เรื่องความเป็นความตายแต่ไม่เป็นข่าว | ไสว บุญมา

เรื่องความเป็นความตายแต่ไม่เป็นข่าว | ไสว บุญมา

ในช่วงนี้มีเรื่องที่เป็นข่าวพาดหัวแบบซ้ำซากออกจากกรุงวอชิงตัน จนกลบเรื่องที่น่าจะได้รับความสนใจหรือเรื่องความเป็นความตายไม่น้อยกว่ากันแทบหมด

ข่าวพาดหัวเกี่ยวเนื่องกับเรื่องการเมือง เรื่องเศรษฐกิจและเรื่องการระบาดของโควิด-19 ซึ่งล้วนสะท้อนความร้าวฉานถึงชั้นฐานของสังคมอเมริกันในขณะนี้ ส่วนเรื่องความเป็นความตายที่น่าจะได้รับความสนใจไม่น้อยกว่ากัน แต่แทบไม่เป็นข่าว ได้แก่ องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐแถลงยุทธการสู้กับสารเคมีที่เป็นฆาตกรเงียบรอบตัวชาวอเมริกันมาเป็นเวลานาน และน่าจะรอบตัวคนทั่วโลกด้วย ทั้งนี้เพราะชาวโลกส่วนใหญ่ใช้สารเคมีดังกล่าวเช่นเดียวกับชาวอเมริกัน

สารเคมีที่อ้างถึงมีรวมกันนับพันชนิดซึ่งมนุษย์เราผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งที่ใช้ภายในและนอกบ้านรวมทั้งในโรงงานอุตสาหกรรม  สารเคมีเหล่านั้นรวมกันเรียกสั้น ๆ ว่า “พีฟาส” (PFAS ย่อมาจาก Per- and Polyfluoroalkyl Substances)  เนื่องจากสารเคมีในกลุ่มนี้มีลักษณะพิเศษร่วมกันในด้านที่มีความคงทนมากทำให้ยากแก่ย่อยสลาย หรือทำลาย มันจึงได้รับสมญานามว่า “สารเคมีชั่วนิรันดร์ (forever chemicals) ซึ่งมีทั้งด้านดีและด้านร้าย  องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมได้พิจารณาผลการวิจัยทางด้านร้ายของมันและสรุปว่าจะต้องดำเนินการขจัดมัน หรืออย่างน้อยลดผลกระทบของมันลงอย่างจริงจังนับตั้งนี้เป็นต้นไป
 

ความคงทนดังกล่าวนั้นทำให้มันค่อย ๆ สั่งสมขึ้นในร่างกายของมนุษย์ ในสัตว์ ในดิน ในน้ำและในอากาศ  สารเคมีกลุ่มนี้มีอยู่ในอาหารจำพวกปลาและนมจากสัตว์ที่สั่งสมมันไว้  ในเครื่องสำอาง  ในเสื้อผ้า ในเครื่องใช้สารพัดชนิดภายในบ้าน ในพรม ในสี ในเครื่องครัวและในกล่องบรรจุอาหาร  โดยสรุปคือ มนุษย์เราในยุคนี้ไม่มีทางที่จะไม่ได้รับผลกระทบของมันไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน  
 

การวิจัยชี้ว่า ผลกระทบที่น่าจะแน่นอนแล้วรวมทั้งต่อสตรีในด้านที่ทำให้มีลูกยากขึ้นและในระหว่างตั้งครรภ์ความดันโลหิตอาจสูงขึ้น  ต่อเด็กรวมทั้งในด้านมีพัฒนาการช้า หรือเร็วเกินปกติและด้านการมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์  ต่อผู้ชายในด้านการเป็นมะเร็งที่ต่อมลูกหมาก ที่ลูกอัณฑะและในไต  และโดยทั่วไปมันทำให้ภูมิต้านทานในร่างกายต่อเชื้อโรคลดลง ไขมันในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น และเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนเพิ่มขึ้น  

นอกจากนี้ ยังมีตัวบ่งชี้ทางด้านร้ายที่ยังไม่มีการยืนยันจากการวิจัยอีกด้วยเนื่องจากสารเคมีในกลุ่มนี้มีนับพันชนิดและการวิจัยยังไม่ครอบคลุมอย่างทั่วถึงทุกด้าน

เนื่องจากองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่งแถลงยุทธการต่อสู้กับสารเคมีเหล่านี้ออกมา ณ วันนี้จึงยังไม่มีทีท่าจากฝ่ายผู้ผลิตและใช้สารเคมีดังกล่าว  แต่ก็อาจคาดเดาได้ว่า พวกเขาจะต่อต้านอย่างหนักหากมองจากประวัติศาสตร์ เช่น ย้อนไปเกือบ 60 ปี หรือก่อนที่เรื่องสิ่งแวดล้อมจะได้รับความสนใจจากชาวโลก นักวิทยาศาสตร์ชื่อราเคล คาร์สัน พิมพ์หนังสือตีแผ่ผลกระทบของสารเคมีจำพวกดีดีทีออกมาชื่อ Silent Spring  
 

หนังสือเล่มนี้ถูกต่อต้านแบบหัวชนฝาจากผู้ผลิตและผู้ใช้สารเคมี แต่นำไปสู่การก่อตั้งองค์การดังกล่าวพร้อมกับการห้ามใช้ดีดีที 10 ปีหลังจากการตีพิมพ์ (ผู้เขียนไม่มีโอกาสได้เห็นผลงานอันสำคัญยิ่งของตนเพราะได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งไปก่อนนั้น 8 ปีแล้ว)  หลังจากนั้นมา การต่อต้านแบบหัวชนฝาเกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อรัฐบาลต้องการห้าม หรือควบคุมการใช้สารเคมี

เรื่องราวที่เล่ามานี้คงก่อให้เกิดคำถามว่า “แล้วเราจะทำอย่างไร?”  ในฐานะผู้สนใจในด้านสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ครั้งดีดีทียังไม่ถูกห้าม ขอเรียนว่า อย่ารอมาตรการจากรัฐบาล  ควรพยายามติดตามความเป็นไปในด้านนี้และหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีพร้อม ๆ กับพยายามป้องกันผลกระทบของมันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  ในด้านนี้ ผมมีหนังสือ 2 เล่มชื่อ “ธาตุ 4 พิโรธ” และ “เมื่ออากาศเป็นฆาตกร” ที่ผู้สนใจอาจดาวน์จากเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา (www.bannareader.com) มาอ่านเอง หรือฟังเสียงอ่านของคุณสมลักษณ์ หุตานุวัตร ซึ่งบันทึกไว้ใน YouTube ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายนอกจากการลงทุนเวลา.