรับได้ว่าผลตอบแทนการลงทุนอาจผันผวนมาก โดยบางช่วงนักลงทุนอาจขาดทุนมากกว่า 30% และอาจขาดทุนยาวนานหลายปี ก็อาจพิจารณาลงทุนในกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นในประเทศ หรือหากนักลงทุนสามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนในต่างประเทศได้ ก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้เช่นกัน

นอกจากนี้ นักลงทุนอาจแบ่งเงินลงทุนไปลงทุนในกองทุนหลากหลายประเภทเพื่อกระจายการลงทุนและลดความเสี่ยงได้ เช่น อาจพิจารณาแบ่งเงินลงทุนครึ่งหนึ่งไปลงทุนในกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ และอีกครึ่งหนึ่งลงทุนในตราสารทุน หรืออาจเลือกกองทุนที่เป็นกองทุนผสมที่มีให้เลือกหลากหลายเข่นกัน โดยในปี 2563 ที่ผ่านมากองทุนผสมที่เน้นสร้างผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอได้รับความสนใจอย่างมาก ก่อนที่ในปีนี้กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศจะได้รับความสนใจอย่างโดนเด่นจากการที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่าผลตอบแทนในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลตอบแทนในอนาคต

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางการลงทุน การลงทุนในตราสารหนี้ยังคงมีแนวโน้มที่จะยังคงสร้างผลตอบแทนได้ต่ำ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดอยู่ที่ระดับต่ำ และอาจได้รับแรงกดดันจากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นในอนาคตข้างหน้า  ในขณะที่การลงทุนในกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดหุ้นประเทศที่พัฒนาแล้ว นักลงทุนบางท่านอาจกังวลว่าแพงไปหรือไม่ เนื่องจากตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรปเป็นขาขึ้นมายาวนานและทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง

ในกรณีนี้ การปรับขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรปมีแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนฯที่แข็งแกร่งกว่าที่คาด จึงพอที่จะอุ่นใจได้บ้างว่าการปรับขึ้นของตลาดดังกล่าวมีปัจจัยพื้นฐานรองรับ  อย่างไรก็ดี ทิศทางการเติบโตของทั้ง 2 ตลาดนี้อาจชะลอตัวลงจากระดับปัจจุบัน เพราะรัฐบาลและธนาคารกลางน่าจะเริ่มทยอยลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

  ในส่วนของตลาดหุ้นไทยและ emerging market อื่นๆ ที่ผ่านมาปรับตัวแย่กว่าตลาดหุ้นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วมากพอสมควร เนื่องจากยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19  ดังนั้น การกลับมาเปิดเศรษฐกิจของไทยจึงน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่น่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และการเร่งฉีดและพัฒนาของวัคซีนและยารักษา น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ