สงครามข้ามรุ่น |มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

สงครามข้ามรุ่น |มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ในขณะที่ "คนรุ่นใหม่" เปลี่ยนไปจากเดิม แต่คนรุ่นเก่ายังอยู่ในกรอบคิดแบบเดิมและมีโอกาสยืดอายุให้ยืนยาวและท้าทายหรือปฏิเสธความตายมากขึ้น (ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์, 2564)

ผลก็คือจะเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างรุ่นมากขึ้นและนานขึ้น คนรุ่นเก่าจะมีอายุยืนขึ้น ครอบครองทรัพย์สิน ตำแหน่งและอำนาจนานขึ้นมากขึ้น ในขณะที่คนรุ่นใหม่จะมีโอกาสสอดแทรกตัวขึ้นมาในสังคมช้าลง จนอาจทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่มากขึ้น (อภิวัฒน์ รัตนวราหะ, 2563) 

อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งที่รุนแรงจนเกิดวิวาทะข้ามรุ่นและกระแส “ย้ายประเทศกันเถอะ” ในสื่อโซเชียลมีเดียมาจากการปะทะกันของหลักคิดที่สุดโต่ง ซึ่งมีฐานความคิดที่สะสมหยั่งรากมาเป็นเวลานาน

ในอดีต รัฐและชนชั้นนำเป็นผู้วางกรอบบนฐานคิดที่รักษาลำดับชนชั้นในแนวดิ่งและสื่อสารจากบนลงล่าง “วิถีชีวิตไทยแบบเดิมจะมีรูปแบบปฏิบัติที่ชัดเจนและสามารถอ้างอิงได้ทางวรรณกรรมและทางกฎหมายมีบทลงโทษทางสังคมที่ชัดเจน (Social sanction) และถึงแม้จะมีความนุ่มนวล (Softness) เป็นสัญลักษณ์แต่กลับค่อนข้างตายตัวและเปลี่ยนแปลงได้ยาก มีพื้นที่ทางชนชั้นที่ไม่สามารถละเมิดได้ มีความเป็นเอกภาพสะท้อนผ่านมิติครอบครัว ค่านิยม บรรทัดฐานความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคมการศึกษา การทำงาน การพักผ่อน สันทนาการ การเมืองการปกครอง ฯลฯ” (สุกัญญา สุดบรรทัด และคณะ, 2564 หน้า 118)

ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นเสาหลักของประเทศ หลักคิดในการจัดระเบียบสังคมไทยแต่เดิมนั้นยึดโยงอยู่กับหลักของพระพุทธศาสนา ความเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ การทำบุญทำทาน ความกตัญญู การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในลักษณะของ “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” “ผู้เฒ่าสั่งจงจำความ” ที่กล่าวมานี้เป็นหลักคิดระดับปัจเจกและชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไทยให้ความสำคัญมาแต่เดิม

สำนึกเรื่อง “คนไทย” ในเชิงการเมืองวัฒนธรรมเริ่มก่อตัวเป็นฐานของอุดมการณ์ชาตินิยมที่ยึดสถาบันกษัตริย์และพุทธศาสนาเป็นเสาหลักมั่นคงและความสงบสุขของชาติไทยในหมู่ชนชั้นนำในสมัยรัชกาลที่ 4 สืบเนื่องจากความไม่พอใจของชนชั้นนำต่อสนธิสัญญาบาวริงที่คนในบังคับของต่างชาติไม่อยู่ภายใต้กฎหมายไทย 

ความเป็นไทยนี้มีบทบาทสำคัญต่อเนื่องในสมัยของรัชกาลที่ 5 ในยุคของการต่อต้านจักรวรรดินิยมของชาติตะวันตกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นยุคที่ต้องการความเป็นเอกภาพของประชาชนทุกหมู่เหล่า ความเป็นไทยได้รับการสืบทอดในรัฐบาลยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อเผยแพร่ความคิด “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” และต่อมาในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐบาลใช้อุดมการณ์ชาตินิยมในการต่อต้านอุดมการณ์คอมมิวนิสต์

 การเชื่อมโยงระหว่างอุดมคติแบบราชาชาตินิยม พุทธศาสน์ชาตินิยม และพุทธวัฒนธรรมในเรื่องของกรรมแต่ชาติปางก่อน เช่น ความเชื่อที่ว่า “แข่งเรือแข่งพายแข่งได้ แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งไม่ได้” และได้เป็นเครื่องมือบูรณาการชาติพันธุ์ต่างๆ รวมทั้งคนต่างชาติที่อพยพเข้ามาที่มีประสิทธิผลโดยเฉพาะลูกหลานคนจีนทำให้เกิด “ความเป็นคนไทย” (สายชล สัตยานุรักษ์, 2551)

หลักคิดเรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ นี้ได้รับการขยายวงสื่อสารไปอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง ทั้งในด้านการเรียนการสอนในระบบการศึกษา ศาสนา ในสื่อสาธารณะทั้งในด้านการบันเทิง นวนิยาย ละคร เพลง บทความ ตลอดจนการสร้างพิธีกรรม เช่น ร้องเพลงชาติ การเคารพธงชาติ เพื่อขยายพื้นที่ทางความคิดของพลเมือง 
 

หลักคิดนี้ได้กลายเป็นเสาหลักของคุณงามความดี ความถูกต้องของสังคม วัฒนธรรมของการเคารพผู้ใหญ่ วัฒนธรรมการแบ่งชนชั้น การรู้จักที่ต่ำที่สูงเกิดความคาดหวังว่าเด็กต้องเชื่อฟังและเดินตามรอยเท้าผู้ใหญ่ 

การสอนที่เน้นการท่องบ่นทำให้ไม่เกิดคำถามต่อสาเหตุและการวิเคราะห์ในกระบวนการคิดของคนไทย ซึ่งทำให้สังคมดูจะมีความสงบ มีระเบียบเรียบร้อยก็จริง แต่ก็นำไปสู่การยอมรับและสร้างการรวมศูนย์อำนาจ แต่นักวิชาการต่างประเทศมองว่า การสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thainess) เป็นอุปสรรคต่อความเป็นประชาธิปไตยในระยะยาว (Anderson, 2012)

การที่ประเทศไทยไม่เคยเป็นอาณานิคมของต่างชาติมาก่อนทำให้ขาดแรงผลักดันในแนวราบให้เกิดอุดมการณ์ชาตินิยมร่วมกัน ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญนำไปสู่การถักทอสังคมที่เป็นปึกแผ่นของคนไทยในทุกระดับ ในขณะเดียวกันหลักคิดเดียวกันนี้ก็สร้างวาทกรรมที่ว่า อะไรที่แตกต่างไปจากหลักคิดชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นหลักคิดที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ไม่เอื้อต่อการจัดระเบียบสังคมและสร้างความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยของประเทศ (สุนทร คุณชัยมัง, 2561 หน้า 30)

หลักคิด เสมอภาค เสรีภาพและธรรมาภิบาล ในช่วงเวลาเดียวกัน การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่สมดุลทำให้เกิดภาวะสังคมที่เรียกว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” เกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และการถือครองทรัพย์สินอย่างสูง มีการคอร์รัปชันกันอย่างไม่อายเทวดาฟ้าดิน 

มีการเลือกปฏิบัติที่ทำให้เกิดคำพูดที่ว่า “คุกเป็นที่จองจำคนจน” เท่านั้นทำให้คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะชนชั้นกลางในระดับล่างและเด็กรุ่นใหม่มีความรู้สึกอย่างรุนแรงต่อความไม่เสมอภาคและภาวะสองมาตรฐาน การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวที่บังคับใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งตอกย้ำและแช่แข็งความสัมพันธ์เชิงอำนาจนี้ให้เหมือนเดิมในระยะยาว (อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, 2562) 

การไหลบ่าเข้ามาของข้อมูล ข่าวสารด้วยเทคโนโลยี สื่อต่างๆ โลกาภิวัตน์ และทำให้การผูกขาดการจัดการสังคมของรัฐยากขึ้น ทั้งในด้านการปฏิบัติ ความชอบธรรม และยังทำให้สังคมไทยมีพลวัตทางการเมืองสูง ทั้งในด้านการเติบโตของประชาสังคม องค์กรภาคเอกชน และการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ ในขณะที่การปรับตัวทางการเมืองกลับวนไปเวียนมาเหมือนเขาวงกต (เสกสรร ประเสริฐกุล, 2557) ทำให้เกิดกระแสความคิดสุดโต่งไปอีกข้างหนึ่ง ดังเพลงของคนรุ่นใหม่ที่บ่นว่า “อะไรๆ ที่ไม่ดี ประเทศกูมี” 

ก่อนปรากฏการณ์ "ชูสามนิ้ว" ของเยาวชนไทยเกือบ 10 ปี สายชล สัตยานุรักษ์ ได้ชี้ให้เห็นว่า “... การมองว่าเมืองไทยนี้ดีและเมืองไทยนี่เลวล้วนแต่เป็นมายาคติ และเป็นการมองแบบสุดโต่งที่ทำให้เข้าใจสังคมไทยคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับความเป็นจริง และนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ผิดพลาดอีกครั้งทำให้ความขัดแย้งในสังคมการเมืองขยายลึกและกว้างยิ่งขึ้น“ (สายชล สัตยานุรักษ์, 2551)

ในที่สุดหลักคิดที่สุดโต่งนี้ก็ได้มาปะทะกันเป็นปรากฏการณ์ขัดแย้งระหว่างคนรุ่นใหม่กับรัฐและระหว่างคนต่างรุ่น ซึ่งมองว่าการพัฒนาที่ผ่านมาไม่มีความก้าวหน้า ไม่มีความยุติธรรม ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่มีอนาคต ในขณะที่คนรุ่นเก่ามองว่าคนรุ่นใหม่ไร้สาระ ไม่มีระเบียบวินัย ก้าวร้าวและมีพฤติกรรมที่จะสร้างแนวโน้มที่จะทำลายความมั่นคง ความเจริญก้าวหน้าและความสงบสงบสุขของประเทศ แนวโน้มทั้งสองนี้เมื่อปะทะกันอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาลต่อสังคมไทยในวันข้างหน้า

ปรากฏการณ์ Facebook ที่โพสต์เรามาย้ายประเทศกันเถอะ ที่กล่าวมาแล้วเป็นการส่งสัญญาณอ่อนๆ ที่ส่อให้เห็นถึงอันตรายของการสูญเสียมันสมองและแรงงานรุ่นใหม่ในขณะที่สังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์

ความสูญเสียเช่นนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในยุคที่รัฐบาลทหารของพม่า เมื่อนายอูถั่นเป็นเลขาธิการสหประชาชาติ เป็นยุคที่พม่าสูญเสียบุคลากรระดับมันสมองที่เดินทางย้ายถิ่นไปต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทำให้พม่าสูญเสียแรงงานคุณภาพและกลายเป็นเป็ดง่อยในอาเซียนมาจนถึงปัจจุบัน 
    ไม่ว่าสงครามจะรุนแรง ยืดเยื้อ และจบลงเมื่อไหร่ เวลาจะอยู่ข้างคนรุ่นใหม่เสมอ คำถามก็คือ แล้วเราจะไม่สนใจหาทางออกร่วมกันหรืออย่างไร.