โลกอยู่รอดหากเราร่วมมือ : COP26 และโควิด-19

โลกอยู่รอดหากเราร่วมมือ : COP26 และโควิด-19

4 พ.ย. นักบินอวกาศชาวฝรั่งเศส Thomas Pesquet วิดีโอคอลเตือนภัยถึงประธานาธิบดี Macron จากสถานีอวกาศนานาชาติ เพราะเห็นภาพสลดใจบนผิวโลก ไฟป่า ควันครอบคลุมพื้นที่มหาศาล ในแคนาดาแคลิฟอร์เนียและส่วนอื่นๆ “เหมือนโลกลุกเป็นไฟ”

การประชุม COP26 จนถึงวันที่ 12 พ.ย.นี้ที่สก็อตแลนด์ บรรยากาศเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนทั่วไป หลายกลุ่มองค์กร รวมพลังกันสนทนาและถกเถียง เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาโลกร้อน

ผู้นำจากประมาณ 130 ประเทศ หาทางปฏิบัติอย่างจริงจัง ในการรักษาระดับโลกร้อนให้ขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งคือเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ปารีส 6 ปีที่แล้ว หากอุณหภูมิสูงเกินนี้ ปัญหาไฟป่า น้ำท่วม ดินแล้ง และพายุ จะรุนแรงหนักและบ่อยกว่าปัจจุบัน ตามมาด้วยการขาดแคลนอาหาร การอพยพถิ่นฐานหนีภัย แย่งชิงทรัพยากรเข้าสู่กลียุค

เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวเตือน ด้วยถ้อยคำชัดเจนและรุนแรง ต่อผู้เข้าประชุมว่า “มนุษย์กำลังจะขุดหลุมศพของตนเอง”

กลุ่มเยาวชนนานาชาติเดินทางมาจากหลายมุมเมือง แสดงพลังประท้วงวิจารณ์ ดึงความสนใจจากสื่อมวลชน ประกาศชัดเจนว่าพวกเขาไม่ไว้ใจผู้นำทางการเมืองและเศรษฐกิจของโลกอีกต่อไป

“พวกคุณพูดแต่ไม่ทำ” “blah blah blah” คือคำสบประมาทโดย Greta Thunberg ขวัญใจเยาวชนชาวสวีเดน ซึ่งเป็นฮีโร่ของกลุ่มผู้รณรงค์

ผู้นำไทยเดินทางไปร่วมพิธีเปิด และแถลงการณ์ชัดเจนจะร่วมมือแก้ปัญหา หลังจากกลับมาเมืองไทยวันที่ 4 พฤศจิกายน ได้เชิญตัวแทนเยาวชน Pre-COP Youth4Climate: Driving Ambition และ SEED Thailand เข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อสนทนาประสบการณ์ของการไปประชุมที่อิตาลี เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และสัญญาว่าจะร่วมมือประสานงานกับทุกฝ่าย จะให้บทบาทเยาวชนมีส่วนร่วม

รัฐบาลไทยประกาศส่งเสริมโมเดล BCG ต่อยอดจากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะปลูกต้นไม้ 100 ล้านต้นภายในปีพ.ศ. 2565 เรียกร้องให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือ รวมถึงการผลิตและส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 15 ล้านคัน ภายในปี 2578 เป็นต้น

ประธานาธิบดี Bidenแห่งสหรัฐฯ เรียกร้องความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียว ลดการทำลายป่าและตัดปริมาณของก๊าซเรือนกระจก methane ซึ่งเป็นกับดักความร้อนในบรรยากาศ มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ 80 เท่า ก๊าซมีเธนนี้มาจากกองขยะ อุตสาหกรรมปศุสัตว์และการรั่วไหลจากบ่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

กว่า 124 ประเทศลงนามร่วมปฏิภาณและสัญญา ป้องกันการทำลายป่า ด้วยการใช้เงินงบประมาณจากสาธารณะและเอกชนประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้มีบราซิล รัสเซีย จีน โคลัมเบีย คองโก อินโดนีเซียและสหรัฐฯ ร่วมด้วย น่าสังเกตว่ารัฐบาลไทยตัดสินใจยังไม่เซ็นสัญญานี้ (หรืออาจจะไม่เซ็นร่วม) ส่วนเหตุผลนั้นมีหลายฝ่ายตั้งคำถามไปแล้ว และกำลังรอคำตอบอยู่

จีน รัสเซียและซาอุดิอาระเบีย โดนต่อว่าจากผู้นำทางตะวันตก ว่าไม่ส่งตัวแทนมาร่วมในงานนี้ เป็นการส่งสัญญาณผิด จีนตอบโต้ว่า “การใช้คำพูดอย่างเดียวและไม่ปฏิบัตินั้น ไม่มีประโยชน์ การมาประชุมโดยวาจาสวยงาม ขบวนแห่ของเจ้าหน้าที่และกลุ่มชนทั้งหลายนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะส่งผลทางปฏิบัติ” จีนย้ำอีกว่า “ได้ดำเนินการปฏิบัติเรื่องนี้โดยต่อเนื่องอยู่แล้ว และตำหนิสวนกลับว่าอเมริกาทำอะไรบ้าง”

นายกรัฐมนตรี Modi ประกาศว่า อินเดียตั้งเป้าหมายใช้พลังงานหมุนเวียนครึ่งหนึ่งภายในปีค.ศ. 2030 แต่อินเดียไม่สามารถจะเลิกการใช้พลังงานถ่านหินได้จนกว่าปีค.ศ. 2070 เพราะปัจจุบันขาดแคลนพลังงานมาก และไฟฟ้าในอินเดียใช้ถ่านหินถึง 70%

Power Past Coal Alliance (PPCA) เป็นปฏิภาณร่วมกันในการยกเลิกการใช้ถ่านหินเป็นพลังงาน ซึ่งมี 48 ประเทศแล้ว (สหรัฐ จีน อินเดียและไทย ยังไม่เข้าร่วม)

บราซิลโดนตำหนิเรื่องนโยบายป้องกันป่าอเมซอนที่เขียนไว้สวยหรู และรับเงินจากต่างประเทศไปมาก แต่ในทางปฏิบัตินั้นล้มเหลว สำนักงานข่าว AP ออกไปสืบหาข้อมูลจริงในพื้นที่ เห็นหลักฐานความละเลยของทหาร ซึ่งผู้นำประกาศว่าจะใช้เป็นผู้ปกป้องป่า การเผาป่าดิบเพื่อเปลี่ยนเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงปศุสัตว์ เป็นการทำลายระบบนิเวศที่น่าเป็นห่วง หากบราซิลไม่เปลี่ยนทิศทาง อีกไม่กี่ทศวรรษ อาจจะไม่เหลือสภาพความเป็นปอดของโลกอย่างปัจจุบัน

อินโดนิเซียต้องประสานงานกับทั่วโลก เพื่อรักษาป่า จากการรุกรานของอุตสาหกรรมเกษตรเช่นปาล์มน้ำมันและยางพารา

เรื่องสิ่งแวดล้อมและโลกร้อนเป็นปัญหาอันดับหนึ่ง แต่โดนละเลยจากความสนใจของสื่อมวลชนและคนทั่วไป เพราะปัญหาสุขภาพและเศรษฐกิจปัจจุบันทันด่วน เข้ามาแย่งความสนใจ หลายประเทศทนความกดดันทางเศรษฐกิจไม่ไหว ก็เริ่มประนีประนอมเปลี่ยนทัศนคติ เป็นการหันหน้าเข้าสู้แก้ปัญหาไปทีละเปลาะ

ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19  กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงในหลายประเทศ (เยอรมนีติดเชื้อวันละ 20,000คน ในประชากร 83ล้านคน) ผู้เสียชีวิตในประชาคมยุโรปเพิ่มขึ้นติดต่อกันเจ็ดสัปดาห์ โดยเฉลี่ย 3,600 คนต่อวัน สหรัฐฯออกกฏหมายบังคับให้บริษัทหรือองค์กร ขนาดกลางและใหญ่ ที่มีลูกจ้างเกินกว่า 100 คน (กลุ่มนี้ประมาณ 84 ล้านคน) จัดให้ทุกคนฉีดวัคซีนครบถ้วนภายใน 4 มกราคม ค.ศ. 2022 หรือตรวจหาเชื้อทุกสัปดาห์ หากฝ่าฝืน ค่าปรับนายจ้าง $14,000 ต่อลูกจ้างหนึ่งคน จีนก็มีการระบาดอีกรอบหนึ่ง เริ่มวางแผนเตรียมประชากรเก็บอาหารและสิ่งจำเป็นต่างๆให้เตรียมพร้อม เพราะอาจจะมีการประกาศล็อคดาวน์เฉียบพลันอีก

หากปัญหาโควิด-19คุมไม่ได้ จะกระทบกับแผนเปิดประเทศของอาเซียน และความเชื่อมั่นของประชาชนในชาติต่างๆ ต่อผู้นำในปัจจุบัน ซึ่งตอนนี้กำลังเปราะบางอยู่แล้ว การท่องเที่ยวคือเศรษฐกิจหลักที่หลายประเทศพึ่งพา หากจำเป็นต้องเปิดประเทศ ต้องมีมาตรการพอเหมาะควร อย่าปิดบังความจริงเพื่อผลประโยชน์ระยะสั้น ประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจน ผมมั่นใจว่าประชาชนรับได้ครับ