พื้นฐานของการปรับตัว

พื้นฐานของการปรับตัว

หนทางสู่เป้าหมายที่ต้องการ มีมากกว่าหนึ่งหนทางเสมอ

เข้าสู่วันที่สองของการเปิดประเทศ แม้บรรยากาศโดยรวมจะเริ่มกลับมาคึกคัก แต่หลายๆ คนก็ยังคงลังเลใจไม่กล้าใส่เกียร์เดินหน้าเต็มที่เพราะไม่มีใครบอกได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร และความผันแปรไม่แน่นอนของโลกใบนี้ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่การระบาดของโรคโควิด-19 แต่เพียงอย่างเดียว

ก่อนหน้าที่เราจะรู้จักโควิด-19 เราก็ต้องเจอ “มรสุมดิจิทัล” ที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาดิสรัปธุรกิจดั้งเดิมจนได้รับผลกระทบกันไปมากมาย และเมื่อสถานการณ์ของโลกระบาดดูจะคลี่คลายลง เทคโนโลยีดิจิทัลก็กำลังพลิกโลกอีกครั้งด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงของเฟซบุ๊คที่มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจเข้าสู่โลกเสมือนหรือ Metaverse ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้อีก

หากการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งเปรียบเสมือนไฟที่ปะทุขึ้น การจะดับไฟได้ก็ต้องอาศัยการเรียนรู้และปรับตัวอย่างรวดเร็ว แต่จะให้ตื่นตัวปรับตัวทุกครั้งที่มีไฟประทุขึ้นมาก็คงจะไม่ใช่ เพราะบางครั้งไฟติดขึ้นมาแล้วก็ดับไปเอง เราต้องแยกแยะได้ว่าไฟแบบไหนที่อาจลุกลามขยายวงได้ และต้องมีวิธีรับมือกับไฟทุกประเภท

พื้นฐานในการปรับตัวเพื่อรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีเพียง 3 แนวทางหลักๆ ที่ใช้ได้กับการเปลี่ยนแปลงทุกแบบ เริ่มจากข้อแรกคือ การยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพราะเมื่อเราได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน คนส่วนใหญ่จะตั้งคำถามมากมายที่ไม่สามารถช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นได้

เช่น ทำไมถึงต้องมาเกิดในประเทศเรา ทำไมถึงต้องเป็นบริษัทเรา ทำไมรัฐบาลจึงทำแบบนี้ ทำไมเดินทางไม่ได้ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ การคิดถึงแต่ปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้เราหมกหมุ่นอยู่กับปัญหาจนหาทางแก้ไม่ได้

การวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นและมองหาหนทางที่จะทำให้เราก้าวเดินต่อไปได้ในเงื่อนไขที่มีอยู่จะทำให้เรามีทางออก และหากลงมือทำทันทีก็จะยิ่งทำให้เราเจอสถานการณ์จริงและปรับตัวได้อย่างต่อเนื่องจนมีหนทางที่จะทำให้เรามีโอกาสเดินต่อไปได้ในที่สุด

หลายคนอาศัยการทำไปปรับไป จนสามารถหาโอกาสได้ในภาวะวิกฤติ เช่นเดียวกับทุกวันนี้ที่เราเห็นแบรนด์เบเกอรี่เกิดใหม่จำนวนมากในช่วงโควิดที่ขายดีมาจนถึงวันนี้ เพราะข้อจำกัดในภาวการณ์ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทำธุรกิจแบบเดิมไม่ได้จึงต้องหันมาหาสิ่งที่ตัวเองถนัดและพบว่าโฮมเมดเบเกอรี่ทำรายได้ไม่แพ้ธุรกิจเดิมเลย

ข้อสองคือ ต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเอง นั่นคือต้องรู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้ว่าชอบอะไร มีเป้าหมายอย่างไร และกล้าตัดสินใจเดินไปตามทางที่เราถนัด ยิ่งโลกธุรกิจในยุคปัจจุบันมีข้อจำกัดมากมาย การเลือกเส้นทางที่เป็นตัวเราเองมากที่สุดจึงเป็นเรื่องยาก แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้

คำกล่าวโบราณที่ว่าทุกเส้นทางล้วนมุ่งหน้าสู่กรุงโรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าหนทางสู่เป้าหมายที่เราต้องการมีมากกว่าหนึ่งหนทางเสมอ การพบกับปัญหาและอุปสรรคอาจทำให้เราไขว้เขว แต่สุดท้ายแล้วเราก็จะพบเส้นทางอื่นที่ทำให้ไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้ในท้ายที่สุด

เช่นเดียวกับภาวะจำกัดการเดินทางตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เราก็เห็นแล้วว่ายังมีหนทางอื่นๆ ให้เรายังคงทำงานต่อไปได้ งานที่เราทำก็ยังคงบรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้โดยที่ยังคงรักษาธุรกิจและความสัมพันธ์กับลูกค้า คู่ค้า ได้เหมือนเดิมหากเรามีความเชื่อมั่นว่าจะฝ่าฟันอุปสรรคไปด้วยกันให้สำเร็จ

ข้อสาม มีทัศนคติในการเรียนรู้ตลอดเวลา ซึ่งแตกต่างจากคนในยุคอดีตที่การเรียนรู้เกิดจากการบังคับเพราะเป็นนโยบายบริษัทจึงต้องเข้าอบรมเรื่องต่างๆ มากมาย การเรียนรู้จึงไม่ได้เกิดจากทัศนคติที่ดีหรือเรียนด้วยความเต็มใจ

ตรงกันข้ามกับทุกวันนี้ที่มีแหล่งให้เรียนรู้เรื่องต่างๆ จำนวนมาก เพราะสิ่งใหม่เกิดขึ้นทุกวัน การไม่เรียนรู้เรื่องเหล่านี้จึงเป็นการปล่อยให้ตัวเองตกยุคและล้าหลังไปเรื่อยๆ การเรียนรู้เรื่องต่างๆ จึงแทบไม่มีใครบังคับเหมือนในอดีต แต่ต้องมีใจรักการเรียนรู้เหล่านี้ด้วยตัวเองเท่านั้น

ทัศนคติต่อการเรียนรู้ตลอดเวลาจะทำให้เรามองเห็นความเป็นไปของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและพยากรณ์ได้ว่าลูกค้าจะมีความต้องการอะไร และเร่งปรับตัวเองให้มีความรู้ในเรื่องเหล่านั้นทำให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทันเวลา 

การยิ่งรู้จึงยิ่งเพิ่มโอกาสให้กับตัวเอง และสร้างโอกาสให้องค์กรของตัวเองไปด้วยพร้อมๆ กัน