เปิด 3 ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกในปี 2022

เปิด 3 ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกในปี 2022

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ปัจจัยลบของเศรษฐกิจโลกปรากฎให้เห็นชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะพลังงาน

ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติพุ่งขึ้นสูงในรอบหลายปี น้ำมันดิบที่สูงที่สุดในปีนี้ หรือถ่านหิน ซึ่งแตะระดับ 240 ดอลลาร์ต่อตันจากระดับ 70 ดอลลาร์ในปีที่แล้ว และส่งผลเสียต่อการผลิตไฟฟ้าในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่ เช่น จีนและอินเดีย

ในส่วนของจีน วิกฤติพลังงานล่าสุดได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ทั้งจากปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าในหลายมณฑล ผนวกกับปัญหาอื่น ๆ เช่น วิกฤติหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ปัญหาการเดินเรือที่ติดขัด และการระบาดของ Covid สายพันธุ์เดลต้าที่นำไปสู่การปิดเมือง และทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวชะลอลงแรงที่ 4.9% ต่อปี จาก 7.9% ในไตรมาสที่แล้ว และเมื่อมองไปในอนาคต เป็นไปได้สูงว่าเศรษฐกิจจีนในไตรมาสหน้าจะขยายตัวชะลอลงจากปัจจุบัน นอกจากนั้น หากพิจารณาในภาพใหญ่ วิกฤติพลังงานโลก ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน และการชะลอตัวของจีนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ในอนาคต

ในส่วนของวิกฤติพลังงาน เรามองว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและอาจอยู่กับเราอีกระยะหนึ่งจาก (1) การเพิ่มการลงทุนในเชื้อเพลิงปกติไม่สามารถทำได้โดยง่ายและต้องใช้เม็ดเงินมาก (ถึง 4-5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี) ขณะที่ผู้ผลิตอาจไม่อยากลงทุนมากเนื่องจากความต้องการจะลดลงในอนาคตจากการที่ผู้คนจะหันไปใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น (2) ผู้ผลิตเชื้อเพลิงปกติ (เช่น รัสเซียและตะวันออกกลาง) อาจไม่อยากเพิ่มกำลังการผลิตมากเนื่องจากได้ราคาสูงขณะที่มีอำนาจต่อรองมากขึ้น และ (3) การผลิตแร่ธาตุหายากเพื่อพลังงานสะอาดไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้มากในระยะสั้น จึงเป็นไปได้มากขึ้นที่ปัญหาพลังงานจะยังกดดันเงินเฟ้อและเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป

 

 

อย่างไรก็ตาม เรามองว่าในภาพระยะสั้น  สถานการณ์วิกฤติพลังงานในภาพใหญ่เป็นผลจากวิกฤตถ่านหินในจีนที่ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจที่เติบโตขึ้น พิจารณาจากยอดส่งออกของจีนที่เติบโตในระดับ 30% ในช่วงปีที่ผ่านมา ขณะที่การผลิตถ่านหินถูกกดดันจากรัฐบาลจีนที่ต้องการลดการใช้พลังงานสกปรก ซึ่งการขาดแคลนถ่านหินนำไปสู่การชดเชยด้วยการใช้ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบมาผลิตไฟฟ้าทดแทน ดังนั้น หากวิกฤตถ่านหินบรรเทาลง (ซึ่งเรามองว่าเป็นช่วงต้นปีหน้า) สถานการณ์วิกฤตพลังงานน่าจะเริ่มดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน สถานการณ์วิกฤตพลังงานเริ่มกระทบเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ ตัวอย่างล่าสุดได้แก่รายงาน Beige Book ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ซึ่งส่งสัญญาณว่าภาคธุรกิจกำลังประสบปัญหาจากต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้น ปัญหาของห่วงโซ่อุปทานที่ทำให้การขนส่งทางเรือมีปัญหา ทำให้ภาคธุรกิจเริ่มต้องขนส่งสินค้าทางอากาศเพิ่มขึ้น รวมถึงการขาดแคลนแรงงานและทำให้ต้องขึ้นค่าจ้าง ปัจจัยเหล่านี้กระทบต่อต้นทุนและทำให้ผู้ประกอบการบางราย เช่น ผู้ขายเฟอร์นิเจอร์ปรับราคาขายปลีกมากกว่า 30% ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

 

ปัญหาเหล่านี้ส่งผลชัดขึ้นในแง่ของอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง (หรือภาวะ Stagflation) ในสหรัฐ อัตราเงินเฟ้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 ที่ 5.4% ต่อปี โดยมีองค์ประกอบสำคัญ ๆ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมากขึ้น เช่น ค่าเช่าและค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจเริ่มแสดงสัญญาณการชะลอตัว ตัวอย่างล่าสุดคือการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนกันยายน ซึ่งเพิ่มขึ้นช้าที่สุดในรอบปี ขณะที่แรงกดดันด้านค่าจ้างยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้เราจึงมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ในขณะที่โมเมนตัมที่ชะลอตัวจะยังคงดำเนินต่อไปในปีหน้า การเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2565 คาดว่าจะลดลงเหลือ 4.9% จากประมาณ 5.9% ในปีนี้

เราเห็นว่า เศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปจะเผชิญความเสี่ยงสามประการ: (1) การชะลอตัวของจีน (2) ความปั่นป่วนของตลาดเกิดใหม่ และ (3) สถานการณ์ Stagflation ทั่วโลก

ในความเสี่ยงแรก เราเห็นว่าการเติบโตของจีนจะชะลอตัวลงอย่างแน่นอนเนื่องจากปัจจัย 3 ประการคือ (1) นโยบายของรัฐบาลที่เน้นการเติบโตที่มีคุณภาพมากกว่าการเติบโตของปริมาณ ซึ่งหมายถึงการบังคับใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่องในภาคส่วนสำคัญ เช่น อสังหาริมทรัพย์ e-commerce และ fintech ; (2) เรามองว่าวิกฤตพลังงานซึ่งจะดำเนินต่อไปในปีหน้าเนื่องจากแนวโน้มการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แม้ว่าจะรุนแรงน้อยกว่าปีนี้ และ (3) ผลกระทบลูกโซ่จากสองปัจจัยก่อนหน้า เช่น การชะลอตัวของการบริโภคในจีนเนื่องจากความมั่งคั่ง (หรือ Wealth effect) ที่ลดลง ซึ่งเป็นผลของการควบคุมอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงปัญหาของภาคการผลิตอันเนื่องมาจากปัญหาด้านพลังงานและห่วงโซ่อุปทาน

ในความเสี่ยงที่สองและสาม เราเห็นว่าเป็นผลมาจากการชะลอตัวของจีน ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน และการที่ธนาคารกลางชั้นนำ เช่น Fed และ ECB เริ่มลดทอนมาตรการผ่อนคลายลง ซึ่งจะสร้างความปั่นป่วนในกระแสเงินทุน รวมถึงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่โดยเฉพาะประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานที่อ่อนแอ และประเทศที่มีการพึ่งพาทางเศรษฐกิจกับจีนค่อนข้างมาก

ขณะเดียวกัน เรามองว่า มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะเปลี่ยนจาก "ชั่วคราว" (Transitory) เป็น "ลากยาว" (Persistent) เราเห็นว่าหากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ พลังงานที่ไม่ลดลงในปีหน้าดังที่เราและหลายฝ่ายมอง เศรษฐกิจโลกอาจเผชิญกับความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตขณะที่เศรษฐกิจชะลอต่อเนื่อง (หรือภาวะ Stagflation ซึ่งยังไม่ใช่กรณีพื้นฐานของเราในปัจจุบัน) หากเป็นเช่นนี้ ธนาคารกลางทั่วโลกอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอย่างแข็งแกร่งและเร็วกว่าที่ตลาดคาดไว้ ซึ่งอาจสร้างสภาวะที่เศรษฐกิจโลกซบเซาอย่างต่อเนื่อง

 

จีนชะลอตัว วิกฤตตลาดเกิดใหม่ และ Global Stagflation เป็นความเสี่ยงที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ นักธุรกิจ นักลงทุน และผู้กำหนดนโยบาย โปรดระวัง