สื่อออนไลน์: คนรุ่นใหม่ไม่เหมือนเดิม | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

สื่อออนไลน์: คนรุ่นใหม่ไม่เหมือนเดิม | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ปรากฏการณ์ของคนรุ่นใหม่ซึ่งมีอายุตั้งแต่ชั้นมัธยมต้นไปจนถึงมหาวิทยาลัยและผู้ที่ทำงานแล้วเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมขนานใหญ่ เป็นเรื่องที่ช็อคทุกวงการ

สิ่งที่คนรุ่นใหม่เรียกร้องให้แก้ไขนั้นมีตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ตั้งแต่ระเบียบปลีกย่อยที่โรงเรียนจนถึงการใช้กำลังและการแสดงอำนาจของครูผู้สอนที่ไม่มีเหตุผล การขาดการมีส่วนร่วมของนักเรียน การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ปัญหาความไร้ประสิทธิภาพของรัฐที่ปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและวิกฤติที่เกิดขึ้น จนไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ความรู้สึกกังวลต่อปัญหาเหล่านี้สร้างความไม่พอใจให้แก่คนรุ่นใหม่และมีการบ่มเพาะบนสื่อออนไลน์มาหลายปีแล้ว 

    วัฒนธรรมต่างชาติที่ถ่ายทอดผ่านสื่อออนไลน์กลายเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงออกของคนรุ่นใหม่ คือ การชูสามนิ้ว เป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านจากภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Games แฮมทาโร่ นินจาฮารุโตะ และกิจกรรม “วิ่งกันนะแฮมทาโร” เป็นสัญลักษณ์ร่วมสมัยของคนรุ่นใหม่ที่แสดงถึงหนูที่ต้องการวิ่งออกมาจากกรงที่กำลังจะพังและการวิ่งเป็นการออกมา “เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง” (ธนพงศ์ พุทธิวนิช, 2563) อะไรเป็นที่มาของความเคลื่อนไหวนี้

    เทคโนโลยีสื่อยุคใหม่กับตัวตนที่เลือกได้ เทคโนโลยียุคใหม่ทำให้ผู้ใช้สามารถก้าวข้ามเวลา สถานที่ เพิ่มอำนาจการเข้าถึงข้อมูลและอำนวยให้เกิดรูปแบบการใช้และนำเสนอข้อมูลทั้งเป็นตัวอักษร ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียงและสี ยิ่งไปกว่านั้นสื่อรุ่นใหม่สนองความต้องการได้อย่างฉับไว และที่สำคัญก็คือไม่มีลำดับชั้น ผู้ใช้สื่อทุกคนเสมอภาคกัน

วัยรุ่นสามารถใช้โปรแกรมสำเร็จรูปแต่งภาพของตนและถ่ายทอดตัวตนในอุดมคติเป็นการสร้างตัวตนใหม่ หรือภาพลักษณ์ของตนเองใหม่อย่างที่อยากให้คนอื่นเห็นว่าตนเป็น รวมทั้งหลีกหนีโลกที่ตนเองอยู่ไปสู่โลกแห่งจินตนาการหรือโลกที่ให้คุณค่าหรือโลกที่ยอมรับตนเองมากกว่าโลกแห่งความเป็นจริง อัตลักษณ์ที่สร้างขึ้นเป็น
อัตลักษณ์ที่ลื่นไหลเพราะเมื่อสร้างได้ก็เปลี่ยนได้ สื่อยุคใหม่จึงให้เวทีกับตัวตนที่เลือกได้ของคนรุ่นใหม่

    เครือข่ายใหม่สำหรับคนรุ่นใหม่ สื่อออนไลน์ในโลกยุคใหม่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ “เห็นกระแส” และ “สร้างกระแส” กล่าวคือ สามารถมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น แสดงความพึงพอใจและไม่พอใจ ให้คำเสนอแนะ แบ่งปันและปิดประกาศ (Post) ทำให้ผู้ใช้สื่อเป็นผู้สร้างและสามารถกำหนดสาระ (User generated content) ทำให้เกิดความรู้สึกของการมีพลัง มีพรรคพวก และมีสังคมที่ชื่นชอบตน 
    สื่อออนไลน์ทำให้เกิดการรวบรวมข่าวสารข้อมูลและสาระที่หลากหลายที่โดนใจมาบรรจบพบกันกลายเป็นเครือข่ายที่มีความคิดร่วมและพลังร่วมกัน ทำให้การสร้างเครือข่ายง่ายขึ้น จำนวนเครือข่ายมากขึ้น แต่มีจุดอ่อนตรงที่มีความเห็นเหมือนกันก็จะรวมตัวกันในเครือข่ายเดียวกันเสมือนอยู่ในห้องที่สะท้อนเสียงเดียวกันกลับไปกลับมา (Echo chamber) ทำให้โอกาสในการรับรู้ข้อมูลและความเห็นต่างลดน้อยลงและอาจทำให้ความเป็นเหตุเป็นผลลดลง   

กระบวนทัศน์ใหม่สำหรับคนรุ่นใหม่ สื่อดิจิทัลเปลี่ยนความคาดหวังในสังคมไทยอย่างคาดไม่ถึง เด็กไทยเรียนรู้จากสื่อโซเชียลอย่างมากจนเกิดข้อสงสัยว่า มหาวิทยาลัยและใบปริญญายังจำเป็นอยู่แค่ไหน อาชีพยอดนิยมของเยาวชนในอดีต เช่น แพทย์ วิศวกร เปลี่ยนเป็น ดารา นักร้อง และอาชีพที่ผู้ใหญ่ไม่เคยได้ยินมาก่อน เช่น นักเล่นเกมสาธิต (Game caster) การขายของและรับจ้างประเมินสินค้าออนไลน์ บล็อกเกอร์ และอินฟลูเอ็นเซอร์ เป็นต้น (สถาบันวิจัยประชากรและสังคม, 2564) สื่อออนไลน์สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ทะลุข้ามเพดานความฝัน ให้มีความมานะที่จะฟันฝ่าอุปสรรคในชีวิต และสร้างช่องทางเสริมอำนาจให้ผู้ด้อยโอกาสในสังคม

    ในโลกของคนรุ่นใหม่ การรับรู้และแบ่งปันประสบการณ์และข้อมูลเกิดขึ้นได้ง่าย รวดเร็วและกว้างขวาง ทำให้เกิดการหลอมรวมหรือรับเอาความเชื่อ ค่านิยม การปฏิบัติการในด้านต่างๆ ได้ง่ายเช่นกัน งานวิจัยของแผนงานคนไทย 4.0 พบว่า คนรุ่นใหม่มีความเป็นสากลมากขึ้นและเป็นสังคมที่มีความเป็นปัจเจกนิยมมากขึ้น ชาวดิจิทัลรุ่นใหม่ของไทยจะมีลักษณะเช่นเดียวกับชาวดิจิทัลสากล เช่น การใช้เทคโนโลยีอย่างเข้มข้น มีวิถีชีวิตออนไลน์ ชอบค้นหาตัวตน สร้างตัวตนอย่างเฉพาะ มีอิสระ มีความมั่นใจในตนเอง ชอบความโปร่งใส ยืนหยัดเพื่อสิทธิของตนเอง ลดอคติในการเหยียดหยามผู้อื่นและต้องการมีส่วนร่วมกับสังคม (จุลนี เทียนไทย, 2563) 

    ต่างรุ่น ต่างอัตลักษณ์ ต่างวิธีคิด สื่อยุคใหม่ทำให้คนรุ่นใหม่มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น กล้าแสดงออกมากขึ้น เกิดพฤติกรรมใหม่ๆ ที่ต่างไปจากค่านิยมและการสื่อสารแบบดั้งเดิมของคนไทยหลายด้าน เช่น การใช้ภาษา การนำเสนอตัวเอง การลดช่องว่างระหว่างอำนาจ ค่านิยมของการให้ความเคารพต่อผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีสถานภาพสูงกว่า ความเกรงใจและการประนีประนอมจะลดความสำคัญลง 
    คนรุ่นใหม่อยู่นอกกรอบของอุดมการณ์และจารีตเดิมๆ ในขณะที่คนรุ่นเก่ายังเสพสื่อเก่าที่มีโครงสร้างวิธีคิดและเนื้อหาที่เคยเป็นมาทำให้มีความแตกต่างของอัตลักษณ์ระหว่างรุ่นมากขึ้น สื่อออนไลน์ได้ทำให้คนรุ่นใหม่มีวิถีชีวิตที่แตกต่างออกไปจากคนรุ่นเก่าและที่สำคัญก็คือ คนต่างรุ่นให้ความหมายของคุณค่าต่างๆ ต่างกัน (สุกัญญา สุดบรรทัด และคณะ, 2564 หน้า 89) 

    คนรุ่นใหม่มีสาระมากกว่าที่คิด เด็กรุ่นใหม่มีสาระมากกว่าที่คิด เด็กรุ่นใหม่สามารถตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมไทยจึงบิดเบี้ยว เหลื่อมล้ำและไร้ประสิทธิภาพ ทำไมระบบราชการไม่อภิบาลคนดี ทำไมคนชั่วถึงลอยนวลและอยู่อย่างมีเกียรติมีอำนาจในสังคมขณะที่คนจนที่ถูกข้อหาเดียวกันต้องเข้าตะราง  ทำไมรัฐบาลถึงกีดกันและต่อสู้กับคนจนที่ไร้ที่ทำกิน แต่ปล่อยให้คนรวยไม่กี่ครอบครัวมีที่ดินเป็นหมื่นเป็นแสนไร่ 
    คำถามเหล่านี้ คนรุ่นใหม่สามารถหาคำตอบได้จากการค้นคว้าและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านสื่อออนไลน์ ผลก็คือคนรุ่นใหม่ที่ได้ค้นพบโครงสร้างที่ไม่มีประสิทธิภาพที่เป็นโครงสร้างของกลุ่มอำนาจเก่าที่มุ่งรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มและของพรรคพวกอย่างที่เคยเป็นมา เป็นโครงสร้างที่ไม่เอื้ออำนวยให้คนรุ่นใหม่ได้ผลิบาน

    บริบทต่างกัน ความฝันต่างกัน คนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่เติบโตมาในช่วงที่บริบทของชีวิตแตกต่างกัน คนรุ่น Baby boomer และพวกกลุ่ม Gen X เติบโตในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัว ประเทศไทยถึงกับได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในสี่เสือแห่งบูรพาทิศ และเป็นเป้าหมายการเข้ามาลงทุนของนานาประเทศ เป็นช่วงที่การจ้างงานขยายตัว คนรุ่นนี้แค่ขยันเและทำงานหนักก็จะสร้างตัวได้โดยไม่ยากนัก 
    คนรุ่นใหม่เกิดมาและเติบโตในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเริ่มชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันพวกเขาได้เห็นโลกที่มีมาตรฐานสูงกว่าโลกในประเทศนี้และได้วาดฝันที่อยู่เลย “เส้นขอบฟ้า” จากสื่อออนไลน์และก็เห็นปัญหาและอุปสรรค การกีดกันเชิงโครงสร้างตลอดจนอภิสิทธิ์และความไม่เท่าเทียมกันในสังคม และยิ่งโควิด-19 ระบาด คนรุ่นใหม่ ก็ยิ่งเห็นความสิ้นหวังของระบอบที่รองรับการดำเนินชีวิตของเขา เมื่อมามองโลกที่ผันผวนไปตามแรงเหวี่ยงของเทคโนโลยี คนรุ่นใหม่ก็แทบมองไม่เห็นทางเดินไปสู่อนาคตที่ดีกว่าหรือเรียกว่าไม่เห็นแสงที่ปลายอุโมงค์ (กนกรัตน์ เลิศชูสกุล, 2564)

    แผลเก่ามาเล่าใหม่ ปัญหาที่คนรุ่นใหม่เรียกร้องให้มีการแก้ไขไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาที่มีอยู่ในระบบนานแล้ว และคนรุ่นเก่าก็ปล่อยเลยตามเลยด้วยคติที่ว่ารู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี หรือธุระไม่ใช่แล้วหวังว่าปัญหาเหล่านี้จะสามารถคลี่คลายไปได้เอง หรือเป็นปัญหาที่ชนชั้นกลางรุ่นเก่าไม่ได้รับผลกระทบมากนักและยังอาจได้ผลประโยชน์จากระบบอีกด้วยในรูปของอภิสิทธิ์เล็กๆ น้อยๆ จนถึงผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน 

    การไม่รับฟังปัญหาจากคนรุ่นใหม่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ และการเผชิญหน้าจะยิ่งรุนแรงขึ้น อาจารย์กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้เห็นว่า สายไปแล้วที่จะรับฟัง ต้องมีการระเบิดจากข้างในแม้จะเป็นจากกลไกเล็กๆ ก็ดี ผู้เขียนคิดว่าสถาบันศึกษาน่าจะเป็นกลไกนั้นและต้องเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้มีการพูดคุยแก้ไขปัญหาร่วมกันเริ่มจากปัญหาเล็กๆ แล้วค่อยขยายเป็นดาวกระจายออกไป
    ถ้าเรารักลูกหลานเรา เวลาเขาท้าทายเรา เราก็คงไม่เฆี่ยนตีและจับเขาขังไว้ในห้องน้ำใช่ไหมคะ โลกเราเปลี่ยนไปแล้วค่ะ!