‘สหรัฐ’ รวม 30 ประเทศ จัดการ ‘ภัยไซเบอร์’

‘สหรัฐ’ รวม 30 ประเทศ  จัดการ ‘ภัยไซเบอร์’

ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ถือเป็นวาระแห่งโลกและวาระแห่งชาติ

ปัญหาเรื่องมัลแวร์เรียกค่าไถ่ หรือ แรนซัมแวร์ ถูกปล่อยให้เรื้อรังมานาน กระทั่งประเทศไทยของเราเองก็ตกเป็นเหยื่อของภัยไซเบอร์ตัวนี้ อย่างที่ได้เห็นจากกรณีที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลสระบุรี 

ทว่าประเทศที่ดูเหมือนจะถูกแรนซัมแวร์ โจมตีบ่อยที่สุดคงจะเป็นสหรัฐ ทำให้ล่าสุดประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศแผนที่จะจัดการประชุมร่วมกับตัวแทนจาก 30 ประเทศในปลายเดือนนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับแรนซัมแวร์และปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องไซเบอร์ซิเคียวริตี้ต่างๆ 

โดยแถลงการณ์นี้ได้ออกมาในวันแรกของเดือนที่สหรัฐกำหนดให้เป็นเดือนแห่งการสร้างความตระหนักรู้ด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ประจำปี (America's annual Cybersecurity Awareness Month)

การประชุมครั้งนี้จะเป็นไปในรูปแบบเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์ โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติทำเนียบขาว (The White House National Security Council) โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า จุดประสงค์หลักของการประชุมคือเพื่อจัดการกับผลกระทบของภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงแห่งชาติ 

นระเบียบวาระการประชุมนอกเหนือจากเรื่องแรนซัมแวร์ ยังประกอบไปด้วยการหารือเกี่ยวกับวิธีการปราบปรามการใช้ Crypto-Currency ที่ผิดกฎหมาย และหาวิธีการทำงานร่วมกันในการดำเนินคดีกับอาชญากรไซเบอร์ ระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ที่มีความแตกต่างกัน

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า “ในเดือนนี้สหรัฐจะรวบรวม 30 ประเทศเพื่อเร่งขอความร่วมมือในการต่อสู้กับอาชญากรรมทางไซเบอร์ พัฒนาความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมาย ยับยั้งการใช้ Crypto-Currency อย่างผิดกฎหมาย และมีส่วนร่วมในประเด็นเหล่านี้ไปด้วยกัน

สหรัฐ กำลังสร้างพันธมิตรจากประเทศต่างๆ เพื่อสนับสนุนและลงทุนในเทคโนโลยี 5จี ที่เชื่อถือได้ และรักษาความปลอดภัยระบบ ซัพพลายเชนให้ดียิ่งขึ้น ทั้งจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อขัดขวางกิจกรรมทางไซเบอร์ที่เป็นอันตราย รวมถึงจัดการกับความเสี่ยงและโอกาสที่มาพร้อมเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ควอนตัมคอมพิวเตอร์ (Quantum Computer) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence)

รัฐบาลกลางต้องการความร่วมมือจากชาวอเมริกันทุกคนและทุกบริษัททั่วสหรัฐในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศ เราทุกคนต้องล็อคประตูดิจิทัลของเรา โดยอาจเริ่มจากการเข้ารหัสข้อมูล การตรวจสอบสิทธิ์แบบหลายปัจจัย และเราต้องสร้างเทคโนโลยีอย่างปลอดภัยผ่านการออกแบบ ตลอดจนช่วยให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงความเสี่ยงในเทคโนโลยีที่พวกเขาซื้อ

ผลกระทบของแรนซัมแวร์ที่สหรัฐได้รับนั้น นับวันจะยิ่งร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เห็นได้จากกรณีที่เกิดขึ้นกับ Colonial Pipeline และผู้ผลิตเนื้อสัตว์ JBS ทำให้ฝ่ายบริหารภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เกลี้ยกล่อมให้กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปโภค 150 แห่งใช้งานเทคโนโลยีด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ และกำลังวางแผนงานที่จะขอความร่วมมือเพิ่มเติมจากกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ Critical Infrastructure

การจัดการประชุมร่วมกับอีก 30 ประเทศของสหรัฐครั้งนี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็นปัญหาที่ทุกประเทศต้องตื่นตัว และไม่สามารถป้องกันหรือจัดการได้เฉพาะจากประเทศใดประเทศหนึ่ง 

เพราะสุดท้ายแล้วทุกประเทศต่างเชื่อมต่อถึงกันผ่านโลกไซเบอร์ เรื่องไซเบอร์ซิเคียวริตี้จึงถือเป็นวาระแห่งโลกและวาระแห่งชาติซึ่งทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนในทุกประเทศจะต้องร่วมมือกันครับ