(10.) คนไทยเหลื่อมล้ำตั้งแต่เกิดถึงเชิงตะกอน | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

(10.) คนไทยเหลื่อมล้ำตั้งแต่เกิดถึงเชิงตะกอน | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

การศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ชี้ให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก เนื่องจากการลงทุนที่ไม่เท่าเทียมกันของผู้ปกครองที่มีรายได้ต่างกัน ความเหลื่อมล้ำนี้จึงเป็นการส่งต่อระหว่างรุ่นต่อรุ่น

ในการวิเคราะห์ศักยภาพของประเทศไทยในบทความที่ผ่านมาพบว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มถดถอยมาอย่างต่อเนื่อง ในอดีตเรามักจะให้ความสำคัญกับทุนและแรงงานทักษะ แต่ในระยะหลังเริ่มมีการศึกษาถึงปัจจัยทางโครงสร้างที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา เช่น ความเหลื่อมล้ำมีการศึกษาของ IMF ที่พบว่าความเหลื่อมล้ำเป็นอุปสรรคของการขับเคลื่อนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

การศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้คำนวณค่าจีนี่โดยใช้ข้อมูล SES (พ.ศ. 2549–2562) วัดทั้งระดับรายได้ การบริโภค และความมั่งคั่ง (ทรัพย์สินหักด้วยหนี้สิน) พบว่า ความเหลื่อมล้ำเมื่อวัดจากความมั่งคั่งสูงกว่าความเหลื่อมล้ำจากรายได้มากในปี 2562 ความเหลื่อมล้ำของระดับรายได้อยู่ที่ 0.41 ด้านการบริโภคอยู่ที่ 0.33 แต่ค่าของความมั่งคั่งอยู่ที่ 0.65 (เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟูและคณะ, 2563) 

สาเหตุที่ความเหลื่อมล้ำด้านการบริโภคต่ำกว่ารายได้อธิบายได้ด้วยทฤษฎีรายได้ถาวร ซึ่งอธิบายว่า ครัวเรือนจะพยายามรักษาการบริโภคให้อยู่ในระดับคงที่โดยใช้เงินออมหรือเงินกู้ยืมเมื่อรายได้เปลี่ยนแปลงชั่วคราว ในปีที่รายได้ผันผวนนั้นคนที่มีรายได้ต่ำจำเป็นต้องกู้ยืมมารักษาระดับการบริโภคซึ่งอาจจะลดลงไม่ได้

 

การศึกษานี้ยังพบว่า กลุ่มรายได้ต่ำจะมีสัดส่วนรายได้ที่ไม่เป็นตัวเงินค่อนข้างมาก (เช่น รายได้จากพืชผลเกษตร) ซึ่งแสดงถึงสภาพคล่องที่ต่ำกว่ากลุ่มอื่นมากกว่าที่เห็น อีกทั้งสัดส่วนของรายได้ที่มาจากเงินโอนภายนอกครัวเรือนมีสัดส่วนสูงขึ้นเรื่อยๆ

แสดงว่าแม้ความเหลื่อมล้ำโดยรวมจะลดลง แต่ไม่ได้เกิดจากการที่ครอบครัวรายได้ต่ำนั้นสามารถพึ่งพาตนเองได้ หากเกิดจากเงินอุดหนุนและเงินโอน ซึ่งทำให้คนกลุ่มรายได้ต่ำนี้มีความเปราะบางสูงและไม่สามารถทนผลกระทบของความผันผวนของรายได้ที่รุนแรงได้ (เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟูและคณะ, 2563)

ในด้านแนวโน้มความมั่งคั่ง หากดูจากจำนวนบัญชีเงินออมในประเทศไทย ก็จะเห็นความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูงคือ ร้อยละ 87 (หรือจำนวนบัญชี 94 ล้านบัญชี) ของบัญชีเงินฝากของไทยมียอดคงค้าง ไม่เกิน 50,000 บาท (ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย 29 เมษายน 2564) ครัวเรือนกลุ่มที่มีรายได้สูงสุด (ร้อยละ 10 ของประเทศ) ครอบครองทรัพย์สินทางการเงินเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าทรัพย์สินทั้งประเทศ (วัดรวมเงินสด เงินฝากธนาคาร สลากออมสิน ตราสารหนี้ ตราสารทุน ทองคำและอัญมณี) 

ข้อมูลการครอบครองที่อยู่อาศัยของกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยจัดทำโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ระบุว่า ในปี 2558 ครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยไม่มีที่อยู่อาศัยของตนเอง 3.6 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 17 ของครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12.2 ในปี 2550  

เหลื่อมล้ำจนถึงเชิงตะกอน เมื่อพิจารณาความเหลื่อมล้ำในมิติอื่นๆ ก็พบว่ามีหลายมิติที่สูงกว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ การศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ยังชี้ให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก เนื่องจากการลงทุนที่ไม่เท่าเทียมกันของผู้ปกครองที่มีรายได้ต่างกัน ความเหลื่อมล้ำนี้จึงเป็นการส่งต่อระหว่างรุ่นต่อรุ่น และเมื่ออายุมากขึ้นความเหลื่อมล้ำก็จะมากขึ้น

การลงทุนในการศึกษาจะลดความเหลื่อมล้ำได้มากเพราะผลงานวิจัยชี้ว่าการศึกษาอธิบายความเหลื่อมล้ำได้ถึงร้อยละ 25 โดย (Kilenthong 2016 อ้างในชญาณี ชวะโนทย์, 2562) การเหลื่อมล้ำข้ามรุ่นปิดโอกาสและทางเลือกในอนาคต กีดกันการเคลื่อนที่ทางสังคม 

การศึกษาอนาคตของคนเมืองตั้งแต่เกิดจนตายภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 สรุปได้ว่า คนไทยที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครในอนาคตจะยิ่งมีความเหลื่อมล้ำในวิถีการดำรงชีวิตตั้งแต่ก่อนเกิด (จากการอาศัยเทคโนโลยีชีวภาพ) จนถึงเชิงตะกอน ( https://www.khonthai4-0.net/ อภิวัฒน์ รัตนวราหะและคณะ, 2564)

เหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ การพัฒนาอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวทำให้กรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑลเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและมีสาธารณูปโภคที่ล้ำหน้ากว่าทุกจังหวัดจึงเป็นแหล่งที่ดึงดูดประชากรทั้งประเทศรวมทั้งแรงงานในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงให้เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานและทำงาน ความเจริญของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ในประเทศไทยอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงสาธารณูปโภคที่ดีกว่าแล้ว ค่าดัชนีการกระจายรายได้ระดับจังหวัดพบว่า ในปี 2562 ค่า Gini ของการกระจายรายได้ของ GPP จังหวัดเท่ากับ 0.68 นับว่าสูงมาก นับว่าความเหลื่อมล้ำระดับพื้นที่สูงกว่าความเหลื่อมล้ำระดับรายได้ ความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ทำให้การเข้าถึงทรัพยากรท่องเที่ยวแตกต่างกัน และความเหลื่อมล้ำในระดับจังหวัดทำให้ความเหลื่อมล้ำจากรายได้ด้านการท่องเที่ยวสูงตามไปด้วย

เหลื่อมล้ำเพราะผูกขาด การศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ในทศวรรษที่ผ่านมา (พ.ศ. 2542-2554) การผูกขาดในระบบเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้ประกอบการรายใหญ่ ร้อยละ 5 แรกที่มีมูลค่าทรัพย์สินมากที่สุดครอบครองตลาดถึงร้อยละ 80 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 60 ในปี 2542 กลุ่มที่มีการกระจุกตัวสูงสุด คือ กลุ่มสื่อสาร กลุ่มการเงินและประกันภัย กลุ่มการผลิต กลุ่มเหมืองแร่ และเหมืองหิน (ทศพล อภัยทาน, 2558) บริษัทส่วนใหญ่ของไทยเป็นบริษัทขนาดเล็กและประมาณร้อยละ 60 ของบริษัทเหล่านี้มีการลงทุนติดลบ (คือลงทุนน้อยกว่าค่าเสื่อมตามบัญชี) สะท้อนปัญหาการลงทุนรวมของไทยที่ตกต่ำมาเป็นเวลานาน และการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ (วรดา ลิ้มเจริญรัตน์, 2559)

การระบาดของโควิด-19 ได้ช่วยตอกย้ำโครงสร้างความเหลื่อมล้ำและฉุดกระชากครัวเรือนจำนวนมากเข้าสู่ความยากจน มาตรการของรัฐจากหอคอยงาช้างในด้านต่างๆ เช่น การบังคับให้เด็กเรียนออนไลน์ทั้งๆ ที่ผู้เรียนขาดทั้งอุปกรณ์อัจฉริยะและค่าใช้บริการอินเทอร์เน็ต การเยียวยาและการกระจายวัคซีนที่เป็นอุปสรรคกับคนที่ไม่มีแอปพลิเคชันหรือโทรศัพท์อัจฉริยะ ทำให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำขยายมากขึ้นจนยากที่จะเยียวยา 

การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยเพิ่มรายได้และสวัสดิการ พื้นฐานโดยการเพิ่มเงินอุดหนุนถ้วนหน้าไม่ได้ตอบโจทย์ของการลดความเหลื่อมล้ำ เพราะอย่างมากก็เป็นแค่การเพิ่มรายได้ให้คนยากจนไปอุดหนุนการผลิตที่ทำให้คนรวยอยู่ได้ดีขึ้น การลดความเหลื่อมล้ำให้ได้ผลที่แท้จริงต้องมาจากการให้กรรมสิทธิ์หรือการครอบครองสิทธิในการใช้ (Use right) ของทรัพย์สินที่จะสามารถสร้างรายได้ได้ อาจจะเป็นที่ดินทำกิน ทรัพยากรธรรมชาติหรือแม้แต่การเข้าถึงเทคโนโลยี
    ถ้าไม่รีบทำเสียแต่วันนี้ ก็จะมีคนลงไปเดินประท้วงในถนนมากขึ้น!