Stagflation ส่งผลต่อตลาดหุ้นอย่างไร

Stagflation ส่งผลต่อตลาดหุ้นอย่างไร

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ตัวเลขทางเศรษฐกิจในหลายประเทศชะลอตัวลงสวนทางกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ตลาดมีความกังวลเรื่อง Stagflation หรือภาวะเงินเฟ้อสูง

 ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจคงที่หรือถดถอยซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศทั่วโลก ภาวะ Stagflation จะส่งผลให้รัฐดำเนินนโยบายการเงินและการคลังเพื่อแก้ไขได้อย่างยากลำบาก เนื่องจากหากใช้นโยบายการเงินขยายตัวโดยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบและการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงขึ้น ขณะที่การใช้นโยบายการคลังแบบเข้มงวดเพื่อลดภาวะเงินเฟ้อ แต่จะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคาสินค้าโภคภัณฑ์นำโดยราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากนโยบาย Decarbonization ของจีนและการ Re-opening เศรษฐกิจในหลายประเทศหลังสถานการณ์ โควิด-19 คลี่คลายลง

ช่วงปี 2005 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิด Stagflation ในสหรัฐอเมริกา ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลสู่ระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตลาดหุ้นสหรัฐในภาพรวมให้ผลตอบแทนติดลบ โดยหุ้นกลุ่มที่มีผลตอบแทนเป็นบวกในสภาวะ Stagflation คือ หุ้นในกลุ่ม Defensive ซึ่งเป็นกลุ่มที่ราคาหุ้นผันผวนน้อยกว่าตลาด พื้นฐานแข็งแกร่ง ประกอบด้วยกลุ่มโรงไฟฟ้า (Utilities) กลุ่มโรงพยาบาล (Healthcare) และกลุ่มสินค้าจำเป็น (Consumer Staples) นอกจากนี้หุ้นกลุ่มพลังงาน (Energy) ก็มีปรับตัวขึ้นสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน 

ส่วนหุ้นกลุ่มที่ผลตอบแทนปรับตัวลงมากที่สุด จะเป็นกลุ่มธุรกิจที่ไม่สามารถส่งผ่านภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปสู่ผู้บริโภคได้ นำโดยกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และกลุ่มการสื่อสาร (Communication Services) ขณะที่ SET ในช่วงปี 2004-2005 มีความผันผวนค่อนข้างมาก ระหว่างปี โดย SET มีผลขาดทุนสูงสุดในอดีต หรือ Maximum Drawdown อยู่ที่ 30% หลังจากนั้น SET ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ในปีดังกล่าวผลตอบแทนของ SET ปรับตัวลงเพียงเล็กน้อย แสดงให้เห็นว่าการปรับตัวลงระหว่างปีเป็นการปรับตัวลงเพียงชั่วคราวเท่านั้น 

ต่อมาในช่วงปี 2005-2006 SET มี Maximum Drawdown อยู่ที่ 15% เท่านั้นเนื่องจากราคาน้ำมันเริ่มคงที่อยู่ในระดับ 80 ดอลลาร์ ต่อบาร์เรลซึ่งใกล้เคียงกับระดับราคาน้ำมันดิบในปัจจุบัน ในอดีต ราคาน้ำมันและราคาหุ้นธุรกิจน้ำมันมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีความสัมพันธ์กันค่อนข้างสูง ดังเช่นในปี 2007-2008 ราคาน้ำมันและราคาหุ้นธุรกิจน้ำมันเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันอย่างมาก โดยจะเห็นว่าเมื่อราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 90 ดอลาร์ต่อบาร์เรล ราคาหุ้นธุรกิจน้ำมันไม่ได้ปรับตัวขึ้นตาม แต่เมื่อราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวลง ราคาหุ้นธุรกิจน้ำมันปรับตัวลงตามทันที เพราะฉะนั้นที่ระดับราคาน้ำมัน 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อาจเป็นจังหวะที่ดีในการขายทำกำไรของหุ้นธุรกิจน้ำมัน นอกจากนี้ยังต้องระวังเรื่องการปรับตัวลงของ SET เนื่องจาก หุ้นกลุ่มพลังงานมีสัดส่วนประมาณ 13% ของ SET

 

ประเทศไทยในฐานะประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ (Net Importer) เช่นเดียวกับหลายประเทศในอาเซียน ยกเว้นประเทศมาเลเซียและประเทศอินโดนีเซียที่เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันสุทธิ (Net Exporter) ทำให้ราคาน้ำมันมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อของภูมิภาคอาเซียน รวมถึงประเทศไทยค่อนข้างมาก จากการศึกษาข้อมูลในอดีต พบว่า เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น 10% จะส่งผลกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account Balance) ของไทย 4.1% ขณะที่ส่งผลกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ 2.8% และ 2.2% ตามลำดับ ที่การปรับตัวของราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 10% ส่งผลบวกต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของอินโดนีเซียและมาเลเซีย 3.0% และ 4.7% ตามลำดับ 

นอกจากนี้ ต้นทุนพลังงานของประเทศไทยคิดเป็น 14% ของ CPI ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคแสดงให้เห็นว่าราคาน้ำมันส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยค่อนข้างมาก ดังนั้นเมื่อราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ GDP ของประเทศไทยปรับตัวลดลง และส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวขึ้นไม่เกินระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากเมื่อราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะทำให้ธุรกิจ Shale Oil ในสหรัฐอเมริกากลับมาดำเนินการผลิต และมี Supply จาก OPEC เพิ่มเติม แม้ในการประชุมล่าสุด OPEC จะมีการ Surprise ตลาดโดยการไม่เพิ่มกำลังการผลิต