อุตสาหกรรมพัฒนาตัวเอง : คลื่นใต้น้ำที่เติบโตมหาศาล

อุตสาหกรรมพัฒนาตัวเอง : คลื่นใต้น้ำที่เติบโตมหาศาล

นับเป็นเวลาประมาณ 13 ปีแล้วที่ผมได้เริ่มอ่านและศึกษากับการพัฒนาตนเอง ผมได้เข้ามาศึกษาการพัฒนาตนเองทั้งการอ่านหนังสือ การฟังพอดแคสต์ การเข้าอบรมสัมมนาพัฒนาตนเอง รวมไปถึงการฝึกวิปัสสนากรรมฐาน

ผู้เขียน ทิวัตถ์ ชุติภัทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของ CSI Society
www.facebook.com/CsiSociety

 อุตสาหกรรมของการพัฒนาตนเองได้เติบโตต่อเนื่องในทุกๆ ปี ไม่ใช่แค่ที่เมืองไทยแต่ทั่วโลกเลย ซึ่งทุกวันนี้ได้เข้าไปถึงผู้บริโภคมากขึ้น สมัยก่อนถ้าเราจะฟังสัมมนาดีๆต้องรอให้ทางผู้จัดงานเปิดขายบัตรขึ้นมาก่อนเราถึงจะเข้าไปอบรมได้ ต้องเสียเวลาในการเดินทางไปที่อบรมอีกด้วย แต่ทุกวันนี้สามารถแค่ดูผ่านทาง YouTube หรือในแพลทฟอร์มการเรียนออนไลน์ที่พาคนประสบความสำเร็จมาเล่าให้เราฟังเลยว่าเขาประสบความสำเร็จได้อย่างไร ซึ่งสามารถดูได้จากที่พักของเราได้เลย ไม่ต้องฝ่ารถติดเพื่อเข้าไปร่วมสัมมนาแต่อย่างไร ก่อนที่เราจะมาดูว่าอุตสาหกรรมนี้เติบโตขนาดไหน เรามาดูที่มาที่ไปของอุตสาหกรรมนี้กันก่อน

นักเขียนคนแรกที่เขียนหนังสือพัฒนาตนเองขึ้นมามีนามว่า เดล คาร์เนกี้ (Dale Carnegie) เขาเกิดมาในครอบครัวเกษตรกรอันยากจนก่อนที่จะมาเป็นนักเขียนในภายหลัง หนังสือที่โด่งดังที่สุดของเขาคือ “How to Win Friends and Influence People” หรือภาษาไทยที่มีชื่อว่า “วิธีการชนะมิตรและจูงใจคน” ซึ่งเล่มนี้ถือว่าเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ขายดีที่สุดตลอดกาล ขายไปแล้วทั่วโลกกว่า 30 ล้านเล่ม ซึ่งเขาเขียนขึ้นมาในช่วงปี 2478 ซึ่งเป็นช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดในอเมริกาพอดี คนส่วนใหญ่ที่ย้ายมาจากชนบทต้องการหาที่พึ่งทางใจ หนังสือพัฒนาตนเองและหนังสือจิตวิทยาจึงเริ่มโด่งดังมากยิ่งขึ้น 

ช่วงเดียวกันนั้นมีสำนวนที่ใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้คือ “The American Dream” ที่อยู่ในหนังสือที่มีชื่อว่า Epic of America เขียนโดย James Trustlow Adams ซึ่งพูดว่าทุกคนสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้ด้วยตัวของเราเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น ทำให้คนอเมริกันส่วนใหญ่เริ่มพัฒนาตนเองกันมากขึ้น จนกลายเป็นอุตสาหกรรมอย่างทุกวันนี้

ทุกวันนี้เราสามารถเจอสินค้าพัฒนาตนเองได้ในหลากหลายรูปแบบตั้งแต่ หนังสือพัฒนาตนเอง ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นหมวดหมู่หนังสือที่ขายดีที่สุดในร้านหนังสือไปเรียบร้อยแล้ว อาหารเสริม ซึ่งช่วยทำให้เราหลับได้ดีขึ้น สามารถให้เราโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามากขึ้น คอร์สอบรมต่างๆ ซึ่งมีราคาตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักแสน ไลฟ์โค้ชและที่ปรึกษาส่วนตัวซึ่งมีตั้งแต่เรท 30 นาที 5,000 บาท ไปจนถึง 30 นาที 70,000 บาทกันเลยทีเดียว สมุดจด Journal ต่างๆ หรือ สมุดจด Bullet Journal ซึ่งทุกวันนี้สามารถเพิ่มมูลค่าของสมุดจากเล่มละ 100 ไปจนถึงเล่มละ 3,000 บาท 

หรือแม้กระทั่งแอพพลิเคชั่นบนมือถือ ที่มีสามารถช่วยเราได้สารพัดทั้ง แอพหนังสือเสียง แอพสรุปหนังสือ แอพที่ช่วยในเรื่องสุขภาพ ซึ่งมีตั้งแต่ แอพที่คอยตรวจสอบว่าเราดื่มน้ำครบ 8 แก้วในวันนี้หรือยัง แอพที่คอยดูว่าเมื่อคืนนี้เราหลับลึกแค่ไหน

แต่แอพพลิเคชั่นพัฒนาตนเองที่มีมูลค่ามากที่สุดโลก เป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับการช่วยนั่งสมาธิที่มีชื่อว่า Calm ที่เมื่อปี 2562 มีรายได้ในบริษัทสูงถึง 5,050 ล้านบาทหรือพอๆกับบริษัทระดับมหาชนต้นๆของเมืองไทย

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับแอพนี้คือ แอพนี้มีสมาชิกมากกว่า 4 ล้านคนในปี 2562 และพึ่งได้ประเมินมูลค่าสูงเกินพันล้านเหรียญ ถือได้ว่าเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นไปเรียบร้อย

เฉพาะในสหรัฐอเมริกาอุตสาหกรรมนี้มีมูลค่าถึง 11.6 พันล้านดอลลาร์ในปี 2562 ก่อนที่จะหดตัวลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ลงมาที่ 1,050 ล้านดอลลาร์ในปี 2563 ตามรายงานของ Marketdata แต่คาดการณ์ว่าจะเติบโตกลับมา 7.7% เป็น 11.3 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ 

เขาคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมนี้จะเติบโตเฉลี่ยถึงปีละ 6% ไปจนถึงปี 2568 โดยลูกค้าส่วนใหญ่ของตลาดนี้จะเป็นผู้หญิงวัยประมาณ 40-50 ปีที่คอยมองหาอาหารเสริมที่จะช่วยชะลอวัย และช่วยลดความอ้วน ไปจนถึงแอพที่จะช่วยทำให้มีสมาธิมากยิ่งขึ้น มีตัวเลขหนึ่งบ่งชี้ว่า การลดน้ำหนักคือเป้าหมายใหญ่ของชาวอเมริกันประมาณ 97 ล้านคน อีกกลุ่มหนึ่งที่เริ่มจะเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ของอุตสาหกรรมนี้คงหนีไม่พ้นเด็กๆรุ่นใหม่ มีการวิจัยบ่งชี้ว่า คนรุ่น Gen Y ยอมเสียเงินประมาณ 300 ดอลลาร์ หรือ ประมาณ 10,000 บาทต่อเดือนในการพัฒนาตนเอง

เหตุผลที่อุตสาหกรรมนี้เติบโตต่อเนื่องขนาดนี้เป็นเพราะเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ คนรุ่น Gen Y และ Gen Z ต่างเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เข้าถึงโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook กันได้ทุกคน สามารถรับรู้ข่าวสารได้ฉับไวและทั่วถึง ถึงแม้ว่าคนรุ่นใหม่สมัยนี้จะสามารถเข้าถึงโซเชียลมีเดียกันได้ทุกคน แต่ก็มีผลเสียให้เห็นเหมือนกัน เนื่องจากในโลกทุกวันนี้การที่เราจะเห็นคนประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย มีลิสต์ของ Forbes ที่มีชื่อว่า 30 under 30 หรือวัยรุ่นที่น่าจับตามองที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี  

หรือแม้กระทั่งเพื่อนๆของเราในเฟซบุ๊คที่คอยลงรูปสวยๆ ในสถานที่ๆน้อยคนจะได้ไปเพราะต้องใช้เงินมากเป็นพิเศษ ทำให้เด็กรุ่นใหม่นี้มีความกดดันตัวเองเพื่อประสบความสำเร็จมากกว่ารุ่นก่อนๆ จึงทำให้อุตสาหกรรมพัฒนาตนเองเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

สำหรับตัวของผู้เขียนเองที่เป็นคนรุ่นใหม่คนหนึ่งในอายุประมาณ 20 ปลายๆ แน่นอนผมเคยเปรียบเทียบกับคนในโซเชียลมีเดีย และอยากมีชื่ออยู่ในลิสต์ของ Forbes ความฝันหรือแรงบันดาลใจเหล่านี้ไม่ผิด แต่การกดดันตัวเองมากจนเกินไป อาจจะมีผลกระทบร้ายแรงต่อคนรอบข้างและสุขภาพจิตของเราได้ ซึ่งต้องคอยตรวจสอบตัวเองอยู่เรื่อยๆว่าเรากดดันตัวเองเกินไปไหม 

อีกปัญหาหนึ่งที่ผมเจอคือ ตอนที่ผมอ่านหนังสือพัฒนาตนเองเยอะๆ เราชอบหาวิธีการในหลายๆแบบ แทนที่จะลงมือทำวิธีการที่เราวางแผนจริงๆ พอเป็นแบบนี้สุดท้ายเวลาผ่านไป เราก็ไม่ได้ทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าสักที เพราะกลัวว่าวิธีการหลายๆ แบบของเราอาจจะยังไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด ผมจึงมองว่าบางทีหนังสือพัฒนาตนเองอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด แต่การดำเนินชีวิตจริงๆอาจจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดครับ.