ลงทุนอย่างไร ท่ามกลางความกังวล Stagflation

ลงทุนอย่างไร ท่ามกลางความกังวล Stagflation

ตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ทั่วโลกเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น จากผลของฐานต่ำในปีที่แล้ว และความต้องการจับจ่ายใช้สอยที่อั้นกันไว้ในช่วงปิดเมือง

ทำให้ราคาสินค้าบางรายการ เช่น ตั๋วเครื่องบิน โรงแรม รถมือสอง และน้ำมัน พุ่งขึ้นแรง และในไตรมาส 3 เงินเฟ้อก็ยังคงทรงตัวในระดับสูงโดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่ล่าสุดเงินเฟ้อทำจุดสูงสุดตั้งแต่ปี 2008 ส่งผลให้ตลาดกังวลว่าจะเกิดภาวะ “Stagflation” ซึ่งมาจากคำว่า “Stagnation” + “Inflation” หมายถึง สภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญหรือถดถอย ในขณะที่เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น

เงินเฟ้อในระยะหลังเกิดจากปัญหา Supply Disruption หรือการขาดแคลนสินค้าเพราะผู้ผลิตกลับมาผลิตสินค้าไม่ทันกับความต้องการที่กลับมาอย่างรวดเร็วหลังเกิดวิกฤตในปีที่แล้ว รวมถึงปัญหาด้านการขนส่ง ที่ทั่วโลกขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทำให้ค่าขนส่งแพงขึ้นด้วย นอกจากนี้ บางประเทศก็มีปัญหาเฉพาะตัว เช่น การขาดแคลนแรงงานในสหรัฐฯ เพราะทักษะของแรงงานไม่ตรงกับความต้องการของนายจ้าง การขาดแคลนคนขับรถบรรทุกขนส่งน้ำมันในอังกฤษ การขาดแคลนก๊าซธรรมชาติในยุโรป รวมไปถึงการขาดแคลนไฟฟ้าในจีนซึ่งเป็นผลมาจากการควบคุมการใช้พลังงานจากถ่านหินเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

เรามองว่าปัญหา Supply Disruption จะค่อยๆ คลี่คลายลงได้ในระยะข้างหน้า ล่าสุดปัญหาการขาดแคลนพลังงานมีแนวโน้มดีขึ้นแล้วหลังจากที่ ปธน.ปูติน ของรัสเซีย ออกมากล่าวว่าจะเร่งส่งออกก๊าซให้ยุโรปเพิ่มขึ้น และทางการจีนเองก็อนุญาตให้ธุรกิจปรับราคาค่าไฟฟ้าขึ้นเพื่อลดภาระขาดทุนและเร่งการนำเข้าถ่านหิน ส่วนปัญหาคอขวดอื่นๆ อาจจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง เพื่อให้โรงงานกลับมาเพิ่มกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการ

กลับมาดูที่ภาพเศรษฐกิจ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงในช่วงปลายปีนี้และปีหน้า โดย IMF ได้คาดการณ์ GDP โลก ปีหน้าที่ +4.9% ลดลงจากปีนี้ที่ +5.9% แต่ยังนับว่าเป็นระดับการเติบโตที่ค่อยๆ เข้าสู่สถานการณ์ปกติ ไม่ใช่การชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้เข้าสู่สภาวะถดถอย จากกราฟด้านล่างพบว่าคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจปี 2022 ของประเทศหลักๆ ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่คาดการณ์เงินเฟ้อก็ไม่สูงมากจนน่ากังวล เราจึงมองว่าโลกยังห่างไกลจากปัญหา Stagflation ดังที่มีกังวลกัน

กราฟแสดงคาดการณ์ GDP และเงินเฟ้อ ปี 2022

ลงทุนอย่างไร ท่ามกลางความกังวล Stagflation

สำหรับประเทศไทยนั้น ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจปีนี้จะดูไม่ดีนัก นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า GDP จะโตไม่ถึง 1% หรืออาจติดลบ แต่ยังห่างไกลคำว่า Stagflation เนื่องจากเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำมาก เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 0.83% เป็นผลมาจากกำลังซื้อในประเทศที่ยังอ่อนแอ อีกทั้งตระกร้าเงินเฟ้อของไทยมีสัดส่วนสินค้านำเข้าเพียงประมาณ 16% ทำให้ได้รับผลกระทบต่ำจากราคาสินค้าโลก

ถึงแม้ว่าจากคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ บ่งชี้ว่าหลายประเทศจะไม่เข้าสู่สภาวะ Stagflation แต่ด้วยตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาน้อยกว่าคาด รวมถึงเงินเฟ้อที่ประกาศออกมาสูงกว่าคาด ตลอดจนคำกล่าวของนักเศรษฐศาตร์ในหน่วยงานต่างๆ ที่บอกว่าเงินเฟ้ออาจจะไม่ได้สูงเพียงแค่ชั่วคราว คงทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลและส่งผลให้ตลาดเกิดความผันผวนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในแง่ของการลงทุนจึงควรกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่หลากหลายและทั่วโลก ไม่เพียงแต่สินทรัพย์แบบดั้งเดิม เช่น หุ้น พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้เอกชน เท่านั้น แต่ควรรวมไปถึงสินทรัพย์ทางเลือกที่จะได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นอย่าง  Inflation linked bond ซึ่งคือตราสารหนี้ที่ให้อัตราดอกเบี้ยแปรผันตามเงินเฟ้อ และสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งน้ำมัน โลหะ สินค้าเกษตร ที่ราคาเปลี่ยนแปลงตามเงินเฟ้อ นอกจากนี้ นักลงทุนควรเติมเต็มพอร์ตการลงทุนด้วยตราสารอนุพันธ์ที่อ้างอิงกับระดับความผันผวนของตลาดหุ้น เช่น VIX Index เพื่อเพิ่มผลตอบแทนยามตลาดหุ้นผันผวนด้วย

หัวใจสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ การอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการปรับพอร์ตอย่างมีระบบและทันท่วงที โดยมีกลไกบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อลดระดับการขาดทุนในยามที่ตลาดปรับลงแรง และกลับเข้าลงทุนได้อย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้เสียโอกาส ทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอในทุกสภาวะเศรษฐกิจ