เศรษฐกิจคน “โสด" | พสุ เดชะรินทร์

เศรษฐกิจคน “โสด" | พสุ เดชะรินทร์

แนวโน้มทางประชากรประการหนึ่งที่ส่งผลทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และธุรกิจ คือการที่หลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย กำลังก้าวสู่สังคมคนโสดกันมากขึ้น

ในโลกตะวันตกนั้นพบเห็นแนวโน้มมาหลายปีแล้วที่คนโสดได้เพิ่มสูงขึ้น และแนวโน้มดังกล่าวกำลังเกิดขึ้นกับทวีปเอเซียและประเทศไทย ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่า Single person households หรือครัวเรือนคนเดียว เป็นกลุ่มครัวเรือนที่มีการเติบโตสูงที่สุดในโลกระหว่างปี 2010-2019 เติบโตถึง 31% และเกือบครึ่งหนึ่งนั้นมาจากภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค
    ปัจจัยที่นำไปสู่สังคมคนโสด มีตั้งแต่ อัตราการเกิดที่ลดลง การแต่งงานที่ช้าลง คนมีการศึกษา ทำงานมีรายได้ประจำ สามารถพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น มีความต้องการอิสรภาพในการดำรงชีวิตที่มากขึ้น ทำให้รูปแบบของครัวเรือนเปลี่ยนจากในอดีตที่บ้านหลังหนึ่งมีคนหลายรุ่นอาศัยอยู่ ปัจจุบันลูกหลานก็จะแยกบ้านกันอยู่เองมากขึ้น นำไปสู่ความเป็นครัวเรือนคนเดียวมากขึ้น
    ครัวเรือนคนเดียวไม่ได้หมายถึงเพียงแค่คนวัยหนุ่มสาวหรือวัยทำงานที่ตัดสินใจที่จะอยู่คนเดียวแบบโสดๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้สูงวัยที่อยู่คนเดียวซึ่งอาจจะเกิดจากการหย่าร้างหรือการเสียชีวิตของคู่ชีวิต

พบว่าประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจมาก ก็มีโอกาสที่ครัวเรือนคนเดียวจะเพิ่มขึ้น การศึกษาและรายได้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้คนสามารถอยู่อาศัยได้ด้วยตนเองมากขึ้น อีกทั้งพัฒนาการของเทคโนโลยีและความบันเทิงรูปแบบใหม่ ทำให้คนที่อยู่คนเดียวสามารถใช้เวลาว่างที่มีอยู่ได้อย่างเพลิดเพลินมากขึ้น
    Euromonitor ระบุว่าในปี 2010 สัดส่วนของครัวเรือนคนเดียวในไทยมีไม่ถึง 20% แต่เพิ่มขึ้นเป็น 25-30% ในปี 2019 และคาดว่าจะมีเกิน 30% ในปี 2040 เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคแล้วไทยเป็นอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่นและเกาหลี 
    จากสังคมคนโสดก็นำไปสู่เศรษฐกิจคนโสดที่นำไปสู่พฤติกรรมและความต้องการในสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ ที่เหมาะสมกับครัวเรือนคนเดียว จากตัวอย่างของต่างประเทศทำให้ได้เห็นความเป็นไปได้ในการเติบโตของธุรกิจที่สามารถตอบสนองต่อความเป็นครัวเรือนคนเดียวได้มากขึ้น

ในญี่ปุ่น อพาร์ตเมนท์สำหรับคนโสดได้รับความนิยมอย่างมาก มีการจับจองกันตลอดและมีผลตอบแทนในการลงทุนสูง หรือ ร้านคาราโอเกะในญี่ปุ่นพบว่า 30% ของลูกค้านั้นคือพวกที่มาร้องเพียงคนเดียว ก็เลยปรับรูปแบบโดยสร้างบูธที่ลูกค้าสามารถเข้าไปร้องเพลงคนเดียวได้

หรือ บรรจุภัณฑ์ของสินค้าต่างๆ ในญี่ปุ่นจะมีขนาดที่เล็กลงเหมาะสำหรับการใช้หรือบริโภคคนเดียวมากขึ้น ขณะที่ในโลกตะวันตกนั้นสถานดูแลผู้สูงอายุก็มีการเติบโตที่สูงมาก และพบว่าคนโสดนั้นไม่ชอบสะสมทรัพย์สินแต่นิยมที่จะเช่ามากกว่าการซื้อ    
    ในประเทศไทยแนวโน้มที่ชัดเจนคือการเพิ่มขึ้นของผู้ที่มีสัตว์เลี้ยง McKinsey พบว่าระหว่างปี 2015-2020 ผู้ที่มีสัตว์เลี้ยงในประเทศไทยนั้นเพิ่มขึ้นถึง 23% สำหรับอนาคตนั้นก็เริ่มคาดการณ์กันแล้วว่าหุ่นยนต์หรือ Chatbot ที่สามารถตอบโต้กับบุคคลได้อย่างฉลาดก็จะกลายเป็นอีกหนึ่งเพื่อนคลายเหงาสำหรับครัวเรือนคนเดียว เป็นไปได้ว่าแทนที่จะเลี้ยงสัตว์เลี้ยงก็จะซื้อหุ่นยนต์มาอยู่เป็นเพื่อนแทน
    ธุรกิจสำหรับคนโสดในประเทศไทยยังมีโอกาสในการเติบโตอีกมาก ข้อมูลจาก Euromonitor พบว่าอัตราค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนคนเดียวของไทยยังต่ำอยู่ (ประมาณ $10,000 ต่อครัวเรือนในปี 2019) เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอย่างจีน สิงค์โปร์ หรือ ญี่ปุ่น (ประมาณ $30,000 ต่อครัวเรือนในปี 2019) แต่คาดว่าจากปี 2019-2040 ครัวเรือนคนเดียวในไทยจะมีการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายด้านนี้ถึงเกือบ 150% เลย
    ในเชิงธุรกิจนั้นเศรษฐกิจคนโสดอาจจะนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ แต่ในเชิงมหภาค การเติบโตของกลุ่มคนโสดจะยิ่งเร่งและกระตุ้นการลดลงของจำนวนประชากรและนำไปสู่ประชากรสูงวัยที่จะเพิ่มขึ้นไปอีก ในอนาคตอาจจะเห็นนโยบายของรัฐบาลในบางประเทศที่นอกจากจะกระตุ้นให้มีลูกแล้ว ยังจะต้องกระตุ้นให้มีการแต่งงานก็เป็นได้