เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญโดยไม่ได้ตั้งใจ | สกล หาญสุทธิวารินทร์

เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญโดยไม่ได้ตั้งใจ | สกล  หาญสุทธิวารินทร์

องค์กรธุรกิจตามกฎหมายไทยที่มีบัญญัติไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัท ประกอบด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด

การจัดตั้งห้างหุ้นส่วน และบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นเอกเทศสัญญาแบบหนึ่ง คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น       
               ห้างหุ้นส่วนสามัญ กฎหมายไม่บังคับให้ต้องจดทะเบียนแต่จะจดทะเบียนก็ได้ โดยมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการในการจดทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัดเมื่อดำเนินการตามขั้นตอนการจัดตั้งเสร็จแล้วต้องมีการจดเบียนตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้เสมอ    ห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด เมื่อจดทะเบียนแล้วมีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น   
               การที่บุคคลเข้าทำกิจการร่วมกัน และดำเนินการการจัดตั้งและจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน บริษัทจำกัดดังกล่าวข้างต้น ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้น  มีจุดเจตนาที่คาดคิดไว้แล้วว่ากิจการที่ตนเองเข้าเป็นหุ้นส่วน หรือถือหุ้นจะเกิดเป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด         
               แต่ก็มีกรณีที่บุคคลทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลลงทุนทำกิจการบางอย่างร่วมกัน โดยมิได้คิดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วน หรือไม่มีความประสงค์ตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนและไม่คิดว่ากิจการนั้น เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ 
 

แต่ถ้าลักษณะของกิจการที่ร่วมกันดำเนินการนั้น เข้าองค์ประกอบเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ตามที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กิจการที่ลงทุนร่วมกัน ก็ถือว่ามีฐานะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งมีผลทางกฎหมายแตกต่างจากบุคคลธรรมดาบางประการ ตามมา เช่น
    - การนำรถยนต์โดยสารไปร่วมในกิจการเดินรถ           
            นาย ก นำรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุ ไปร่วมในกิจการเดินรถกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ข  จึงเป็นหุ้นส่วนของห้าง ข ในลักษณะห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ต้องร่วมรับผิดในหนี้สินของห้างโดยไม่จำกัดจำนวน เมื่อนาย ค ลูกจ้างของห้างขับรถทำละเมิดต่อบุคคลอื่นในทางการที่จ้าง  นาย ก ก็ต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดที่ นาย ค ขับรถยนต์ของห้างก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่5266/2534)
            -   เลิกทำกิจการต้องมีการชำระบัญชี
               โจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตกลงร่วมกันทำการค้าโดยโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ออกทุนด้วยเงินสด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4เป็นผู้ลงทุนด้วยแรงงานคือเป็นผู้ดำเนินกิจการค้า จึงมีลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญโดยไม่จดทะเบียน แม้จะเรียกว่าเป็นสัญญาร่วมค้าขาย เมื่อโจทก์ทั้งสองเลิกกิจการ ก็ต้องมีการชำระบัญชี เมื่อยังไม่มีการชำระบัญชี  ก็ไม่มีอำนาจฟ้อง ให้จำเลยคืนต้นทุนและกำไร(คำพิพากษาศาลฎีกาที่2167/2544)
 

   -   กิจการร้านทอง ผู้เป็นหุ้นส่วนร้องทุกข์คดีฉ้อโกงทองของห้างได้
           โจทก์ร่วมและบิดามารดากับ อ.พี่สาวโจทก์ร่วมได้ตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร้านทองร่วมกัน โดยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น เข้าลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012ประกอบมาตรา 1025 เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนมิได้ตกลงกันไว้ในกระบวนจัดการห้างหุ้นส่วนไว้ ผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นได้ทุกคนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1033 ดังนั้น โจทก์ร่วมซึ่งเป็นหุ้นส่วนในกิจการร้านทอง ย่อมเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้สอบสวนคดีที่มีผู้ฉ้อโกงทองของห้างได้ โดยไม่จำต้องมีหลักฐานการมอบอำนาจให้โจทก์ร่วมมีอำนาจดำเนินคดีแทนร้านทองกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1025 และมาตรา (คำพิพากษาศาลฎีกาที่3559/2550)
             -   ผู้เป็นหุ้นส่วนมีอำนาจฟ้องผู้ทำให้ทรัพย์สินของห้างเสียหายได้
               ส. ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้ครอบครองรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุตามที่ปรากฏในสมุดจดทะเบียน เมื่อปรากฏว่าโจทก์และ ส. ได้ร่วมลงทุนในการประกอบกิจการค้าขายและขนส่งอาหารอันมีลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ รถยนต์กระบะจึงเป็นทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วน เมื่อทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหายโดยไม่ปรากฏว่าได้ตกลงกันไว้ในกระบวนจัดการห้างหุ้นส่วน โจทก์ในฐานะหุ้นส่วนย่อมมีอำนาจฟ้องร้องผู้กระทำให้ทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหายได้ (พิพากษาศาลฎีกาที่1632/2552)     
          -  เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญแม้ไม่ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือ
                จำเลยร่วมและจำเลยทั้งสองตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการจำหน่ายlสนค้าที่ซื้อจากโจทก์ร่วมกัน เพื่อแบ่งปันผลกไรระหว่างกัน เข้าลักษณะสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ หาจำต้องทำหนังสือสัญญา ระหว่างจำเลยร่วมกับจำเลยทั้งสองไม่ เมื่อเป็นหนี้ค่าซื้อสินค้าจากโจทก์ จำเลยร่วมซึ่งเป็นหุ้นส่วน จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยทั้งสองด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่14410/2558)
       -  ร่วมกันทำนาแบ่งผลผลิตกัน
                 ผู้เสียหายทั้งสองได้ตกลงเข้าทำนาและแบ่งปันผลผลิตอันพึงได้จากการทำนาร่วมกัน เข้าลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญตาม ป.พ.พ.มาตรา 1012 ประกอบมาตรา 1025 เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนมิได้ตกลงกันไว้ในกระบวนการจัดการห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นได้ทุกคนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1033

ดังนั้น เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนในการทำนาร่วมกับผู้เสียหายที่ 2 ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้สอบสวนดำเนินคดีในความผิดที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสี่ได้กระทำให้เกิดความเสียหายแก่เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผู้เสียหายที่ 2 ได้หว่านไว้ในที่พิพาทถือว่าเป็นการร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และผู้เสียหายที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนที่ได้ลงแรงไถหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวในที่พิพาทย่อมเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่ในทางทรัพย์สินจึงมีสิทธิยื่นคำร้องให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1วรรคหนึ่ง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5177/2562)